เดือด "ธวัชฟาร์ม" ระยอง ฉีกสัญญาทาส “นมโรงเรียน”

23 ก.ย. 2564 | 14:02 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2564 | 21:27 น.
1.8 k

“ธวัชฟาร์ม” โต้เดือด เดินหน้าชน แฉ ปมเหตุ ทำไมไม่ยอมเซ็นสัญญาทาส “นมโรงเรียน” 17 โรงเรียน เอกชน ระยอง พ่นพิษ โดบบีบบังคับให้ขาย นม ยู.เอช.ที ในราคานมพาสเจอร์ไรส์แบกรับขาดทุนไม่ไหว ย้ำ ไม่มีใครหรอกอยากจะทิ้งสัญญา

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564  ตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน  เรื่องการจัดทำสัญญาการรับมอบอำนาจระหว่างผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปี 2564 นั้น  การเปิดเรียนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จากการแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ทำให้เลื่อนการเปิดเทอม จากทุกปีจะเป็นกลางเดือนพฤษภาคม

 

จากงบประมาณรัฐบาลที่จัดสรรให้ทุกปี 1.4 หมื่นล้านบาท ในโครงการนมโรงเรียน นี้จะต้องให้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นองค์กรรัฐเป็นคนทำสัญญาให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับมอบอำนาจกับ อ.ส.ค.ให้ไปทำสัญญา โดยการกำหนดจากยอดที่ได้รับการจัดสรรสิทธิ x ราคากลาง 6.87 บาท /หน่วย x 260 วัน x0.05% (ราคา   6.87 บาท/กล่อง มาจากราคาถัวเฉลี่ยนมพาสเจอร์ไรส์ 6.85 บาท จำนวน 200 วัน และนม ยู.เอช.ที 7.82 บาท จำนวน 60 วัน)

 

ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันรูปแบบเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมในแต่ละปีต่างกันก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหน่วยงานรัฐในแต่ละปีที่กำหนด โดยวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายน้ำนมดิบได้ 365 วัน ล่าสุด เป็นเรื่องระหว่างโรงงานเอกชนที่ได้รับสิทธิ์โควตา กับโรงเรียนเอกชนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณให้ซื้อนมโรงเรียน ตามโควตา ทำไมถึง “ฉีกสัญญานมโรงเรียน” เพราะกว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ทัชยา รักษาสุข

 

นางทัชยา รักษาสุข กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ธวัชฟาร์ม จำกัด ระยอง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากกรณีโรงเรียนเอกชนในจังหวัดระยอง ร้องเด็กไม่ได้ดื่มนมตั้งแต่เปิดเทอม สืบเนื่องจากต้นเหตุปัญหาทางโรงเรียนได้แจ้งว่าหากโรงเรียนจะหยุดต่อด้วยโควิด  ขอให้รับนมโรงเรียนต่ออีก 7 วัน เพราะผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ มีอายุ 10 วัน  เพราะเนื่องจากเวลาผลิตนมแล้ว นมจะคาในห้องเย็น จะทำให้เสียหาย ก็ไม่ยอมรับ จึงทำให้ไม่มีการทำสัญญา

 

นมโรงเรียน

 

จากนั้นก็มีการเจรจาต่อรองอีกว่า เวลาส่งนมโรงเรียน 17 โรง รถจะบรรทุกนม 8,000 ถุง มีจำนวน 2 คัน จะทยอยส่งโรงเรียนไปเรื่อยๆ จนโรงเรียนสุดท้าย แต่ไม่เกิน 14.00 โมง ตามกรมปศุสัตว์กำหนด แล้วให้ส่งนมโรงเรียนทุกวัน

 

“ แต่ 17 โรงเรียนเอกชน ก็ไม่ยอม จะต้องกินนมพร้อมกันทั้ง 17 โรง ในเวลา 9 โมงกันทุกคน ดังนั้นให้บริษัททำอย่างไรก็ได้ แล้วให้ทางบริษัทไปออกรถมาเพื่อให้เพียงพอ ในเมื่อได้รับจัดสรรแล้ว จะต้องรับผิดชอบ"

 

ต่อมาทางโรงเรียนเอกชน จะขอซื้อนมกล่อง ในราคา 7 บาท  นมกล่องราคา กลางที่กำหนด ตาม มติครม. กล่องละ 7.82 บาท  ใครจะขายได้ พอไม่ได้ โรงเรียนก็ไม่พอใจ  แล้วถามว่าผิดตรงไหน ถ้าอย่างนั้นก็ให้หาทางออกให้เด็กดื่มนมกล่องไปพลางก่อนตามงบประมาณที่จัดสรรได้ ก็ไม่ยอมซื้อ ไม่ซื้อแล้วจะทำอย่างไร เพราะสัญญาอยู่กับโรงเรียน”

 

