ทีม ก. เกษตรฯ ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี ติดตาม ลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วม จ.สุโขทัย

26 ก.ย. 2564 | 16:42 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2564 | 23:47 น.

“เฉลิมชัย” นำทีมผู้บริหาร ก.เกษตรฯ “กรมการข้าว-ปศุสัตว์-ส.ป.ก.-กรมชลประทาน-กรมส่งเสริมการเกษตร” ติดตามนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ให้กำลังใจมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย

นายกรัฐมนตรี นำทีมลงช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด “กรมการข้าว-ปศุสัตว์-ส.ป.ก.-กรมชลประทาน-กรมส่งเสริมการเกษตร” ลงพื้นที่ติดตามพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย อำเภอศรีสำโรง จำนวน 2 จุด ได้แก่ บ้านคลองชัด หมู่ที่ 8 ต.วังใหญ่ และวัดดอนจันทร์ หมู่ที่ 4 ต.บ้านไร่ จากนั้นได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการดูแลประชาชน ณ วัดบ้านซ่าน ต.บ้านซ่าน อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย

 

สำหรับในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ย. 64) ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 7 เครื่อง / เครื่องผลักดันน้ำ 5 เครื่อง / รถแบคโฮ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณลำน้ำแม่มอก และสนับสนุนเรือตรวจการ 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ 5 ราย รวมถึงแจกจ่ายหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 10,000 กก. ถุงยังชีพ 60 ชุด สร้างเสริมสุขสัตว์ 60 ชุด

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

ในวันนี้ (วันที่ 26 ก.ย. 64) กระทรวงเกษตรฯ ได้สนับสนุนเกษตรกร ได้แก่ หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 10 ตัน / อาหาร TMR 2 ตัน / แร่ธาตุ 250 ก้อน (500 กิโลกรัม) / ถุงยังชีพสัตว์ 200 ชุด เชื้อราไตรโคเดอร์มา หัวเชื้อพร้อมใช้ 1,000 กิโลกรัม หัวเชื้อชั้นขยาย 1,000 ขวด (สามารถไปขยายเป็นหัวเชื้อพร้อมใช้ได้ 25,000 กก.) และเมล็ดพันธุ์ผัก 2,000 ซอง (ถั่วฟักยาว กระเจี๊ยบเขียน พริกจินดา ผักบุ้งจีน)

ทีมผู้บริหาร กระทรวงเกษตรฯ

นอกจากนี้ ยังเตรียมให้การสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ในระยะต่อไป ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าว 4,551.70 ตัน เมล็ดพันธุ์ผัก 9,960 ซอง ต้นพันธุ์พืชผัก/พืชอาหาร 4,410,000 ต้น (อาทิ กระเพรา โหระพา พริก มะเขือ ผักหวาน ไพล) ต้นพันธุ์ไม้ผล/ไม้เศรษฐกิจ 176,000 ต้น (อาทิ กล้วย ขนุน มะนาว มะละกอ หม่อน) เชื้อราไตรโคเดอร์มา ที่สามารถไปขยายเป็นหัวเชื้อพร้อมใช้ได้ไม่น้อยกว่า 75,000 กิโลกรัม/รอบการผลิต (4 วัน) และเตรียมพันธุ์สัตว์น้ำปล่อยตามแหล่งธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งอาหารในชุมชน

 

 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ย. 64) แบ่งเป็น ด้านพืช เกษตรกร 14,464 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 169,297 ไร่ ข้าว 150,774 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 16,761 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น 1,762 ไร่ โดยในพื้นที่ อ.ศรีสำโรง เกษตรกร 4,593 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 69,703 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 67,082 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 2,224 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 397 ไร่

แจกเมล็ดพันธุ์

ด้านประมง เกษตรกร 2,504 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ (บ่อปลา) 3,087 ไร่ ในพื้นที่ อ.ศรีสำโรง เกษตรกร 300 ราย พื้นที่เพาะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ (บ่อปลา) 350 ไร่ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 6,336 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 233,325 ตัว โค-กระบือ 26,036 ตัว สุกร 6,479 ตัว แพะ-แกะ 1,040 ตัว สัตว์ปีก 199,770 ตัว แปลงหญ้า 431 ไร่ ในพื้นที่ อ.ศรีสำโรง เกษตรกร 2,412 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 101,052 ตัว

 

กรมมการข้าว แจกเมล็ดพันธุ์ข้าว

 

