จับตา“น้ำท่วม-น้ำมันแพง-บาทอ่อน” ถ่วงเศรษฐกิจไทยรับเปิดประเทศ

17 ต.ค. 2564 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2564 | 22:04 น.

บิ๊กสภาอุตฯ ชี้ปัจจัยเสี่ยงรับเปิดประเทศมีอื้อ ทั้งน้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจ 1.5 หมื่นล้าน น้ำมันแพงดันราคาสินค้าในประเทศและนำเข้าจ่อพุ่งยกแผง เงินเฟ้อสูง บาทอ่อนค่ากระทบนำเข้าสินค้าพลังงาน เครื่องจักรเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนการผลิต และการฟื้นฟู ศก. จี้รัฐดูแลให้เสถียร

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ประเทศยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศอยู่อีกหลายปัจจัย ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะเปิดประเทศ

 

โดยปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญคือคือ สถานการณ์น้ำท่วมขัง ในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ หากไม่มีพายุลูกต่อ ๆ ไปที่ทำให้เกิดน้ำท่วม คือลูกที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในตอนนี้ น้ำก็เริ่มลดลงในบางจังหวัดแล้ว ถ้าไม่มีพายุมาเพิ่ม คาดการณ์ว่าภายในกลางเดือน ต.ค.น้ำก็เริ่มลด และจนถึงสิ้นเดือนนี้สถานการณ์ก็น่าจะคลี่คลาย อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมกับผลกระทบเศรษฐกิจประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.1% ของจีดีพีซึ่งก็ถือว่าไม่สูงมาก พอรับได้

 

จับตา“น้ำท่วม-น้ำมันแพง-บาทอ่อน” ถ่วงเศรษฐกิจไทยรับเปิดประเทศ

 

“แต่ถ้าเกิดมีพายุเข้ามาเต็ม ๆ อีกหลายลูกต่อเนื่องกัน เกิดน้ำสะสม และเกิดน้ำท่วมในจังหวัดหวัด นอกจากภาคเกษตรกรรมที่เสียหายแล้ว ภาคอุตสาหกรรมก็จะเสียหายด้วย เพราะส่วนหนึ่งต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในการแปรูป ก็ต้องลุ้นว่าถ้าพายุเข้ามาแล้วจะทำให้มีกำลังแรง และสร้างความเสียหายมากน้อยแค่ไหน แต่มองว่าไม่น่าห่วงมาก เพราะระดับน้ำหลายแห่งเริ่มลดลงมากแล้ว และคาดการณ์ว่าภายในกลางเดือนนี้ก็น่าจะเริ่มดีขึ้น”

 

อย่างไรก็ดีช่วงโควิดมีคนตกงาน และย้ายกลับภูมิลำเนาไปทำอาชีพภาคการเกษตร เพราะฉะนั้นจากภาคการเกษตรครั้งนี้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ถ้ายิ่งนานคนเหล่านี้ก็จะขาดรายได้ก็จะเป็นการซ้ำเติม

 

จับตา“น้ำท่วม-น้ำมันแพง-บาทอ่อน” ถ่วงเศรษฐกิจไทยรับเปิดประเทศ

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อมาคือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นแตะ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เกรงว่าอาจจะไปแตะ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และบางสำนักก็บอกว่าอาจจะถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในสิ้นปีนี้ ด้วยสถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานของไทย ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ภาคการขนส่งซึ่งจะทำให้ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้นหมด

 

นอกจากนี้ยังส่งผลให้สินค้าที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศราคาปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เครื่องจักร เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการจะนำเข้ามาเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและช่วยลดต้นทุนก็อาจจะชะลอตัวออกไป

 

นอกจากค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว อีกปัจจัยเสี่ยงคือ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วประมาณ 11% กว่าเมื่อเทียบกับต้นปี และเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่นในภูมิภาค ค่าเงินบาทไทยถือว่าอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก และเร็ว จากในปีที่แล้ว ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค

 

“แม้เงินบาทอ่อนค่าจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกเพราะราคาสินค้าจะถูกลง เพิ่มอำนาจในการเข่งขันหรือแต้มต่อให้สินค้าไทยมากขึ้น และสามารถชดเชยค่าระวางเรือที่ยังแพงอยู่ได้บ้าง รวมถึง เงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว ในทางกลับกันเวลานี้ค่าเงินบาทที่อ่อน สินค้าที่เราต้องนำเข้า โดยเฉพาะน้ำมันที่ราคาแพงขึ้นไป แล้วเจอค่าเงินบาทอ่อนอีกจะส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ประชาชนที่กำลังซื้ออ่อนแรงอยู่แล้วก็ยิ่งอ่อนแรงลงไป เพราะฉะนั้นการฟื้นฟูที่เราคาดหวังว่า พอโควิดดีขึ้นแล้วจะเริ่มฟื้นฟูเปิดประเทศก็จะไม่ได้ผลดีเท่าที่เราตั้งใจไว้”

 

จับตา“น้ำท่วม-น้ำมันแพง-บาทอ่อน” ถ่วงเศรษฐกิจไทยรับเปิดประเทศ

 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า อยากเรียกร้องผู้ที่เกี่ยวข้องที่ดูแลเรื่องค่าเงิน  ซึ่งอาจจะมีผู้แย้งว่า ก่อนหน้านี้เอกชนเรียกร้องว่าค่าเงินบาทแข็งค่าไป ขอให้ดูแลให้อ่อนถึงจะสู้เขาได้ แต่ตอนนี้ก็อ่อนแล้วทำไมต้องดูแล ต้องบอกว่าค่าเงินบาที่ผู้ส่งออกพูดตลอดเวลาว่าอยู่ที่ 32 บาท ถึง 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯก็ถือว่าแข่งขันได้ เพราะฉะนั้นการที่บาทอ่อนค่าที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ในเวลานี้ก็ช่วยผู้ส่งออกได้อีกหน่อย แต่ว่าสิ่งที่ได้เพิ่ม อาจจะไม่คุ้มค่ากับคนที่จะต้องนำเข้า โดยเฉพาะพลังงานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นซึ่งอาจจะกระทบต่อชีวิตและค่าครองชีพของประชาชนทุกคน  ซึ่งค่าครองชีพที่แพงขึ้นมีผลกระทบเพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีเงิน หรือกำลังซื้อยังต่ำจากผลกระทบโควิด-19 เพราะฉะนั้นก็จะกดดันต่อมีผลต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูประเทศ และเรื่องของเงินเฟ้อ

 

“บางคนอาจจะวิจารณ์ว่า เอกชนนี่เอาใจยากเดี๋ยวค่าเงินบาทแข็งก็มาโวยวาย พออ่อนแทนที่ภาคส่งออกชอบ เพราะจะส่งออกได้มากขึ้นก็ใช่ แต่การส่งออกในข้อเท็จจริงอยู่ในบริษัทใหญ่ไม่กี่บริษัท และส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทต่างชาติ ก็รวยกระจุก แต่คนที่เป็นชาวบ้านเป็นประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่ายค่าน้ำมัน ตอนนี้ลิตรละ 30 กว่าบาทแล้ว และก็เดี๋ยวค่าไฟก็ขึ้น ค่าครองชีพทุกอย่าง ค่าโลจิสติกส์ ค่าขนส่งขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการฟื้นฟูประเทศที่อยู่ในโหมดของการเปิดประเทศ จะเห็นว่าค่าเงินบาทที่อ่อนก็ส่งผลกระทบหลายเด้ง ซึ่งต้องกำกับดูแลให้มีเสถียรภาพ อย่าให้เกิดความผันผวนมาก”นายเกรียงไกร กล่าว