จับพิรุธบ.เคอรี่-เจ้าท่า ขยายท่าเทียบเรือ เฟส 4 ขัดกม.

28 ส.ค. 2564 | 15:58 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2564 | 23:09 น.
1.8 k

“คมนาคม” ชำแหละ บ.เคอรี่-เจ้าท่า เหตุออกใบอนุญาตขยายท่าเทียบเรือ เฟส 4 ขัดต่อกฎหมาย ด้านสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือฯ ร้องป.ป.ช. เร่งตรวจสอบพบข้อสงสัยเพียบ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีกรมเจ้าท่า (จท.) อนุญาตให้บริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต ดำเนินการก่อสร้างโครงการขยายท่าเทียบเรือ ระยะที่ 4 ซึ่งขัดต่อกฎหมายหรือไม่นั้น ปัจจุบันทางสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยทางสมาคมฯ ได้มีการตรวจสอบพบว่าโครงการดังกล่าวขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (2537) ซึ่งระบุว่า ลักษณะของอาคารและสิ่งที่ลุกล้ำลำน้ำที่พึงจะอนุญาตได้ (ท่าเทียบเรือ) ง. ต้องสร้างตามแนวเขตที่ดินที่ผู้ขออนุญาตมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ ครอบครองเป็นแนวตรงยื่นจากฝั่ง แต่พบว่ามีพื้นที่ส่วนที่เกินขยายท่าเทียบเรือออกไปอีก 750 เมตร โดยวัดแนวเส้นตรงจากปลายสุดท่าเทียบเรือมาจรดฝั่ง เป็นพื้นที่ชายทะเลที่ติดกับเขาขวาง ซึ่งต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ หรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งในการก่อสร้างที่เกิดเขตแนวที่ดินต้องขออนุญาตและมีหนังสือยินยอมการใช้ที่ดินจากเจ้าของที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างฯ ทั้งนี้ในใบอนุญาตระบุว่า บริษัท เคอรี่ฯ มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน 18 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา (ตรว.) ความยาวหน้าติดริมทะเลยาวประมาณ 150 - 200 เมตร เท่านั้น

 

 

ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้อ้างว่าไม่มีหนังสือยินยอมจากการขออนุญาตขอใช้ที่ดินจากเจ้าของที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ในกรณีที่มีการขยายท่าเทียบเรือฯ เกิน 750 เมตร แต่ให้เหตุผลว่า ทางกรมเจ้าท่าได้ออกใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตของท่าเรือมาบตาพุด จึงนำมาเทียบเคียงให้สามารถออกใบอนุญาตกับบริษัทเคอรี่ฯได้ แต่ทางสมาคมฯไม่เห็นด้วย เนื่องจากการขอใบอนุญาตไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบระหว่างกันได้ เพราะท่าเรือมาบตาพุดอยู่ในความดูแลของหน่วยงานรัฐ ขณะที่บริษัทเคอรี่ฯเป็นเพียงบริษัทเอกชน โดยในกฎกระทรวงระบุว่า หากต้องการขยายท่าเทียบเรือเกินแนวเขตที่กำหนด ต้องเป็นโครงการที่อยู่ในความดูแลของภาครัฐเท่านั้น 

 

 

ทั้งนี้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (2537)ฯ บริษัท เคอรี่ฯ ไม่สามารถก่อสร้างหรือขยายท่าเทียบเรือเกินแนวเขตที่ดินตนเองได้ แต่สามารถก่อสร้างเกินแนวเขตที่ล้ำไปที่ดินของเอกชนที่ติดกันได้ ซึ่งต้องมีหนังสือให้ความยินยอม หรือคำรับรอง ฯลฯ เพื่อให้มีสิทธิครอบครองจากเจ้าของที่เอกชนรายอื่นที่ที่ดินติดกันก่อน (ตามแบบรายงานการตรวจเอกสารการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ) ส่วนที่เกินแนวเขตที่ดินของเอกชนรายอื่น ไม่สามารถอนุญาตให้ได้ เพราะเป็นที่ชายทะเล ป่าชายหาด ติดเขาขวาง ไม่สามารถมีเอกสารสิทธิหรือสิทธิครองครองได้

จับพิรุธบ.เคอรี่-เจ้าท่า ขยายท่าเทียบเรือ เฟส 4 ขัดกม.