 ในส่วนของกรมการข้าวนั้น จะให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบภัยพิบัติจนทำให้ต้นข้าวที่ปลูกไว้เสียหายสิ้นเชิง หรือเสียหายมากกว่าร้อยละ 80 และจังหวัดประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉินแล้ว และให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ห่างไกลความเจริญและขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในฤดูต่อไป หรือกระจายให้เกษตรกรอื่นในชุมชนใช้เพาะปลูก

 

โดย คุณสมบัติของเกษตรกรผู้จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจนขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในฤดูเดียวกัน และมีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะเพาะปลูกในฤดูเดียวกัน

 

ทีม ก. เกษตรฯ  ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี ติดตาม ลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วม จ.สุโขทัย

หรือเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ห่างไกลความเจริญและขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในฤดูต่อไป หรือกระจายให้เกษตรกรอื่นในชุมชนใช้เพาะปลูก

 

สำหรับปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวให้ความช่วยเหลือนั้น จะสนับสนุนให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 10ไร่ๆละ 7 กิโลกรัม (นาดำ) และไร่ละ 15 กิโลกรัม (นาหว่าน) ซึ่งปริมาณการสนับสนุนบรรเทาฟื้นฟูขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดภัยพิบัติร้ายแรงในแต่ละครั้ง หรือสภาพการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ และกรมการข้าวขอสงวนสิทธิ์ในการจัดสรรการช่วยเหลือตามปริมาณ/ชนิดเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามกิจกรรม

 

ทีม ก. เกษตรฯ  ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี ติดตาม ลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วม จ.สุโขทัย

 

ในโอกาสเดียวกันนี้ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1. นางลำยอง นิลนน 2.นางเซน คนเกวียน 3.นายสุชาติ หลักไหล 4.นายศรัญยู ชูโฉม และ 5.นายสมร มากมี ​

 

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า า นอกจากการเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้ดำเนินโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งดำเนินการเป็นประจำทุกปี ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

 

บรรยากาศ

 

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยในครั้งนี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการส่งมอบพืชพันธุ์ดี ประกอบด้วยเมล็ดพืชพันธุ์ดี จำนวน 2,000 ซอง ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว พริกจินดา และผักบุ้งจีน รวมทั้งให้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) จัดเตรียมสารชีวภัณฑ์ โดยเฉพาะเชื้อราไตรโคเดอร์มา จำนวน 26,000 กิโลกรัม สำหรับใช้ฟื้นฟูสภาพดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืชหลังน้ำลด และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคพืชที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคเหี่ยว โรคไหม้ข้าว เป็นต้น โดยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อควบคุมโรคพืช

 

นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เตรียมการสํารองพันธุ์พืชไว้ใช้ในกรณีช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจการส่งเสริมการเกษตร ในปี 2564/2565 โดยตั้งเป้าผลิตต้นพันธุ์พืชผัก/พืชอาหาร เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก พริก มะเขือ ผักหวาน พริกไทย แคบ้าน ชะอม มะรุม สะเดา ไพล จํานวนรวม 4,410,000 ต้น ผลิตและขยายพันธุ์ไม้ผล/ไม้ยืนต้น/พืชเศรษฐกิจ เช่น กล้วย ขนุน จําปาดะ ทุเรียน ฝรั่ง ชมพู่ น้อยหน่า มะขามเทศ มะขามเปรี้ยว มะนาว มะม่วง มะยงชิด มะละกอ ลิ้นจี่ ลองกอง ส้มโอ หม่อน อีกจํานวนรวม 176,400 ต้น ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ลุยน้ำท่วม

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลร่องมรสุม พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรงที่อ่อนกำลังจาก พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลทำให้ประเทศไทย ตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำท่าในลำน้ำแม่มอกและคลองแม่รำพัน  เพิ่มสูงขึ้นไหลเข้าท่วมพื้นที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.บ้านด่านลานหอย อ.เมืองสุโขทัย ฝั่งขวาของแม่น้ำยม และอ.สวรรคโลก พื้นที่รวมประมาณ140,000ไร่

ปลัดเกษตรฯ

 

