ป.ป.ช.-กมธ.เกษตรฯ เร่งสอบปมทุจริต “เครื่องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว”

16 ต.ค. 2564 | 15:58 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2564 | 23:17 น.
772

อธิบดีกรมการข้าว เปิดทาง ป.ป.ช. ไต่สวนปมทุจริตเครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว จัดซื้อจัดจ้างเอื้อเอกชน ด้าน กมธ.เกษตรฯ เตรียมลงพื้นตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โคราช 25 ต.ค.นี้

จากสถานการณ์การระบาดของ “โรคโควิด-19”  ได้สร้างปัญหาทางการเกษตรหลายด้าน ทั้งการผลิต การตลาด การขนส่ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง สวนทางราคาผลผลิตต่ำ รายได้ต่อครัวเรือนลดลง หนี้สินของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานจากการเลิกจ้างงาน ส่งผลให้ลูกหลานของเกษตรกรที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ต้องกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก และยึดเกษตรกรรมเป็นอาชีพใหม่

 

กรมการข้าว

 

 แหล่งข่าวจากกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 4.6 ล้านครัวเรือน (ข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกรมส่งเสริมการเกษตร)มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีและนาปรังรวมประมาณ 70 ล้านไร่ มีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวรวมทั้งสิ้น 1.37 ล้านตัน (อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ยรวม 19.63 กก.ต่อไร่) แบ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บไว้ใช้เองประมาณ 6.75 แสนตัน และเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการซื้อนอกเหนือจากเก็บไว้ใช้เองจำนวน 6.99 แสนตัน

 

ขณะที่ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ผลิตโดยภาคส่วนต่าง ๆ ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย  กรมการข้าว ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยาย 8.6 หมื่นตัน สหกรณ์การเกษตร ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย 3 หมื่นตัน ศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย  1.56 แสนตัน และเอกชนผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย 3 แสนตัน ซึ่งยังขาดเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่จำเป็นต้องใช้อีกจำนวน 1.27 แสนตัน

ทั้งนี้เกษตรกรที่ยังเข้าไม่ถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจำต้องใช้เมล็ดพันธุ์ด้อยคุณภาพ หรือใช้เมล็ดข้าวเปลือกที่เก็บไว้เพื่อบริโภค มาใช้เพาะปลูกแทน ทำให้ผลผลิตข้าวไม่ดีปริมาณผลผลิตต่ำ เกิดปัญหาข้าวแดง ข้าวมีวัชพืช ข้าวดีดข้าวเด้ง ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต ขายไม่ได้ราคาเป็นปัญหาของประเทศ จึงทำให้กรมการข้าวขอรับเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท  ได้รับจัดสรรวงเงิน 1,600 ล้านบาท มีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (ปี 2564-2567) มีเป้าหมายการผลิต 2 แสนตันในปี 2567 (กราฟิกประกอบ)

เป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุุ์

 

จากโครงการดังกล่าวทำให้กรมการข้าว ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากข้อร้องเรียนความไม่โปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้างเครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ถูกระบุว่าเอื้อเอกชน

 

ชาตรี บุญนาค

โดยนายชาตรี บุญนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ชี้แจงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่ ป.ป.ช. สอบถามมา และเพื่อให้กรมการข้าวสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้

 

“ในเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงการปรับปรุงเครื่องมือในการผลิตเมล็ดพันธุ์จะเร่งดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม และในวันที่ 19 ตุลาคมนี้จะมีการประชุมซูมออนไลน์ เพื่อกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงแผนการใช้งบประมาณปี 2565 รวมทั้งการขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้าง การอบรม เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จะใช้เงินที่รัฐบาลจัดสรรมาใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด และให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร”

 

จารึก กมลอินทร์

 

นายจารึก กมลอินทร์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดนครราชสีมา ผู้ร้องเรียนเรื่องเครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2563 จำนวน 600 ชุดไม่โปร่งใส กล่าวว่า นอกจากที่จะไปยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้ว ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา จะลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทางผู้เสียหายได้ชี้แจง เนื่องจากมีความผิดปกติหลายประการในการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อในทางทุจริต

 

 อาทิ บริษัทผู้รับจ้างได้ขอแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมในเอกสารแนบท้ายสัญญา ในส่วนที่เป็นตัวเครื่องใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีหลายจุดที่มีมาตรฐานต่ำกว่าสัญญาที่ทำไว้เดิม ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

 

อีกทั้งเครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้รับมอบ ไม่ได้มาตรฐานการทำความสะอาดให้ได้จำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าวต่อชั่วโมงต่อวันตามที่กำหนด ดังนั้นจึงอยากทำความจริงให้ปรากฏ 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,723 วันที่ 17 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564