นอกจากนี้ ในสัญญาการซื้อขายนมโรงเรียน โรงเรียนเอกชน ยังมีระบุอีก ถ้าเกิดสั่งนมพาสเจอร์ไรส์ ต่อให้หยุดโควิดกะทันหันอย่างไร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สั่งหยุดอย่างไรก็แล้วแต่ จะไม่รับนมบริษัททุกกรณี

 

นางทัชยา กล่าวว่า เมื่อสัญญาเป็นอย่างนี้ก็ไม่เซ็นสัญญา เพราะสัญญาไม่เป็นธรรม ทางบริษัทได้ทำหนังสือชี้แจงไปว่าในประกาศหลังได้รับการจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายในพื้นที่โครงการนมโรงเรียนแล้ว จะต้องรับน้ำนมดิบจากเกษตรกร 365 วัน น้ำนมดิบเต็มหน้าตัก ขายนมโรงเรียน 260 วัน  แย่งกันแทบตายโควตา แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่ผู้ประกอบการจะไม่อยากขายนม

 

“วันนี้ ถ้าจังหวัดระยองเด็กดื่มนมไม่ได้เลยค่อยมาด่า สาเหตุ 17 โรงที่เด็กไม่ได้ดื่มนมตั้งแต่เปิดเทอมก็ด้วยสัญญาที่บอกๆไปแล้ว เป็นสัญญาทาส ขอความเป็นธรรม แล้วอีกอย่างในการจัดซื้อจัดจ้างเลวร้ายที่สุดคือ สามารถส่งนมได้โดยไม่ต้องลงนม เจอมาแล้ว ยกตัวอย่าง โรงนม A ได้งบประมาณ 3 แสนบาท ให้ลงแค่ 1.5 แสนบาท ที่เหลือ 1.5 แสนบาท แบ่งคนละครึ่ง โดนบังคับให้ทำ แต่บริษัทไม่ทำ”

นางทัชยา กล่าวว่า บริษัทเริ่มเข้ามาจังหวัดระยอง 3 ปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่3 ปีแรกทำงานก็มีปัญหา ได้มา 11 โรง ที่ผ่านมาก็เกิดการร้องเรียนแบบนี้แต่ไม่เคยแพ้แม้แต่ครั้งเดียว เพราะประกาศค้ำคอ เราอยู่ในวงการนมโรงเรียน มีปัญหานิดหน่อยก็โดนตัดสิทธิ์ แล้วจะผิดระเบียบได้อย่างไร ที่สำคัญที่สุดโรงเรียนเอกชน ทำไมไมเด็กไม่ได้ดื่มนม 17 โรงเรียนเอกชน จะต้องกลับไปดูต้นเหตุปัญหา ทำอย่างไรถึงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายน้ำนมได้ เกษตรกรเสียหาย

 

“โรงเรียนเอกชนในจังหวัดระยอง 25 โรง แต่ 8 โรง ได้ดื่มนมโรงเรียน ตั้งแต่วันแรกของการเปิดเทอม จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังดื่มนมปิดเทอม แล้วจ่ายเงินหมดทุกโรงเรียนแล้ว แต่ 17 โรง เด็กยังไม่ได้ดื่มนมโรงเรียน แล้วมาวันนี้สัญญาใหม่ที่ร่าง ให้ซอยทั้งหมด 6 งวด จะส่งได้อย่างใรภายในเดือนตุลาคม มีแค่ 31 วัน  แล้วจะมาชนกับรอบผลิตกับโรงเรียนรัฐบาลมา 53 อบต. 270 โรงเรียน ที่จะต้องแจกนมโรงเรียนอีก”

 

นางทัชยา กล่าวว่า 17 โรงเรียนเอกชน ทำไม ถึงเพิ่งคิดมาจัดซื้อ แล้วจะให้หารเฉลี่ยส่งมอบนมให้เสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม เพราะถ้าไม่ซื้อก็ต้องคืนงบรัฐบาลไป วันนี้การแก้ไขปัญหามีทางเดียวก็คือเซ็นสัญญาตามรูปแบบของโรงเรียนเอกชน 8 โรง ที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่เป็นสัญญาที่เพิ่งเริ่มทำกับบริษัทนะ เอกชนก่อนหน้านี้ที่ได้โควตา ทำมาก่อนแล้ว แล้วต้องเป็นสัญญาที่บริษัทปฏิบัติตามได้ แต่เมื่อมาเป็นอย่างนี้จะเซ็นได้อย่างไร

 

“ที่สำคัญ 17 โรงเรียนเอกชน จะมอบอำนาจ ให้  “ไอ้โม่ง” มาทำสัญญาไม่ได้ เพราะตามประกาศให้โรงงานทำสัญญาเป็น "รายโรงเรียน" ซึ่ง บริษัท จะต้องทำตามประกาศ ดังนั้นจะมีเหตุผลอะไรที่โรงงานซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร 365 วัน แล้วไม่ไปเอาโควตา”