“จุรินทร์” สั่งลุย 4 มินิเอฟที ขยายการค้าเจาะตลาดเมืองรอง 4 ชาติ

19 ก.ย. 2564 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2564 | 23:08 น.
542

“จุรินทร์” สั่งลุย 4 มินิ เอฟทีเอ เจาะตลาดเมืองรองญี่ปุ่น-จีน-อินเดีย-เกาหลี ช่วยขยายการค้า เพิ่มโอกาสส่งออกไทย เผยลงนามแล้ว 2 เตรียมอีก 2 ฉบับกับรัฐเตรังคานา-อินเดีย จังหวัดคยองกี-เกาหลีใต้

 

จากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งขยายโอกาสทางการค้าของไทยเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าในยุคโควิด โดยส่วนหนึ่งได้มีการสร้างพันธมิตรทางการค้า ผ่านการจัดทำ MOU ความร่วมมือมินิ เอฟทีเอ (Mini FTA) ที่ลงลึกระดับ เมือง/รัฐ/มณฑล ที่มีศักยภาพของประเทศเป้าหมาย เพื่อเจาะตลาดเมืองรองนั้น

 

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยความคืบหน้ามินิ เอฟทีเอล่าสุดว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการลงนาม Mini FTA ไปแล้ว 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับแรก มินิ เอฟทีเอกับเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น ลงนามวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็น MOU ความร่วมมือว่าด้วย การเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แนวทางความร่วมมือ ประกอบด้วย การถ่ายทอด แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเจียระไนอัญมณีและการผลิตเครื่องประดับ/ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ / การพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน /แลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างโรงเรียนอัญมณีของไทย (สถาบัน GIT) และโรงเรียน Institute of Gemology and Jewelry Art ในจังหวัดยามานาชิ โดยคาดว่า MOU ฉบับนี้จะช่วยให้การค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย-ญี่ปุ่น ในปี 2564 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,500 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2563)

 

“จุรินทร์” สั่งลุย 4 มินิเอฟที ขยายการค้าเจาะตลาดเมืองรอง 4 ชาติ

 

ฉบับที่ 2 มินิ เอฟทีเอกับมณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนามเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม  เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงธุรกิจ/ แลกเปลี่ยนข้อมูลและมาตรการสนับสนุน SMEs/ อำนวยความสะดวกการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ มณฑลไห่หนาน อยู่ในเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และอาเซียน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดของจีน เป็นจุดสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเปิดในระดับสูงของจีน มีประชากร 10.8 ล้านคน การเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจการค้าการลงทุนของไทย คาดการณ์มูลค่าการค้าการลงทุนที่เป็นผลจาก MOU ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทภายใน 2 ปี

 

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ มีมินิ เอฟทีเอ ที่อยู่ระหว่างการรอลงนาม อีก 2 ฉบับ คือ มินิ เอฟทีเอกับรัฐเตรังคานา ของอินเดีย เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางธุรกิจและพัฒนาคลัสเตอร์ระหว่างวิสาหกิจไทยกับรัฐเตรังคานา /เชื่อมโยงแพลตฟอร์มดิจิทัล (thaitrade.com กับ Telangana State Global Linker) เพื่อสร้างโอกาสให้ SMEs และ Start Up / แลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพ ผ่านศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและระบบนิเวศด้านนวัตกรรมของเตรังคานา (T-Hub) ทั้งนี้ รัฐเตรังคานา เป็นรัฐจัดตั้งใหม่ของอินเดีย        มีเมืองไฮเดอราบัดเป็นเมืองหลวง เป็นรัฐที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 9 จาก 28 รัฐของอินเดีย และเป็นรัฐที่มีอัตราการเติบโตและการขยายของเมืองสูง (เป้าหมายปี 64 มูลค่าการค้าไทย-อินเดีย ขยายตัว +4.81%      คิดเป็นมูลค่า 177,847 ล้านบาท

 

และอีกฉบับคือ มินิ เอฟทีเอกับจังหวัดคยองกี เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางธุรกิจ /การแลกเปลี่ยนข้อมูล/ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ จังหวัดคยองกีมีความสำคัญ เป็นเขตปกครองตนเองที่มีประชากรมากที่สุดของเกาหลีใต้ เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ เป็นจังหวัดที่มีรายได้ประชาชาติสูงเป็นอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ และเป็นฐานการผลิตของบริษัทไอทีระดับโลกของเกาหลีใต้