ลากยาวต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวกทม.อ่วมแบกหนี้ทวีคูณ

22 ต.ค. 2564 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2564 | 16:57 น.
855

เปิดเบื้องลึกคมนาคมโดดขวางมหาดไทย ถอดวาระต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าครม. ชี้ยังไม่ดำเนินการเคลียร์ข้อคัดค้านเพียบ สัญญาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ กทม.เผยอนุมัติล่าช้ากระทบภาระหนี้ค้างชำระเดินรถไฟฟ้าพุ่ง ต้องปรับจำนวนเที่ยวเดินรถไฟฟ้าลดค่าใช้จ่าย

 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กรณีการถอดวาระการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจากกระทรวงมหาดไทยขาดรายละเอียดเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำความเห็นในกรณีที่กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาไม่เห็นด้วยกับผลการเจรจาและร่างสัญญาดังกล่าว รวมทั้งมีความเห็นเพิ่มเติมในหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกัน ที่เห็นควรให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนความเหมาะสมของผลการเจรจาและร่างสัญญาฯด้วยความละเอียดรอบคอบอีกครั้ง

 

ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลอัตราค่าจ้าง จำนวนกิโลเมตรทั้งหมด จำนวนขบวนความถี่ในการเดินรถไฟฟ้า รายงานการศึกษาเปรียบเทียบกรณีที่รัฐดำเนินการเองกับการให้เอกชนดำเนินการ รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานร่วมลงทุนไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานฉบับเดิม ที่บริษัทจะต้องแจ้งความประสงค์ไปยังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใน 3-5 ปี

ก่อนวันสิ้นสุดสัญญา และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการต้องจัดทำแนวทางการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนก่อนครบสัญญา 5 ปี เนื่องจากต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆที่ต้องนำมาพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการร่วมลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากการบริการและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

อีกทั้ง ไม่สอดคล้องกับการดำเนินการของกทม.ในครั้งนี้ ตลอดจนการตรวจสอบตามขั้นตอนกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกทม.ไม่ได้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดและความเหมาะสมของการรับโอนทรัพย์สิน และภาระทางการเงินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่จะโอนภาระหนี้ดังกล่าวให้เอกชนผู้รับสัมปทาน พร้อมทั้งนำภาระหนี้สินในส่วนโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นต้นทุนในการคิดอัตราค่าโดยสาร ทำให้กระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วยกับผลการเจรจาและร่างสัญญาของกทม.

 แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ขณะที่การต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทรวงมหาดไทยได้เสนอผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ เพื่อขอความเห็นชอบในการแก้ไขสัญญาสัมปทานทั้ง 3 ช่วง ประกอบด้วย 1.เส้นทางหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน รวมระยะทาง 23.5 กิโลเมตร 2.ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้าและช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง รวมระยะทาง 12.75 กิโลเมตร

3.ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะฯ (สมุทรปราการ) รวมระยะทาง 31.2 กิโลเมตร ให้เป็นสัญญาหลักฉบับเดียวกัน เพื่อให้โครงการทั้ง 3 ช่วงสามารถเดินรถได้แบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน และเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเดินทางแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเอกชนผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของหนี้เงินกู้ที่กทม.มีต่อกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาการร่วมลงทุน 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572- 4 ธันวาคม 2602 โดยใช้หลักเกณฑ์การปรับเพดานอัตราค่าโดยสารโดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI)

ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่กทม.จะได้รับจากการต่อสัญญาร่วมลงทุนในครั้งนี้ กทม.จะได้รับส่วนแบ่งในอัตรา 10% ของรายได้ค่าโดยสารของโครงการฯในช่วง 15 ปีแรก ได้รับส่วนแบ่ง 15% ในช่วง 10 ปีต่อมาได้รับส่วนแบ่ง 25% และในช่วง 5 ปี สุดท้ายตามลำดับ และจะได้รับส่วนแบ่งเมื่อเอกชนคู่สัญญามีผลตอบแทนการลงทุนจากงบการเงินเกิน 9.6% ต่อปี ขณะที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามที่กำหนดในสัญญาสัมปทานเดิมของโครงการฯ และสัญญาร่วมลงทุนของส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงปี 2573-2602 รวมทั้งจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาสัมปทานฉบับใหม่ เช่น รายได้ค่าโดยสารของโครงการ ยกเว้นส่วนที่ต้องแบ่งรายได้ค่าโดยสารให้กทม.และรายได้จากการดำเนินกิจการพาณิชย์

  ขณะที่กทม.ได้ชี้แจงว่า หากยังไม่สามารถนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของครม.ได้ จะส่งผลกระทบหลายเรื่อง เช่น ไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารของโครงการฯ ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตและช่วงแบริ่ง-เคหะฯ (สมุทรปราการ) ทำให้มีภาระหนี้ค้างชำระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันพบว่าภาระดอกเบี้ยสะสมของสัญญาเงินกู้ที่กทม.ทำไว้กับกระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น เนื่องจาก

กทม.ไม่สามารถนำส่วนแบ่งรายได้ตามที่ระบุไว้ในร่างสัญญามาชำระหนี้ดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้เชิงพาณิชย์ของโครงการฯ ตามที่กำหนดไว้ในร่างสัญญา เป็นต้น ทำให้บีทีเอสต้องเจรจากับกทม.เพื่อทวงถามภาระหนี้และแจ้งว่าอาจมีการปรับจำนวนเที่ยวการเดินรถไฟฟ้าเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัท ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

  หากกทม.กลับไปดำเนินการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนปี 2562 อาจส่งผลกระทบต่อภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะฯ (สมุทรปราการ) ที่ยังค้างชำระกับบีทีเอส จำนวนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากร่างสัญญาฯระบุว่า ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ทางบีทีเอสจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนเมื่อมีการลงนามในสัญญาแล้ว ประกอบกับสภากรุงเทพมหานครพิจารณาแล้วเห็นว่าหากการดำเนินโครงการฯไม่เป็นไปตามร่างสัญญาที่ระบุไว้ จะส่งผลให้กทม.ต้องรับ

ภาระหนี้และค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า จึงเห็นควรให้กทม.ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป

ลากยาวต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวกทม.อ่วมแบกหนี้ทวีคูณ