“กทม” ชำแหละเบื้องลึก “คมนาคม” เตะถ่วงต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

25 ต.ค. 2564 | 19:54 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2564 | 03:03 น.
929

“กทม.” ซัด “คมนาคม” ขวางทางต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังมท.ถอนวาระออกจากครม. เชื่อเป็นเครื่องมือต่อรองแลกเดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ม่วงใต้

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึง กรณีที่กระทรวงมหาดไทยถอนวาระต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.)กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ออกจากที่ประชมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังกระทรวงคมนาคมได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม.ซึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส โดยระบุว่า ได้ทำความเห็นแย้งมาถึง 8 ครั้งแล้ว หากกระทรวงมหาดไทยและ กทม.จะเดินหน้าต่อสัญญาสัมปทานโครงการ ก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ตลอดจนหลักธรรมาภิบาล พร้อมยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมเพื่อร่วมหาข้อยุติร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและ กทม.ตามที่นายกฯ มอบหมายแล้ว และได้สอบถามขอข้อมูลรายละเอียดไปยัง กทม.หลายครั้ง แต่ กทม.ไม่จัดส่งรายละเอียดให้ ทำให้ไม่สามารถจะพิจารณาได้นั้น หากพิจารณาข้อท้วงติงของกระทรวงคมนาคมแล้ว เป็นข้อเสนอที่แตกต่างไปจากข้อท้วงติงเดิมที่กระทรวงคมนาคมเคยนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 จนทำให้เส้นทางการพิจารณาต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินคงค้างที่ กทม.มีอยู่กับผู้รับสัมปทานเอกชนไม่สามารถหาข้อยุติได้ 

 

 

ขณะเดียวกันที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้อ้าง ประเด็นในเรื่องความครบถ้วนในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 และการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ 65 บาทตลอดสาย โดยอ้างว่าเป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมเป็นธรรม พร้อมขอให้ กทม.และบีทีเอสแสดงต้นทุนที่มาที่ไปในการคำนวณอัตราค่าโดยสารดังกล่าว แต่ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้เพิ่มเติมข้อท้วงติงใหม่ขึ้นมาอีกหลายข้อ ประกอบด้วย 1.หาก กทม.จะขยายสัญญาสัมปทานในช่วงที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว กทม. ควรชำระหนี้สินให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เรียบร้อยก่อนจะเริ่มกระบวนการจัดหาผู้ให้บริการในโครงการฯ 

 

 

2.หาก กทม.ไม่มีความประสงค์จะให้บริการส่วนต่ีอขยายสายสีเขียวก็ควรเสนอ ครม.เพื่อทบทวนมติ ครม.เมื่อ 26 พ.ย.61 และมอบหมายให้ รฟม.ดำเนินการ(โอนโครงการกลับคืน รฟม.) 3. หากจะมีการต่อขยายสัญญาสัมปทาน บริษัทต้องแจ้งความประสงค์ไปยัง กทม.ในเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีและไม่มากกว่า 5 ปีก่อนวันสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากต้องให้หน่วยงานที่กำกับดูแลพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการร่วมทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีผู้บริโภค และต้องได้รับการอนุมัติจาก ครม.ก่อน

 

 

 

4.กรณี กทม. มีภาระหนี้จากการว่าจ้างเอกชนติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าและว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้ง 2ส่วน ที่ได้ทำเมื่อปี 2559 ควรมีการตรวจสอบสัญญาว่า มีความชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ จะส่งผลต่อมูลหนี้ดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต่อไป

“การถอนเรื่องออกไปจาก ครม.เพราะกระทรวงคมนาคมคัดค้าน มีการปรับเปลี่ยนข้อโต้แย้งและระบุข้อโต้แย้งใหม่ ซึ่งขัดขวางต่อการขยายสัมปทานนั้น ทุกฝ่ายต่างรู้กันอยู่เต็มอก เพราะต้องการนำโครงการนี้มาเป็นข้อต่อรองทางการเมือง เพื่อแลกกับการเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีม่วงใต้ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน(รฟม.)กำลังดำเนินการอยู่ และไม่ว่า กทม.จะชี้แจงอย่างไรก็เชื่อว่า หนทางโครงการดังกล่าวที่จะเข้า ครม.ก็คงถูกกระทรวงคมนาคมขวางอยู่ดี”  

