"กนอ." วางเป้า 5 ปีดันนิคมอุตสาหกรรม 39 แห่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

15 ก.ย. 2564 | 12:47 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2564 | 19:46 น.

กนอ.ตั้งเป้าหมาย 5 ปีดันนิคมอุตสาหกรรม 39 แห่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระบุปี 64 ยกระดับได้ 7 แห่ง ย้ำทุกนิคมฯ มีส่วนร่วมพัฒนาเมืองฯ ผ่าน 5 มิติ 22 ด้าน สอดคล้องตามนโยบาย BCG ของรัฐบาล

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 ปี(ปี 2564-68 )ไว้ทั้งสิ้น 39 แห่งเพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) หรือเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม โดยปีงบประมาณ 2564 กนอ. ได้ยกระดับนิคมฯเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 7 แห่งแบ่งเป็น ระดับ Eco-World Class จำนวน 2 แห่ง คือ นิคมฯเอเซีย และนิคมฯหนองแค ระดับ Eco-Excellence จำนวน 3 แห่ง คือ นิคมฯบางชัน นิคมฯปิ่นทอง (แหลมฉบัง) และนิคมฯ ผาแดง ระดับ Eco-Champion จำนวน 2 แห่ง คือ นิคมฯเอเซีย (สุวรรณภูมิ) และนิคมฯทีเอฟดี ส่งผลให้ปัจจุบันมีเมืองอุตฯเชิงนิเวศรวม 57 แห่งแบ่งเป็นระดับ Eco-Champion รวม 36 แห่ง ระดับ Eco-Excellence จำนวน 16 แห่ง และระดับ Eco-World Class จำนวน 5 แห่ง
ทั้งนี้ กนอ.นำแนวคิดนิเวศอุตสาหกรรม(Industrial Ecology) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้ข้อกำหนด คุณลักษณะ และเกณฑ์ตัวชี้วัด การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 มิติ 22 ด้าน ได้แก่ 1.มิติกายภาพ 2.มิติเศรษฐกิจ 3.มิติสังคม 4.มิติสิ่งแวดล้อม และ 5.มิติการบริหาร โดยจัดทำแผนแม่บทการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสถานประกอบการ เช่น การนำน้ำเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยทิ้งมาบำบัดแล้วนำมาผลิตน้ำ RO (Reverse Osmosis) และนำกลับมาใช้ใหม่แทนน้ำประปา 

ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ การนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการโรงงานไปเพิ่มมูลค่าด้วยการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น นำเศษขยะทั่วไปในนิคมอุตสาหกรรมไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์ หรือนำตะกอนจากโรงงานไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพจากวัสดุเหลือใช้จากการประกอบกิจการมาดัดแปลงให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมกลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้มีการประกอบกิจการที่มีผลกำไร โดยที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชนสามารถทำรายได้เป็นเงินหมุนเวียนให้กับสมาชิกในกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม

ตั้งเป้า 5 ปีดันนิคมฯ 39 แห่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
สำหรับแนวคิดหลักของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คือ การสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนท้องถิ่น โดย กนอ.กำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ใน 5 มิติ 22 ด้าน แบ่งการยกระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับ Eco-World Class / Eco-Excellence และ Eco-Champion ตามลำดับ ซึ่งหากนิคมฯ ที่ผ่านเกณฑ์และยกระดับเป็น Eco-World Class แล้ว ต้องรักษาระดับการเป็น Eco-Excellence และ Eco-Champion อย่างต่อเนื่อง ด้วยการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วม

นายวีริศ กล่าวต่อไปอีกว่า เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หมายถึงรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี กนอ.ดำเนินการขับเคลื่อนการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาอย่างต่อเนื่อง และกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร ขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ของ กนอ.ภายใต้แผนงาน 5G+ ซึ่งแผนงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อยู่ในยุทธศาสตร์ Green ที่มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน ได้แก่ Eco Team, Eco Committee, และ Eco Green Network เพื่อร่วมวางแผนและยกระดับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศร่วมกัน
อย่างไรก็ดี กนอ.ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาล และให้ความสำคัญกับการผลิต การบริโภคสินค้า และการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment) ตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาล ด้วยการส่งเสริมปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