“เศรษฐกิจปี65” สภาพัฒน์วิเคราะห์ 5 ปัจจัยผลักดันจีดีพีโต 3.5-4.5%

15 พ.ย. 2564 | 16:35 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2564 | 00:05 น.
1.0 k

สภาพัฒน์วิเคราะห์ 5 ปัจจัยผลักดัน เศรษฐกิจปี65 ขยายตัว 3.5 – 4.5% จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของภาคท่องเที่ยว การส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และฐานที่ต่ำ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY)

 

เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2564 ลดลงจากไตรมาสที่สองของปี 2564 ร้อยละ 1.1 รวม 9 เดือนแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.3

เศรษฐกิจไตรมาสที่3ปี 2564

เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.5 ต่อ GDP เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 4.0 ต่อ GDP ในปี 2563

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565 เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 5  ปัจจัย ดังนี้

  1. การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงและความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน
  2. การฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายใต้นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ
  3. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า
  4. การขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
  5. ฐานการขยายตัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ประมาณการเศรษฐกิจปี2564-2565

ทั้งนี้ สศช.คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 จะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 0.9 – 1.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ของ GDP

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในปี 2564 ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงและสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องตามมาตรการการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพิ่มเติม

 

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในปี 2564 โดยเป็นผลจากการลดลงของกรอบรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 แต่ยังมีแรงสนับสนุนให้การใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัวได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณจากพระราชกำหนดเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท

 

การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับร้อยละ 4.4 ในปี 2564 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 4.2 เทียบกับร้อยละ 4.3 ในปี 2564 สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกตามการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก

 

การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อเนื่องจากร้อยละ 4.8 ในปี 2564  สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 624,340 ล้านบาท และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2565 วงเงิน 468,833 ล้านบาท (รวมรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน)

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับร้อยละ 16.8 ในปี 2564 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และราคาสินค้าส่งออกจะเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.0 – 1.0

การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการดำเนินมาตรการเปิดประเทศและการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นทางนักท่องเที่ยว โดยในกรณีฐานคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท เทียบกับ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 238.0 ส่งผลให้โดยรวมคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เทียบกับร้อยละ 10.0 ในปี 2564

ตารางวิเคราะห์เศรษฐกิจปี2564-2565

สศช.ยังได้เสนอแนะการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ

1.การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด ด้วยการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค  การเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง  การควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และการเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค

 

2.การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดย  การเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ

 

นอกจากนี้ต้องพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติมสำหรับภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และประชาสัมพันธ์มาตรการของภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

 

3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการติดตามและประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า

 

รวมทั้งการดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน และการดูแลเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

 

4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา

 

รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต

 

5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการควบคุมการระบาดของโรคภายในประเทศ เร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง แก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต

 

ขณะเดียวกันจะต้องดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้นโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

 

6.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

 

7.การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทย