"GPSC" ปรับกลยุทธ์รับเทรนด์พลังงานสะอาดโลก-แผนพลังงานชาติ

09 ก.ย. 2564 | 15:52 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2564 | 22:51 น.

GPSC ปรับกลยุทธ์รับเทรนด์พลังงานสะอาดโลก และแผนพลังงานชาติของไทย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ป้องกันโลกร้อน

นายวรวัฒน์  พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า ขณะนี้ GPSC ได้ทำการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ของไทยที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก หรือ 4S ที่จะขับเคลื่อนให้ GPSC ก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืน  1 ใน 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ GPSC มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในพอร์ตการลงทุนให้มีสัดส่วนมากกว่า 50% จากกำลังการผลิตรวมของบริษัทฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2573 พร้อมทั้งก้าวสู่นวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยเทคโนโลยีเซมิโซลิด (SemiSolid) เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทฯ ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์พลังงานโลก ที่มุ่งสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดมากขึ้น ส่งผลให้ GPSC ปรับกลยุทธ์ใหม่ ที่สอดรับกับเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืนและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติในปีนี้ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26  หรือ COP26 ที่จะผลักดันให้ประเทศต่างๆ ไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดทำแผนพลังงานชาติให้สอดรับกับทิศทางดังกล่าว โดยจะนำมาสู่การปรับแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2565) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนพลังงานชาติ ที่จะจัดทำเสร็จในปี 2565 โดยเน้นพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น

สำหรับกลยุทธ์ 4S ประกอบด้วย  S1: Strengthen and expand the Core  การสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมขยายการให้บริการในธุรกิจหลัก ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตที่มีเสถียรภาพในระดับสากล  สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ,S2: Scale – up Green energy  การเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ,S3: S-Curve & Batteries การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน การพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและยานพาหนะอื่นๆ

วรวัฒน์  พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC

รวมถึงการต่อยอดธุรกิจเชิงนวัตกรรม และ S4: Shift to Customer – centric Solutions  บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค โดยใช้นวัตกรรมพลังงานทั้งโรงไฟฟ้าหลักและโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ด้วยระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงเสนอโซลูชั่นที่สามารถบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน
“กลยุทธ์ใหม่จะเน้นการขยายโอกาสในการพัฒนาพลังงานที่เป็นแพลตฟอร์ม สอดคล้องกับทิศทางพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานในรูปแบบความร่วมมือ และการเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้กับ Local partner ในประเทศเป้าหมาย โดยเฉพาะ อินเดีย เวียดนามและไต้หวัน ที่จะนำมาสู่การพัฒนาความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กรในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 7,102 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในสัดส่วน 37% ก๊าซธรรมชาติ 48% ถ่านหิน 11% และอื่น ๆ 4%” 

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ 4S เกิดจากกรอบการทำงานของ GPSC  ที่มุ่งเน้น 3D+1C  ในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความยั่งยืนอย่างเข้มข้น ซึ่งประกอบด้วย Decarbonize การเพิ่มประสิทธิในกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ Decentralize การกระจายเชื้อเพลิง กระจายโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด Digitalize การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการพลังงาน และ Convergence ระบบการกระจายการผลิตไฟฟ้าที่ทุกคนเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า