“ไทยสร้างไทย”จี้รัฐขยายมาตรการพักหนี้ชี้ลูกหนี้ยังย่ำแย่ไม่มีเงินจ่าย

17 ต.ค. 2564 | 15:52 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2564 | 22:59 น.

“ไทยสร้างไทย”ประเมินสถานการณ์ “ลูกหนี้” ในระบบยังย่ำแย่  ไม่มีเงินจ่ายหนี้ จี้ขยาย “มาตรการพักหนี้”เป็นการทั่วไปต่อไปอีก

วันนี้(17 ต.ค.64) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า  จากที่ทางภาครัฐได้มีการออกมาตรการพักชำระหนี้ โดยมีลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการดังกล่าวประมาณ 7 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้ SME ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้ ใกล้จะครบกำหนดแล้ว    แต่ ปัญหาความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจถดถอย   ได้แผ่ขยายเป็นวงกว้างและซึมลึกไปในทุกภาคส่วน ส่งผลกระทบต่อปัญหาการจ้างงานและรายได้ของประชาชน และส่งผลต่อหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากความผิดของประชาชนหรือผู้ประกอบการธุรกิจ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความผิดพลาดของการบริหารจัดการของภาครัฐ

                          “ไทยสร้างไทย”จี้รัฐขยายมาตรการพักหนี้ชี้ลูกหนี้ยังย่ำแย่ไม่มีเงินจ่าย

 

 

พรรคไทยสร้างไทย ขอเรียกร้องให้พิจารณาขยายมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปต่อไปอีกสักระยะ เช่น 6 เดือน ถึง 12 เดือน ก่อนที่หนี้ในระบบจะกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ หนี้เสีย (NPL)เพราะหากภาครัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้จำนวนมาก ก็อาจเข้าสู่ภาวะจำใจต้อง “ทิ้งหนี้” และในที่สุดต้องถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์บังคับหลักประกันขายทอดตลาด ส่งผลต่อต้นทุนในการจัดการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และทำให้เกิดปัญหาการกดราคาทรัพย์สิน

 

พรรคไทยสร้างไทย จึงขอเสนอให้มีมาตรการรองรับในเรื่องดังกล่าวต่อไปนี้ดังนี้

 

1. ขอให้นำระยะเวลาที่ได้รับการพิจารณาพักการชำระหนี้มาบวกกับระยะเวลาการผ่อนที่เหลือด้วย เช่น ลูกหนี้เข้าโครงการพักชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือน หากตามสัญญาเดิมที่ลูกหนี้ทำกับสถาบันการเงิน เหลือระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้อยู่อีก 20 เดือน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันแล้ว ก็ขอให้นำระยะเวลาที่ผ่อนผันมารวมด้วย เป็น 26 เดือน เนื่องจากลูกหนี้เองก็มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องแบกรับในช่วงระยะเวลาที่ผ่อนผันมาโดยตลอด

 

2. ขอให้นำยอดดอกเบี้ยคงค้างที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผ่อนผัน ยกยอดทั้งหมดไปชำระในงวดท้ายๆ หลังจากที่ได้ชำระเงินต้นหมดแล้ว

 

3. ขอให้คำนวณยอดเงินที่ต้องชำระต่อเดือน เท่ากับยอดชะระตามปกติของลูกหนี้ เช่น เคยชำระเดือนละ 100,000 บาท มาโดยตลอด หลังจากพ้นกำหนดการผ่อนผัน ก็ขอให้คงยอดที่ต้องชำระไว้ตามเดิม เพื่อไม่ให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้เกินสมควร