 

 


รายงานข่าวจากกทม. กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาข้อโต้แย้งของกระทรวงคมนาคม ในกรณีการเจรจาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ครอบคลุมไปถึงโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ กทม.ยังไม่ได้เป็นเจ้าของ ควรจ่ายหนี้ค้างให้ รฟม.ให้เรียบร้อยก่อนนั้น ประเด็นดังกล่าวล้วนถูกบรรจุไว้ในข้อสัญญาการต่อขยายสัมปทานใหม่ที่ขจะมีขึ้นอยู่แปล้ว ที่บีทีเอสจะต้องชำระหนี้ค้างทั้งหมดแทน กทม. จึงไม่ใช่ประเด็นปัญหา
        

 

 

ทั้งนี้ในกรณีที่ที่ กทม.ไม่สามารถบริหารโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 สายได้เอง ควรโอนคืนให้กับรฟม.นั้น ปัญหาที่จะมีตามมาก็คือ จะทำให้เกิดปัญหาคอขวดและการเชื่อมต่อโครงข่าย เพราะหากสิ้นสุดสัมปทานสายหลักในปี 2572 และกทม.ต้องเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาเดินรถ ซึ่งผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักคือกลุ่ม บีทีเอสเดิม ในขณะที่ รฟม.นั้นว่าจ้างอีกกลุ่มเข้ามาเดินรถ ก็จะเกิดปัญหาในการเชื่อมต่อ เพราะเป็นคนละระบบ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและอาจทำให้อัตราค่าโดยสารสูง ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ 
 

 “กระทรวงคมนาคมคิดว่า รฟม.-กทม.มีศักยภาพที่จะบริหารได้เองหรืออย่างไร ขนาด รฟม.ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเจ้าของโครงข่ายรถไฟฟ้ารอบกทม.นับ 10 สาย ยังไม่สามารถบริหารโครงการได้เอง ต้องสัมปทานไปให้เอกชนบริหารทุกโครงการไม่ใช่หรือ แล้วตัวเองจะเอาโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวกลับไปทำไม หรือจะเอาไปบริหารเอง หรือเอาไปยกให้เอกชนอีกรายบริหารกันแน่” 

 

 


รายงานข่าวจากกทม. กล่าวต่อว่า  หากมีการต่อขยายสัญญาสัมปทาน บริษัทต้องแจ้งความประสงค์ไปยังกทม. ในเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีและไม่มากกว่า 5 ปีก่อนวันสิ้นสุดสัญญา โดยให้หน่วยงานที่กำกับพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการร่วมทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภคข้อเสนอดังกล่าวเท่ากับกระทรวงคมนาคมกำลังจะให้กรมขนส่งทางรางเข้ามากำกับดูแลโครงการและอาศัยเป็นเครื่องมือในการพิจารณาว่าจะให้ใครเป็นเจ้าของโครงการ และหากกรมขนส่งทางรางมีอำนาจขนาดนั้นจริง เหตุใด กรณีเปิดประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กำลังเปิดประมูลโดยรฟม.พยายามนำหลักเกณฑ์การคัดเลือกสุดพิสดารมาใช้ ทำไมกรมขนส่งทางรางจึงไม่สอดมือเข้าไปพิจารณาดูบ้างในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลรถไฟฟ้า  อีกทั้งควรมีการตรวจสอบสัญญาว่าจ้างการเดินรถระหว่าง กทม.และบีทีเอสตั้งแต่ต้นว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่นั้น ประเด็นการตรวจสอบนั้นทาง

 

 


“ กทม.ยืนยันว่าสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้มีการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรมมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว หากจะให้เหมาะสมควรตรวจสอบภาระหนี้ก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า 2 สาย ที่ รฟม.โยนมาให้ กทม.แบกรับแทนจะเหมาะสมมากกว่า เหตุใดจึงไม่เรียกร้องเอากับ กทม.ทั้งที่เป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่รัฐจะต้องลงทุนอยู่แล้ว”