“ปัจจุบันทางป.ป.ช.ได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นทางป.ป.ช.ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไต่สวน เช่น กรมเจ้าท่า สมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ และบริษัทเคอรี่ฯ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นป.ป.ช.จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโครงการฯ ต่อไป แต่ปัจจุบันติดปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้”

 

 

รายงานข่าว กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันการเปิดให้บริการโครงการท่าเทียบเรือ ระยะที่ 4 ของบริษัทเคอรี่ฯจะส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและผู้ที่ได้รับสัมปทานของท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากปริมาณตู้สินค้าที่ให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นท่าเทียบเรือเอกชน และมีกิจกรรมประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าโดยได้รับอนุมัติให้ประกอบกิจการท่าเทียบเรือจากกรมเจ้าท่า ในลักษณะผู้ประกอบการรายเดียว ซึ่งมีต้นทุนเฉพาะค่าก่อสร้าง แต่ไม่มีต้นทุนค่าสัมปทาน ค่าตอบแทนรายปี (Fixed fee) หรือค่าตอบแทนเพิ่มเติมพิเศษ ทำให้ต้นทุนค่าดำเนินการต่ำกว่าผู้ประกอบการในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ท่าเทียบเรือของบริษัทเคอรี่ฯ ยังไม่อยู่ภายใต้กรอบอัตราค่าภาระที่การท่าเรือฯ กำหนด จึงสามารถกำหนดอัตราค่าบริการได้ด้วยตนเอง ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท่าเทียบเรือในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งนี้การท่าเรือฯ ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการการท่าเรือฯ และกระทรวงคมนาคมเพื่อทราบแล้ว

ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตการจัดทำรายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ท่าเทียบเรือของ บริษัท เคอรี่ฯ ซึ่งมีข้อแตกต่างในการพิจารณาอย่างน่าสงสัย พบว่าตามรายงาน EHIA ของโครงการท่าเทียบเรือระยะที่ 3 มีการพิจารณาแนวเขตที่ดิน ว่าการขยายท่าเทียบเรือเกินแนวกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงหรือไม่ เช่น บริเวณดังกล่าวจะกระทบต่อการสัญจรไปมาทั้งทางทะเลและพื้นที่ชายหาด หรือต่อเอกชนรายอื่นที่มีที่ดินติดกันหรือไม่ ขณะที่การรายงาน EHIA ของโครงการท่าเทียบเรือระยะที่ 4 กลับไม่มีการพิจารณาแนวเขตที่ดินแต่อย่างใด จึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงผู้ทำจัดทำรายงานที่ปรึกษา บริษัทเคอรี่ฯอาจเห็นว่าขยายเกินแนวเขตที่ดินอย่างมาก ขัดต่อกฎกระทรวง ที่ 63ฯ จึงเลี่ยงไม่พิจารณา รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 กรมเจ้าท่าไม่ได้เชิญการท่าเรือฯ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยอ้างว่าไม่ได้อยู่เขตพื้นที่ แต่กลับเชิญการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วยกันมาร่วมรับฟังความคิดเห็น 

 

 

นอกจากนี้คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหลายครั้งก่อนหน้านี้ ได้เชิญผู้แทนท่าเรือแหลมฉบัง และผู้แทนท่าเรือแหลมฉบังได้ โดยที่ประชุมได้มีการรายงานว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังได้รับผลกระทบจากการเปิดให้บริการของโครงการดังกล่าว ส่งผลให้ที่ประชุมมีการโหวตเพื่อออกเสียง พบว่า คณะกรรมการองค์การอิสระฯ มีมติไม่เห็นด้วย 10 ท่าน และเห็นด้วยอย่างมีเงื่อนไข 3 ท่าน และได้เสนอความเห็นต่อกรมเจ้าท่า แต่กรมเจ้าท่าไม่นำเสนอต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 ทำให้ปัจจุบันยังไม่ได้รับความคืบหน้าแต่อย่างใด