ทุนไทยแห่ปักฐานเวียดนาม ยอดพุ่ง 4 แสนล้าน พลังงานมาแรง

06 ส.ค. 2564 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2564 | 18:58 น.
3.0 k

ทุนไทยไหลออก แห่ปักฐานเวียดนาม รวมเกือบ 650 โครงการ เงินลงทุนกว่า 4.1 แสนล้าน บิ๊กเอกชนทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม นิคมฯ ห้างสรรพสินค้า แบงก์ชักแถวลุย พลังงานทดแทนมาแรง บี.กริม กัลฟ์ บ้านปู ซุปเปอร์ เอนเนอยีแข่งเดือด ชี้การเมืองเสถียร มี FTA กับหลายประเทศ คุมโควิดได้ดีตัวดึงดูด

 

ปี 2563 มีโครงการลงทุนของไทยและต่างชาติขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 1,717 โครงการ เพิ่มขึ้น 13% มูลค่าลงทุนรวม 481,150 ล้านบาท ลดลง 30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ปัจจัยสำคัญจากผลกระทบโควิด ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขอรับส่งเสริม 907 โครงการ เงินลงทุน 213,162 ล้านบาท ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกปี 2564 มีโครงการขอรับการส่งเสริม 401 โครงการ เพิ่มขึ้น 14% เงินลงทุน 123,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนเป็น FDI จำนวน 191 โครงการ เงินลงทุน 61,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 143% (บีโอไอรอแถลงตัวเลขไตรมาส 2) แต่เมื่อเทียบเวียดนาม หนึ่งในคู่แข่งสำคัญในการดึงทุน FDI พบตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

FDI เวียดนามยังวิ่งฉิว

 ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ณ กรุงฮานอย รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลของกรมการลงทุนจากต่างชาติของเวียดนาม ระบุในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มี FDI โครงการใหม่ขอรับการส่งเสริม 804 โครงการ เงินทุนจดทะเบียน 9,549.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (305,570 ล้านบาท คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์) และภาพรวม FDI สะสมของเวียดนามถึง ณ เดือน มิ.ย.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 33,787 โครงการ เงินทุนจดทะเบียนรวม 397,886 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (12.73 ล้านล้านบาท) โดยนักลงทุน 5 อันดับแรกได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ส่วนไทยอยู่อันดับ 9 (กราฟิกประกอบ)

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายหลักที่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการของไทยออกไปขยายฐานการลงทุน โดยเวียดนามมีจุดเด่นที่จูงใจหลายประการ เช่น แรงงานมีจำนวนมาก และมีความขยัน เรียนรู้เร็ว พูดได้หลายภาษา ค่าแรงยังต่ำ การเมืองนิ่ง และมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในหลายกรอบกับหลายประเทศช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงเวลานี้ เวียดนามควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีกว่าไทย

 

ทุนไทยแห่ปักฐานเวียดนาม ยอดพุ่ง 4 แสนล้าน พลังงานมาแรง

 

ทุนไทยลุย 650 โครงการ

ทั้งนี้การลงทุนของไทยในเวียดนามตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีเกือบ 650 โครงการ เงินทุนจดทะเบียนรวมกว่า 13,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.16 แสนล้านบาท) โดยลงทุนในหลากหลายธุรกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เมืองหวุงเต่า ของ SCG, อุตฯพลาสติกของศรีไทยซุปเปอร์แวร์, บริษัทผลิตสีทาบ้าน เช่น ทีโอเอ, อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป เช่น ซีพีเอฟ, นิคมอุตสาหกรรม เช่น AMATA, WHA ภาคบริการ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และล่าสุด คือ ธนาคารกสิกรไทยที่เปิดสาขาในเวียดนาม รวมถึงห้างสรรพสินค้าของ CENTRAL GROUP, BJC

 

ขณะที่ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมที่มาแรง คือการลงทุนด้านพลังงานทดแทน มีผู้ประกอบการไทยไปลงทุนเพื่อผลิตไฟฟ้าในเวียดนามในรูปแบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) พลังงานกังหันลม (Wind Energy) หลายบริษัทฯ เช่น บี.กริม แอนด์โก, กัลฟ์, บ้านปู และซุปเปอร์ เอนเนอยี เป็นต้น

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

ทางลัดไล่ซื้อกิจการรัฐ-เอกชน

 “การลงทุนของไทยในเวียดนามยังมีแนวโน้มเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในรูปแบบการเข้าไปจดทะเบียนตั้งบริษัท รวมถึงการเข้าไปซื้อกิจการ ของรัฐวิสาหกิจ หรือของเอกชน เช่น การเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่จากเบียร์ SAIGON (SABECO) ของกลุ่มไทยเบฟฯ หรือการเข้าซื้อกิจการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของเอสซีจี เป็นต้น” นายสนั่น กล่าว

 

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จุดเด่นในการดึงดูดการลงทุนของเวียดนามมีในหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ มี FTA ที่มากกว่าไทย (ไทยมี FTA กับ 18 ประเทศ เวียดนามมีกับ 52 ประเทศ) ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในกรอบต่างๆ อีกทั้งเวียดนามมีจำนวนคนในวัยทำงานจำนวนมาก และมีประชากรกว่า 90 ล้านคนถือเป็นตลาดในประเทศที่ใหญ่ นอกจากนี้เวียดนามควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้ดีกว่าไทย แม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ สายพันธุ์ใหม่ เช่นเดียวกับไทยก็ตาม

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

 “ความสามารถในการแข่งขันดึงการลงทุนของไทยในช่วงนี้ลดลง ส่วนหนึ่งไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่วัยแรงงานของเวียดนามมีจำนวนมาก และค่าแรงต่ำกว่าไทย และที่สำคัญคือ FTA ที่เวียดนามเซ็นกับหลายประเทศ ทำให้ต่างชาติและธุรกิจไทยย้ายหรือขยายการลงทุนไปเวียดนาม เพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์ที่เวียดนามมีกับประเทศคู่ค้า เพราะทำให้ต้นทุนในการส่งออกถูกลงไปมากจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในประเทศคู่สัญญา ขณะที่การเมืองของเวียดนามนิ่งและเสถียรกว่าไทย และมีระบบยุติธรรมที่ดีสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติในการเข้าไปทำธุรกิจ” นายเกรียงไกร กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3702 วันที่ 5-7 ส.ค. 2564