ค้านการนำผ่านน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย ไปยัง สปป.ลาว

17 พ.ย. 2564 | 20:09 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2564 | 03:15 น.
1.2 k

สภาเกษตรกรแห่งชาติ จังหวัดกระบี่ ค้านการนำผ่านน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผวาสวมสิทธิ์ สวมรอย ลักลอบนำเข้า ทุบราคาปาล์มในประเทศ ยันไม่ได้กีดกัน แนะให้ใช้การขนส่ง 3 ทางเรือ “แหลมฉบัง คลองเตย มาบตาพุด คล่องตัวกว่า

สืบเนื่องจากกรณีที่ ทางการสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้มีการแจ้งขอนำผ่านด่านน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียไปยัง สปป.ลาว โดยผ่านด้านศุลกากรสะเดาและสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 ซึ่งเป็นการขนส่งทางบกโดยรถบรรทุกตลอดระยะทาง 1,612 กิโลเมตร ใช้เวลา 22 ชั่วโมง ในการเพินทางผ่านพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมหลายจังหวัดนั้น

 

ยืนหนังสือ

 

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มนํ้ามันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการใน กนป. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี (15 พ.ย.64) ขอคัดค้านการนำผ่านน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยการผ่านด่านศุลกากรสะเดา และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1  ซึ่ง สำนักงานสภาเกษตรกร จังหวัดกระบี่ ขอคัดค้านและมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

 

1.การนำเข้าผ่านแดนโดยการขนส่งทางบก ซึ่งยากต่อการควบคุม ติดตาม กำกับดูแล ให้เกิดความเรียบร้อยเป็นไปตามจ้อตกลง เป็นเหตุให้เกิดการสวมสิทธิ์ สวมรอย ลักลอบน้ำเข้ามาโดยไม่ถูกต้องผิดประเภท และไม่ได้ส่งออกไปจริง ทำให้มีปัญหากับตลาดและปริมาณน้ำมันปาล์มภายในประเทศ

 

2.ประเทศไทยไม่ได้กีดกันการนำเข้าผ่านแดนน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียไปยังประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด เพียงแต่มีการปรับเงื่อนไขการนำเข้าให้ใช้ในการขนส่งทางเรือ ให้ใช้ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุดและใช้ในการขนส่งทางบกต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าตามด่านที่กำหนด เพื่อเป็นการง่ายต่อการควบคุมกำกับดูแล และคล่องตัวในการขนส่ง มีระยะทางขนส่งที่ใกล้กว่า ใช้ในการขนส่งทางบกเพียง 625 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 8 ชั่วโมง มีผลต่อการลดระยะทางและต้นทุนการขนส่งอย่างเห็นได้ชัด

 

3.การกำหนดเงื่อนไขการขนส่งสินค้าเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรในประเทศ เป็นวิธีปฎิบัติที่ทุกประเทศนำมาใช้กันอย่างปกติอยู่แล้ว เช่น  ประเทศไทยต้องการส่งขายข้าวสังข์หยด จากภาคใต้ไปยังประเทศมาเลเซีย ต้องส่งจากท่าเรือมาบตาพุด ระยอง ไม่สามารถขนส่งผ่านทางบกไปยังประเทศมาเลเซียโดยตรงได้

 

ประเทศอินโดนีเซีย มีการกำหนดจุดนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ ให้นำเข้าได้เพียง 4 แห่ง คือ สนามบินกรุงจาการ์ตา ท่าเรือเมดาน ท่าเรือเมืองสุรามายา และท่าเรือเมืองมากัสซาร์ ซึ่งทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายค่าขนส่งเพิ่มขึ้นในการนำสินค้าจากจุดนำเข้านั้นๆ มายังจาการ์ตา ซึ่งเป็นจุดจำหน่ายและกระจายสินค้าที่สำคัญของอินโดนีเซีย

 

ทั้งนี้รัฐบาลไทยควรเจรจาการคำกับ สปป.ลาว เพื่อเสนอขายน้ำมันปาล์มของประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้น้ำมันปาล์มของประเทศไทย ผลิตได้เกินความต้องการใช้ในประเทศ มีราคาใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์มในตลาดสากล และสินค้าไทยมีคุณภาพ มีแบรนด์ มีภาพลักษณ์ทางการค้าที่ได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

“ง่ายในการทำตลาด รัฐบาลไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเจรจาทำการค้าและอำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าต่อกัน แต่ว่ารัฐบาลจะต้องอำนวจความสะดวกในการนำเข้า ถ่ายลำ ผ่านแดนในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการตอบสนองทางการค้าต่อกันอยข่างมิตรประเทศ บ้านพี่เมืองน้อง รัฐบาลต้องดูแลให้มีระบบการขนส่งที่ดี พิธีกรรมทางศุลกากรที่รวดเร็ว ฉับไว ให้เกิดความคล่องตัวทางการค้า จะทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว และเพิ่มปริมาณการค้าต่อกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านด้วยกันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น”

อีกด้านหนึ่งจะส่งผลกระทบทางรายได้ต่อพี่น้องชาวสวนปาล์มทั้งประเทศ เกษตรกรผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาด โดยเฉลี่ยวันละ 5 หมื่นตัน ถ้ามีการทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาปาล์มทะลายเพียง กิโลกรัมละ 1 บาท ก็จะเกิดผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร วันละ 50 ล้านบาท เดือนละ 1,500 ล้านบาท

 

นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า สุดท้ายนี้ เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาล ที่ได้คูแลจัดการปาล์มน้ำมัน โดยการปรับสมดุลการใช้น้ำมันปาล์มไปผลิตไฟฟ้า และมีการเพิ่มการใช้ไบโอดีเซล ทำให้ปริมาณการเก็บสต๊อกน้ำมันปาล์มลดลง ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีราคาสูงขึ้นเทียบเท่ากับราคาในตลาดสากล ซึ่งมีราคาสูงมากในขณะนี้

 

เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน เพิ่งจะได้รับราคาปาล์มทะลายที่ดีขึ้นในปี 2564 นี้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เป็นสถานการณ์ชั่วขณะ เกษตรกรมีข้อกังวลต่อกระแสการโจมตีไบ โอดีเซล โดยขาดดุลยพินิจของข้อมูลที่แท้จริงของกลุ่มสหพันธ์ขนส่งสิบล้อและสื่อมวลชน ที่ออกมาสร้างความเข้าใจผิด โจมตีชาวสวนปาล์มต่อประชาชนทั้งประเทศ

 

เกษตรกรต้องพบกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแพงเช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังมีปัญหาปัจจัยการผลิต ปุ๋ยราคาแพงเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว เกษตรกรมีความหวัง และรอคอย พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ,โครงสร้างราคาปาล์มทะลาย ที่จะเข้ามาสร้างระบบ และความเป็นธรรมปาล์มน้ำมันให้เกิดขึ้น เพราะมีความกังวลต่อโครงสร้างราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่มีผลต่อโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง จึงมีดวามสนใจต่อการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของน้ำมันปาล์ม

 

อย่างไรก็ดีขอให้รัฐบาลดำเนินการนโยบายต่างๆ และมีมาตรการต่างที่สำคัญต่อปาล์มน้ำมัน เพื่อให้ปาลัมน้ำมันเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญของชาติอย่างมีเสถียรภาพมีความยั่งยืนต่อไปและตลอดไป