ลงทุนไทยฟื้น FDI ไหลเข้า ลุ้นขอส่งเสริมเกิน 5 แสนล้าน

20 ส.ค. 2564 | 16:37 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2564 | 00:03 น.
524

บีโอไอ เผยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2564 มีโครงการของคนไทยและจากต่างประเทศยื่นขอรับการส่งเสริม 801 โครงการ เพิ่มขึ้น 14% มูลค่าเงินลงทุน 386,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

บทวิเคราะห์ :

ทั้งนี้มูลค่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นข้างต้น เป็นผลมาจากโครงการขนาดใหญ่ในกิจการพลังงานไฟฟ้าที่ยื่นขอรับการส่งเสริมากถึง 198 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 120,814 ล้านบาท

 

โครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมข้างต้น ในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยื่นขอรับการส่งเสริม 403 โครงการมูลค่าเงินลงทุนรวม 278,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีเงินลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ และไต้หวัน (กราฟิกประกอบ)

 

ลงทุนไทยฟื้น FDI ไหลเข้า ลุ้นขอส่งเสริมเกิน 5 แสนล้าน

 

โดย FDI ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยในกิจการบริการและสาธารณูปโภค เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้า นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ และโรงแรมรวมกว่า 1 แสนล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เงินลงทุนรวม 56,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 65% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และสหรัฐฯในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ Smart Devices เนื่องจากความต้อง การในตลาดโลกขยายตัวสูง

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า FDI กลุ่มนี้ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพราะมองว่า ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี เหมาะกับการตั้งฐานธุรกิจระยะยาว มีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความพร้อม มีระบบสาธารณูปโภคและบุคลากรที่มีคุณภาพ

 

ขณะในภาพรวมโครงการของคนไทยก็ขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้น โดยช่วงครึ่งปีแรก โครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้นมีจำนวน 351 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 44% ของจำนวนโครงการทั้งหมด เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีเงินลงทุนรวม 80,950 ล้านบาท ขยายตัว 38% ขณะที่โครงการร่วมลงทุนไทยและต่างชาติ มีจำนวน 204 โครงการ เพิ่มขึ้น 8% เงินลงทุนรวม 214,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าจากปีก่อน

 

ทั้งนี้การลงทุนที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้นหรือข้างมาก หากเป็นโครงการขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกิจการโรงแรม ส่วนโครงการลงทุนของ SMEs ไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านดิจิทัล เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ดิจิทัลคอนเทนต์ และการให้บริการด้านดิจิทัล รองลงมาเป็นกิจการแปรรูปสินค้าเกษตรกรผลิตอาหาร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ

 

บีโอไอคาดการลงทุนในไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยคาดว่าคำขอรับการส่งเสริมทั้งจากการลงทุนของคนไทยและต่างชาติทั้งปีนี้จะมากกว่า 500,000 ล้านบาท (จากปี 2563 ขอรับการส่งเสริม 1,717 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 481,150 ล้านบาท) ปัจจัยสำคัญคือ การควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานให้อยู่ในวงจำกัด พยายามไม่ให้ถึงขั้นต้องปิดโรงงาน เพื่อไม่ให้กระทบกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)ของอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังขยายตัวได้ดีและมีการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

 

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์

 

อย่างไรก็ดี สำหรับทิศทางนโยบายของบีโอไอในการกระตุ้นการลงทุนในช่วงนี้ นอกจากมาตรการที่มีอยู่ เช่น มาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท มาตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC มาตรการส่งเสริม SMEs เมื่อเร็ว ๆ นี้ บีโอไอได้ออกมาตรการเพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการวิจัย พัฒนา และฝึกอบรม  มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกำลังขยายตัวมากการเปิดส่งเสริมกิจการใหม่ด้าน Smart Packaging การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งออกมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพกิจการเดิมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และกำลังเตรียมเสนอมาตรการยกระดับผู้ประกอบการไปสู่ Industry 4.0 ร่วมกับ EEC และ สวทช. 

 

ลงทุนไทยฟื้น FDI ไหลเข้า ลุ้นขอส่งเสริมเกิน 5 แสนล้าน

 

นอกจากนี้ ยังได้ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) ให้จูงใจมากขึ้นโดยเพิ่มขอบข่ายให้ครอบคลุมการให้กู้ยืมเงินแก่วิสาหกิจในเครือ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือทั้งในและต่างประเทศโดยตั้งแต่ปรับนโยบายบีโอไอครั้งใหญ่เมื่อปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมกิจการ IBC จำนวนกว่า 300 โครงการ โดย 40% มาจากญี่ปุ่น รองลงมาคือ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และ ฝรั่งเศส   

 

จากทิศทางแนวโน้มการลงทุนในไทยที่ยังขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก และภาครัฐยังมีมาตรการจูงใจ และผลักดันกิจกรรมเพื่อดึงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ขอรับส่งเสริมเกิน 500,000 ล้านบาทในปีนี้คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3706 วันที่ 19-21 ส.ค. 2564