“ประกันรายได้ยาง” เดือนพ.ย. ชดเชยสูงสุด จับตาบิ๊กวงการสั่งทุบราคา

20 ก.ย. 2564 | 19:23 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2564 | 02:24 น.
9.0 k

ชำแหละ ไส้ใน “ประกันรายได้ยางพารา” ปี3 งบประมาณกว่าหมื่นล้าน กยท. คาด “ราคายางตกต่ำสุด” เดือน พ.ย. ใช้งบสูงสุด กว่า 2.3 พันล้านบาท อุ้ม ขณะที่เครือข่าย กยท. ส่งซิกผวาบิ๊กใหญ่ฉวยจังหวะทุบราคาดิ่ง ทั้งที่ยางขาด “แรงงาน-พายุเข้า”

“โครงการประกันรายได้ยางพารา”  เป็นหนึ่งในนโยบายประกันรายได้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ปาล์มน้ำมัน, ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง และข้าวโพด รวมเกษตรกรกว่า 7.69 ล้านครัวเรือนถูกบรรจุให้เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์ ขับเคลื่อนโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

 

"ยางพารา” เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เนื่องจากไทย เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง อันดับต้นๆ ของโลก โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราสามารถนำรายได้เข้าประเทศในปี 2562 และ 2563 มูลค่า 476,140 ล้านบาท และ 484,288 ล้านบาทตามลำดับ และนำไปสู่การจ้างงานทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 1.44  ล้านครัวเรือน ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศรวม 22 ล้านไร่  (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ ปี 2563)

 

ทั้งนี้จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ชะลอตัวลง ทำให้การขยายตัวอุตสาหกรรมยางพาราของโลกได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศผู้บริโภคยางพาราหยุด/ชะลอการบริโภคส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออก ทำให้เกิดภาวะราคายางตกต่ำ ขณะที่ในปีนี้แม้สถานการณ์เศรษฐกิจ และการค้าโลกจะฟื้นตัวราคายางปรับตัวดีขึ้น แต่เกษตรกรยังคงได้รับความยากลำบากในการดำรงชีวิตจากราคายางที่ไม่เสถียรปรับขึ้น-ลงตลอดเวลา ทำให้รัฐบาลต้องมีโครงการ “ประกันรายได้ยางพารา เฟส 3”

 แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการกำหนดวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท ในโครงการประกันรายได้ยางเฟส 3 หรือเป็นปีที่ 3 มีที่มาใช้การคำนวณราคาล่วงหน้ารายเดือน โดยใช้อัตราการเพิ่ม/ลด ของราคายางงวดเดือนประกันรายได้เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2563 นำมาเป็นค่าเฉลี่ยในการคาดการณ์ราคาในแต่ละเดือนใน 3 ชนิดยาง ได้แก่ ยางแผ่นดิบ ยางก้อนถ้วย DRC 50% และน้ำยางสด นำมาคิดคาดการณ์ที่รัฐบาลจะชดเชยราคา

 

โครงการประกันรายได้ยางพารา ระยะที่3

 

“จากข้อมูล (ตามอินโฟกราฟิก) จะเห็นว่าเดือนพ.ย.นี้ คาดว่ารัฐบาลจะชดเชยราคาสูงสุดกว่า  2,302.21 ล้านบาท รองลงมาเป็นเดือน ต.ค.คาดชดเชยกว่า 1,878.93 ล้านบาท สาเหตุเป็นเพราะปกติใน 2 เดือนนี้ยางจะมีปริมาณออกมามากที่สุด เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้งชาวสวนยาง คนกรีดยาง กว่า 1.8 ล้านคน ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ตุลาคม 2564-มีนาคม 2565) จะเคาะประกันรายได้ครั้งแรกในเดือนตุลาคม แล้วจะจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้งวดแรกในเดือนพฤศจิกายน ผ่าน ธ.ก.ส. เข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง”

 

นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้เห็นชอบขยายระยะเวลา 2 โครงการเดิมประกอบด้วย 1.เห็นชอบในหลักการโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการ ยาง (ยางแห้ง) เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการสนใจยื่นความจำนงมา 14 ราย วงเงินกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี  5,000 ล้านบาท 2.บมจ.ไทยฮั้วยางพารา และ 3.กลุ่มบริษัทกว่างเขิ่น  4,200 ล้านบาท 5.บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ 4,000 ล้านบาท

6. บจก.อี.คิว.รับเบอร์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท 7.บจก.วงศ์บัณฑิต 1,200 ล้านบาท 8.บจก.ไทยอีสเทิร์น อินโนเวชั่น 900 ล้านบาท 9.บจก.ไทยแมคเอส.ที.อาร์ 800 ล้านบาท  10.บจก.ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา 700 ล้านบาท 11.สหกรณ์บ่อทอง 500 ล้านบาท 12. บจก.ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ 285 ล้านบาท 13.บจก.ฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น 250 ล้านบาท และ 14.บจก.นาคิเทค วงเงิน 23 ล้านบาท

 

ทั้งนี้เป้าหมายของโครงการ ผู้ประกอบกิจการยางสามารถซื้อผลผลิตยางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่น้อยกว่า 3.5 แสนตัน (คิดราคาเฉลี่ยปี 2564 (ยางแผ่นดิบราคา 57 บาทต่อ กก.)

 

โครงการที่ 2  โครงการสนับสนุนสินเชื่อ เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ จากเดิมให้สินเชื่อไปซื้อไม้ยาง ปรับเป็นให้คลอบคลุมสินเชื่อซื้อไม้ยาง และขยายกำลังการผลิต การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโดยทั้ง 2 โครงการระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564-ธ.ค. 2565 ระยะเวลาในการชดเชยดอกเบี้ย ตามโครงการฯ 1 ปี นับตั้งแต่ได้รับอนุมัติ แต่ไม่เกิน 31 ธ.ค. 2565 กรอบวงเงินชดเชย ดอกเบี้ย 603 ล้านบาท

 

เขศักดิ์ สุดสวาท

 

ด้านนายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ กล่าวว่า จากประกาศที่จะมีประกันราคารายได้ ราคายางก้อนถ้วยร่วงทันที 3-5บาทต่อกก. ซึ่งอย่าไปเชื่อถือตัวเลขในกระดาน ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ไปนำราคามาจากที่ไหน ซึ่งสวนทางกับเกษตรกรขายได้จริง ขณะที่ช่วงที่ผลผลิตยางจะออกมามากใน เดือนต.ค.-พ.ย.นี้ เป็นที่น่าจับตาว่า บริษัทใหญ่ๆ จะฉวยจังหวะนี้ทุบราคายางและโยนภาระให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรแทน

 

ด้านการยางแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์ราคายาง ณ วันที่ 15 ก.ย. 2564 ราคายางในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่มีปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากทางตอนใต้ของประเทศไทยมีฝนตกชุกและขาดแคลนแรงงานกรีดยางประกอบกับราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงการที่กรมเจรจาการค้าฯเผยยอดส่งออกสินค้าเกษตร พบว่ายางพารามีการส่งออกช่วง 7 เดือนแรกขยายตัว 58%

 

อย่างไรก็ตาม ราคายางได้รับปัจจัยกดดันจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งยาง รวมถึงการขาดแคลนชิปที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ นักลงทุนยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,715 วันที่ 19 - 22 กันยายน พ.ศ. 2564