โครงการชลประทานสุโขทัย ได้จัดจราจรทางน้ำด้วยการใช้ระบบชลประทาน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน ที่ประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านหาดสะพานจันทร์ ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน 485.5 ลบ.ม./วินาที ส่วนด้านเหนือปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์  ได้ผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายผ่าน ปตร.คลองหกบาท ในอัตรา 177.27 ลบ.ม./วินาที  และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลักที่สถานีวัดน้ำ Y.64 อ.บางระกำ อัตรา 356.60 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมให้แม่น้ำยมสายหลักมีระดับต่ำ ทำให้ปริมาณน้ำที่มาจากลำน้ำแม่มอกระบายลงได้สะดวกมากขึ้น

 

ประเมินสถานการณ์น้ำ

 

นอกจากนี้ ยังได้ผันน้ำเข้าคลองเชื่อมแม่น้ำยม ผ่านคลองเล็กต่างๆ รวม 99.45 ลบ.ม./วินาที รวมไปถึงระบายน้ำผ่านปตร.บ้านยางซ้าย 277.15 ลบ.ม./วินาที ช่วยลดการระบายน้ำไปยังด้านท้าย ทำให้น้ำจากทุ่งทะเลหลวง และคลองแม่รำพัน สามารถระบายลงสู่แม่น้ำยมได้สะดวก พร้อมกับเร่งระบายน้ำในลำแม่มอกเข้าสู่แก้มลิงและพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ แก้มลิงวังทองแดง และแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งปากพระ

 

ส่วนหนึ่งไหลลงแม่น้ำยมต่อไป พร้อมกันนี้  ยังได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 22 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 5 เครื่อง เพื่อช่วยสูบน้ำและเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนให้เร็วที่สุด ซึ่งหลังจากที่ระดับน้ำกลับเข้าสู่ตลิ่งแล้ว จะทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก เพื่อเร่งการระบายน้ำต่อไป คาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 15 วัน

 

"เฉลิมชัย" ทำทีมผู้บริหาร ก.เกษตรฯ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยควบคู่ไปกับการเก็บกักเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ตามนโยบาย ของรัฐบาล ด้วยการงดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบน พร้อมผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติบึงบอระเพ็ด ที่ปัจจุบัน(26ก.ย.64)มีปริมาณเก็บกักแล้วกว่า 58% ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ  ปัจจุบัน(26ก.ย.64) รับน้ำเข้าทุ่งไปแล้ว กว่า 60 % ทั้งนี้ ยังสามารถรับน้ำเข้าทุ่งได้อีกกว่า 200 ล้าน ลบ.ม.

 

ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาใมทางด้านน้ำในลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบ  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

รวมพลังช่วยผู้น้ำท่วม

 

ด้าน นายสุรเดช  สมิเปรม  รองอธิบดีกรมปศุสัตว์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมปศุสัตว์ได้ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นโดยนำถุงยังชีพสัตว์  ซึ่งประกอบด้วย อาหารไก่พื้นเมือง สุนัข แมว   ยาปฎิชีวนะ  แร่ธาตุก้อน  วิตามิน ยาถ่ายพยาธิสำหรับโค กระบือ ฯลฯ   จำนวน  200 ชุด  หญ้าแห้งพระราชทาน  10,000 กิโลกรัม แร่ธาตุก้อน 500 กิโลกรัม  อาหารผสม TMR  2,000  กิโลกรัม  รวมทั้งมีการเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

 

โดยสำรองเสบียงสัตว์เป็นหญ้าแห้ง 6,498   ตัน  ถุงยังชีพสัตว์  4, 220  ถุง  ทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่ 119 หน่วย  สัตวแพทย์ 357 คน  เตรียมการเผชิญเหตุและบรรเทาทุกข์ภาวะฉุกเฉินโดยสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์  ดูแลสุขภาพสัตว์  ช่วยอพยพสัตว์   รวมทั้งการช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลด  สำรวจประเมินความเสียหาย  ให้การสนับสนุนเสบียงเวชภัณฑ์สัตว์เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูที่ได้รับผลกระทบ  

     

      นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าว

ข้อมูลความเสียหายเบื้องต้น ว่า ด้านปศุสัตว์ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 6,336 ราย  สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 233,325 ตัว  เป็นโค- กระบือ 26,036  ตัว  สุกร  6,479 ตัว  แพะ แกะ  1,040 ตัว  สัตว์ปีก 199,770 ตัว  แปลงหญ้า 431 ไร่  โดยในอำเภอศรีสำโรง  จังหวัดสุโขทัย  มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 2,412 ราย  สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 101,052 ตัว