“ประกันรายได้ข้าว” ปี 3 สะดุดทางวิบาก รัฐบาลหาเงินจ่ายชาวนา

10 พ.ย. 2564 | 10:26 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2564 | 20:22 น.
6.6 k

โควิดพ่นพิษลาม “ประกันรายได้ข้าว” ปี 3 ป่วนเส้นทางวิบาก รัฐบาลหาเงิน ธ.ก.ส. จ่ายชาวนา สะดุด ตั้งแต่งวด 3 เป็นต้นไป ยังไม่มีกำหนดการจ่ายเงิน 2 นายก สมาคมโรงสีข้าวไทย “รังสรรค์” เอาใจช่วย “เกรียงศักดิ์” ยันชาวนาไม่ต้องกลัว ได้แน่ แต่ช้าหน่อย เป็นนโยบายรัฐบาล

ความคืบหน้า "โครงการประกันรายได้ข้าว" เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี  ว่า สำหรับค่าชดเชยโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว หรือ "ประกันรายได้ข้าว" พร้อมมาตรการคู่ขนาน ครม.ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วครั้งก่อนวงเงิน 18,000 ล้านบาท (มาตรการคู่ขนานประมาณ 5,000 ล้านบาท และเงินส่วนต่างประมาณ 13,000 ล้านบาท)

 

สำหรับเงินส่วนต่างเริ่มจ่ายงวดที่ 1 วันที่ 9 พฤศจิกายน และจะจ่าย "โครงการประกันรายได้ข้าว" ต่อเนื่องในงวดที่ 2 ต่อไป จะจ่าย (วันนี้) วันที่ 10 พฤศจิกายนนี้  ส่วนที่เหลือทั้งหมดจาก 33 งวดเหลืออีก 31 งวด ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการในภาพรวมแล้ว

 

รังสรรค์ สบายเมือง

 

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ถึงการจ่ายเงินใน "โครงการประกันรายได้ข้าว" ตอนนี้เงินที่ใช้จ่ายเงิน งวด1 และงวด 2 จ่ายส่วนต่างราคาข้าว ที่ชดเชยให้กับชาวนา 1.3 หมื่นล้านบาท เกลี้ยงแล้ว ส่วนในเรื่องมาตรการคู่ขนานประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมกรอบวงเงินที่เห็นชอบผ่านมติ ครม. 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในรอบนี้ "โครงการประกันรายได้ข้าว" ต้องยอมรับว่าใช้เงินจำนวนมาก

 

"หากเทียบระหว่าง "โครงการจำนำข้าว" กับ "ประกันรายได้ข้าว"  ในความคิดเห็นส่วนตัวก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้ง 2 โครงการ  แต่ถ้าประโยชน์ไปตกอยู่กับเกษตรกร และไปบรรเทาความเดือดร้อนได้จริงๆ ในส่วนตัวคิดว่าเป็นโครงการอะไรก็ได้ ให้เกษตรกรอยู่ได้ เพราะถ้าเกษตรกรอยู่ได้ โรงสีก็มีข้าวสีแปร แต่ถ้าเกษตรกรเลิกทำนากันหมด ก็ยอมรับเลยว่า “โรงสี” ก็แย่" 

นายรังสรรค์  ว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ รัฐบาลอาจจะต้องหาเงินเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาใช้เงินเกี่ยวกับโควิดจำนวนมาก ยังมีงบประมาณที่ยังไม่เปิดเผยก็คงมีอีกมาก ถึงทำให้ "โครงการประกันรายได้ข้าว" ในรอบนี้อาจจะติดๆ ขัดๆ ต้องรอดูภาคต่อไป ขอให้ใจเย็นๆ เชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ คงอึดอัดและกลัวอยู่ ถ้าปล่อยไว้นานๆ 2-3 อาทิตย์ ก็จะเป็นเรื่องอีก เชื่อว่าเร่งอยู่ และ ครม.ก็ประชุมกันทุกวันอังคาร คาดว่าคงจะเร่งดำเนินการ เป็นภาระต่อเนื่องที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ตอนนี้เอาใจช่วยรัฐบาลขอให้พ้นผ่านวิกฤติดังกล่าวนี้ให้เร็วที่สุด

เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

 

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และอดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย  กล่าวว่า ในเรื่องนี้เป็นเรื่องกรอบวงเงิน วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดการใช้วงเงิน "โครงการประกันรายได้ข้าว" และโครงการคู่ขนาน ผ่านมติ นบข. และเข้าสู่ ครม. กรอบวงเงินทั้งหมดแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่เราใช้เงินในเรื่องของโควิดใช้งบประมาณมากโขอยู่

 

ซึ่งการกำหนดกรอบวงเงินทั้งหมดทีเดียว จะนำไปสู่ในเรื่องกรอบวงเงินวินัยการคลัง รัฐบาลจึงใช้จ่ายบริหารแบบรายงวด ซึ่งตรงนี้ถามว่าเกษตรกรจะได้เงินไหม ก็เชื่อว่าเกษตรกรจะได้เงิน ตามที่นโยบายประกาศ อาจจะเร็วหรือช้า ซึ่งการบริหารแบบนี้ก็อาจจะทำให้การจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. สะดุดได้ ไม่เป็นอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินชาวนาอยู่แล้ว เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล อย่างแน่นอน

 

แหล่งข่าววงการค้าข้าว กล่าวว่า "โครงการประกันรายได้ข้าว" ปี3 รัฐบาลมีปัญหาเรื่องวงเงิน จึงทำให้ต้องบริหารจ่ายเป็นงวดๆ ไปไม่สามารถออกมาได้เป็นก้อนเดียวได้แล้วเหมือน “ประกันรายได้ข้าว” ปี 1 หรือ ปี2 คล้ายกับ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตอนนี้ ซึ่งตอนนั้นคุณยิ่งลักษณ์ ก็อนุมัติกรอบไว้ แล้วมีปัญหาจ่ายเงินชาวนา ทำให้ติดค้างกับชาวนา ก็หวังว่าจะไม่เหมือนปลายสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ที่ไม่สามารถจ่ายเงินชาวนาได้ เพราะกรอบวงเงินก็เป็นปัญหาในการบริหารงานของรัฐบาล

 

"แต่เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายรัฐบาลออกไปแล้ว เรื่องนี้ผ่าน นบข.แล้ว จะต้องนำเข้าสู่ ครม. แต่ก็ติดปัญหาที่รองนายกฯ ชี้แจง ว่า ครม.ให้ไปหารือกับกระทรวงการคลัง เม็ดเงินที่จะใช้ ก็ยังติดกรอบเรื่องวินัยการเงิน การคลัง ทำให้บริหารโครงการประกันรายได้ปี 3 ต้องทยอยออกมาเป็นงวดๆ ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา อาจจะมีการสะดุดบ้าง แต่ก็คงไม่ซ้ำรอยในอดีต เพราะรัฐบาลมีปัญหาใช้เงินค่อนข้างมาก มีทั้งเรื่องเยียวยาโควิด สารพัดการใช้จ่ายเงิน ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารเงินของรัฐบาล”