สัมมนาหอการค้าร้อน “จุรินทร์”ลั่นนำทัพเอกชนลุย 4 เรื่องใหญ่ปี 65

20 พ.ย. 2564 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2564 | 22:42 น.

“จุรินทร์”ประกาศบนเวทีสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ลั่นพร้อมเดินหน้าต่อเนื่อง 4 เรื่องใหญ่ในปี 65 ทั้งประกันรายได้ 5 พืช ดันส่งออกตลาดเก่า-เพิ่มตลาดใหม่ เร่งรัดเปิดด่านเพิ่มช่องทางค้าชายแดนช่วยคนตัวเล็ก ดูแลราคาสินค้าสกัดเงินเฟ้อพุ่ง ลุ้นส่งออกปีนี้โต 15-16%

 

ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 39 (20 พ.ย.64) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวในการปาฐกถา พิเศษ เรื่อง “CONNECT ธุรกิจไทย พาณิชย์ยุคใหม่ เชื่อมไทย เชื่อมโลก” ใจความสำคัญส่วนหนึ่งได้พูดถึงเรื่องสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ และจะเดินหน้าต่อในปี 2565ใน 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การประกันรายได้ 5 พืชเศรษฐกิจในปีที่ 3 (ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) จากที่ผ่านมาโครงการสามารถช่วยเกษตรกรได้กว่า 8 ล้านครัวเรือน

 

สัมมนาหอการค้าร้อน “จุรินทร์”ลั่นนำทัพเอกชนลุย 4 เรื่องใหญ่ปี 65

 

ทั้งนี้ 5 พืชถือเป็นฐานวัตถุดิบหรือต้นน้ำที่สำคัญที่ใช้ในการผลิต หรือแปรรูปส่งออก เชื่อมสินค้าเกษตรไทยกับโลก และทำรายได้เข้าประเทศ ทั้งนี้การประกันรายได้ไม่ได้ทำให้เกษตรกรอ่อนแอ แต่เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีหลักประกันในการผลิตว่าเมื่อยามใดที่ราคาพืชผลตกต่ำจากปัจจัยภายในหรือภายนอกประเทศเกษตรกรก็ยังสามารถเดินหน้าผลิตพืชผลได้อย่างต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างข้าวเปลือกเจ้าประกันรายได้ไว้ที่ตันละ 1 หมื่นบาท(ความชื้นไม่เกิน 15%) หากราคาตลาดขายได้ 8,000 บาท ก็จะได้รับการชดเชยส่วนต่างจากรัฐบาลอีก 2,000 บาท เป็นต้น และโครงการประกันรายได้ก็ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงตลาด เพราะผู้ส่งออกยังสามารถซื้อข้าวได้ในราคาตลาดตามปกติ ไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาดโลกแต่อย่างใด  

 

“ไม่มีประเทศใดที่ไม่ดูแลเกษตรกร เห็นได้จากหลายประเทศที่เป็นสมาชิก WTO ก็มีการอุดหนุนเกษตรกรเป็นจำนวนมาก”

 

สัมมนาหอการค้าร้อน “จุรินทร์”ลั่นนำทัพเอกชนลุย 4 เรื่องใหญ่ปี 65

 

เรื่องที่ 2 การเร่งรัดการส่งออก ซึ่งหัวใจสำคัญคือทางกระทรวงได้จับมือกับภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออกร่วมกัน รวมถึงให้เอกชนซึ่งถือเป็นกองหน้าในบุกเข้าทำประตู คือการเจาะตลาด ขณะที่ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนหรือเป็นกองหลังส่งลูกให้เอกชนยิงประตู เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ประสานความร่วมมือกันเป็นอย่างดี เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 15.5% (มีมูลค่ารูปเงินบาท 6.2 ล้านล้านบาท)จากเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้เมื่อต้นปีจะขยายตัวได้ที่ 4% ถือว่าสูงกว่าเป้าหมายถึง 4 เท่า

 

“ตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคมจะออกใน 2-3 วันนี้ คาดจะบวกไม่น้อยกว่า 15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และทั้งปีนี้คาดจะได้เห็นการส่งออกไทยขยายตัวได้ในตัวเลข 2 หลัก ซึ่งอาจจะไปถึง 15-16%  โดยช่วง 9 เดือนแรก ในสินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีเกือบทุกตัว เช่น ยางพารา +72%  มันสำปะหลัง +41.7% ผลไม้ +52% อาหารสัตว์เลี้ยง +22.6%  เป็นต้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ +42.3% ส่วนหนึ่งจากเราสามารถเจรจาแก้ไขปัญหาการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามได้สำเร็จ คอมพิวเตอร์ +18.6% เป็นต้น”

 

ที่สำคัญได้มีส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย ลาตินอเมริกา และอื่น ๆ รวมถึงการรักษาการส่งออกไปยังตลาดเดิม หรือตลาดเก่า ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น ตลาดข้าวอิรักที่เคยเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญของข้าวไทยที่ไม่นำเข้าข้าวจากไทยมาหลายปีแล้ว จากมีผู้ส่งออกรายหนึ่งส่งข้าวเสื่อมคุณภาพ และไม่ตรงสเปกให้กับลูกค้า และวันนี้ก็ยังไม่ซื้อข้าวจากไทยอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้ผู้ส่งออกข้าวภาคเอกชนช่วยเจาะตลาด และวันนี้ก็ได้ออเดอร์ข้าวจากอิรักแล้ว

 

เรื่องที่ 3 การค้าชายแดน ที่ต้องเร่งรัดการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติมต่อ เพราะหัวใจสำคัญของการค้าชายแดนเป็นการช่วยคนตัวเล็ก เช่น เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี เกษตรกร และโอท็อป ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของแต่ละจังหวัดในการส่งออกและค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันด่านการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้เร่งรัดการเปิดด่านหลังสถานการณ์โควิดแล้ว 46 ด่าน จาก 97 ด่านทั่วประเทศ ขณะที่มูลค่าการค้าชายแดนช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่ารวม 7.79 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

สัมมนาหอการค้าร้อน “จุรินทร์”ลั่นนำทัพเอกชนลุย 4 เรื่องใหญ่ปี 65

 

และเรื่องที่ 4 การควบคุมดูแลราคาสินค้า ล่าสุดจากที่ได้สอบถามข้อมูลจากผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)ช่วง 10 เดือนแรกปีนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ +.99% (ตัวเลขกลม ๆ ที่ 1%) ยังถืออยู่ในวิสัยที่ปกติ และถือว่ามีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับรายได้และรายจ่ายของประชาชน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ทั้งปีนี้คาดอัตราเงินเฟ้อจะอยูที่ +0.8-1.2% ถือว่าอยุ่ในวิสัยปกติและมีเสถียรภาพ และในปี 2565 คาดอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.7-1.2% ใกล้เคียงกับปีนี้

 

“ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อยังไม่ถึงกับน่าตกใจว่าจะสูงขึ้นไปอีกหรือไม่ แต่แน่นอนว่าเงินเฟ้อจะกระทบราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งต้องดูหน้างาน หรือในรายละเอียดรายสินค้าว่าจะให้ปรับขึ้นหรือไม่ โดยการตัดสินใจจะอยู่บนพื้นฐานที่มีสมดุลยภาพ และมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”นายจุรินทร์ กล่าว