“พายุเตี้ยนหมู่” ซัดพื้นที่เกษตรน้ำท่วมเสียหายยับ ร่วม 4 ล้านไร่

30 ก.ย. 2564 | 18:35 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2564 | 01:43 น.
786

“เฉลิมชัย” ลุยน้ำท่วม ปทุมธานี ยันไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี54 ระบุผลพายุ “เตี้ยนหมู่” ซัดพื้นที่เกษตรเสียหายยับร่วม 4 ล้านไร่ เร่งจ่ายชดเชย เยียวยาเกษตรกร ร่วม 3 แสนราย ได้รับผลกระทบ โดยเร็วที่สุด

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ ชุมชนวัดน้ำวน ตำบลบางเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยได้พบปะพูดคุยและมอบสิ่งของให้กับชุมชนนอกคันกั้นน้ำบริเวณชุมชนวัดน้ำวน และติดตามสถานการณ์น้ำ บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากบริเวณท่าเรือวัดน้ำวน จนถึงท่าเรือกรมชลประทาน สามเสน ว่า จากสภาพอากาศที่มีฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้มีน้ำท่าปริมาณมากจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจังหวัดปทุมธานี

 

 

มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มริมสองฝั่งแม่น้ำโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางจังหวัดในเขตอำเภอเมืองปทุมธานีและอำเภอสามโคก ทำให้พื้นที่ของจังหวัดปทุมธานีถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งตะวันตกของจังหวัดหรือบนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา กับฝั่งตะวันออกของจังหวัดหรือบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้มอบหมายกรมชลประทานให้บริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 64) มีปริมาณการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 2,800 ล้าน ลบ.ม./วินาที ซึ่งยังไม่เกินปริมาณที่กำหนด จึงสามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ขอให้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ จังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 0.55 ล้านไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.54 ล้านไร่ ซึ่งกรมชลประทาน มีแผนจัดสรรน้ำ 948 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ย. 64) จัดสรรไปแล้ว 734 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการเพาะปลูกข้าว 0.31 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.24 ล้านไร่ (77%) และเก็บเกี่ยวแล้ว 0.14 ล้านไร่

 

นอกจากนี้ ยังได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก ปี 2564 โดยมีการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงประสบภัยจากน้ำหลาก การบริหารจัดการ (แผนเผชิญเหตุ) โดยมีการควบคุมการระบายน้ำในคลองต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อม โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมประจำทุกปี จุดละ 1 เครื่อง จำนวน 16 จุด

 

“ขอยืนยันว่าจากสถานการณ์ในขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำได้ เนื่องจากมีการวางแผนการดำเนินงานไว้ล่วงหน้า อีกทั้งยังมีพื้นที่รับน้ำไว้เป็นแก้มลิง จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดสถานการณ์น้ำเหมือนปี 54 อย่างแน่นอน" ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ตรวจดูน้ำ

 

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เกษตรทั่วประเทศในขณะนี้ มีจังหวัดที่ได้รับได้รับผลกระทบแล้ว จำนวน 3,939,515 ไร่ ใน 36 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน แพร่ พะเยา พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน สุโขทัย อุทัยธานี นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา

 

เลย บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ปราจีนบุรี ระยอง ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ราชบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี โดยแบ่งเป็น ข้าว จำนวน 2,440,059 ไร่ พืชไร่และพืชผัก จำนวน 1,481,026 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ จำนวน 18,430 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 298,890 ราย

ทั้งนี้ มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร สุโขทัย ชัยภูมิ และจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำชับให้เร่งเจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

 

หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 เป็นการเร่งด่วนแล้ว สำหรับเงินช่วยเหลือที่เกษตรกรจะได้รับ คือ ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท

 

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากมาตราการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรมีโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู

 

ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยเน้นการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือพืชเศรษฐกิจ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ พร้อมเตรียมสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ให้เกษตรกรไว้ใช้ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรภายหลังน้ำลดอีกด้วย