“จุรินทร์”สั่งเข้ม ต้องซื้อมะพร้าวไทย ก่อนนำเข้ามะพร้าวนอก

19 ส.ค. 2564 | 16:16 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 00:33 น.
582

ผู้นำเข้า “มะพร้าวเฮ” สศก. เผย “จุรินทร์”สั่งเข้ม ต้องซื้อมะพร้าวไทย 2 เท่า ครึ่ง ก่อนนำเข้ามะพร้าวนอก กว่า 7.8 หมื่นตัน พร้อมมาตรการเซฟการ์ด ห้ามนำเข้าเกิน 3.11 แสนตัน ช่วยชาวสวนมะพร้าว ระบุราคามะพร้าว เดือน ส.ค. เฉลี่ยผลละ 8.19 บาท

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งมีนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการบริหารการนำเข้ามะพร้าวผลพิกัดฯ 0801.12.00  พิกัดฯ 0801.19.10 และพิกัดฯ 0801.19.90 ตามกรอบความตกลง AFTA ปี 2564 ช่วงที่ 2 (เดือนกันยายน - ธันวาคม 2564)

 

โดยใช้ผลการรับซื้อผลผลิตมะพร้าวในประเทศของผู้ประกอบการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6 สิงหาคม 2564 มาพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้าในอัตรา 1 : 2.5 (นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2.5 ส่วน) จำนวน 15 ราย รวมปริมาณจัดสรรนำเข้า 78,477 ตัน ทั้งนี้ การนำเข้าต้องเป็นไปตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ได้มีมติเห็นชอบการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) ภายใต้ความตกลง WTO ปี 2564 โดยใช้หลักการคำนวณ Trigger Volume ที่ปริมาณสินค้ามะพร้าว 311,235 ตัน ซึ่งคำนวณจากข้อมูลปริมาณการนำเข้ามะพร้าวพิกัดฯ 0801.12.00 พิกัดฯ 0801.19.10 และพิกัดฯ 0801.19.90 ย้อนหลังเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2561 – 2563)

 

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

โดยหากมะพร้าวที่นำเข้ามาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ 311,235 ตัน ตามที่ Trigger Volume กำหนด ทางกรมศุลกากรจะจัดเก็บอากรในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยถ้าเป็นการนำเข้าภายใต้ความตกลง WTO นอกโควตาจะเก็บอากรร้อยละ 72 (จากเดิมร้อยละ 54) และภายใต้ความตกลง AFTA จะเก็บอากรเป็นร้อยละ 72 (จากเดิมร้อยละ 0)

 

ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) ตามที่คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ เสนอเรียบร้อยแล้ว ทางกรมศุลกากร จะเร่งดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการเก็บอากรศุลกากรตามมาตรการปกป้องพิเศษ ตามความตกลงการเกษตรขององค์การการค้าโลก และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน สำหรับสินค้ามะพร้าว พ.ศ. .... และประกาศกำหนดวันเริ่มใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG)

 

ใช้ระบบ ZOOM ออนไลน์

 

โดยกรมศุลกากร จะมีการส่งข้อมูลการนำเข้าสินค้ามะพร้าว ในพิกัดดังกล่าว ให้ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ทราบเป็นรายสัปดาห์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการแจ้งเตือนเมื่อมีการนำเข้าถึงปริมาณที่ Trigger Volume กำหนด ก่อนดำเนินการจัดเก็บอากรในอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อไป โดยมาตรการ SSG จะมีผลบังคับใช้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564

 

ทั้งนี้ สศก. คาดการณ์ ว่า ปี 2564 (ข้อมูล ณ สิงหาคม 2564 ) จะมีผลผลิตมะพร้าว 0.876 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 1.269 ล้านตัน และคาดว่าในปีนี้ จะมีการนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์รวม 0.418 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ในเดือนสิงหาคม 2564 เฉลี่ยผลละ 8.19 บาท ลดลงจาก 11.91 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือลดลงร้อยละ 31.23

 

สำหรับ ผู้นำเข้า 15 ราย ประกอบด้วย

 

1.บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด

 

2.บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)

 

3.บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด

 

4.บริษัท ไทยแทน ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

 

5.บริษัท เอเชียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด

 

6.บริษัท วราฟู้ดแอนด์ดริ๊ง จำกัด 

 

7.บริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด 

 

8.บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเชฟช้อย จำกัด

 

9.บริษัท น้ำมันมะพร้าวไทย จำกัด

 

10.บริษัท หอมหวลอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด 

 

11.บริษัท จังเกิล ฟู้ดส์ จำกัด

 

12.บริษัท แพนอินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด


13.บริษัท ทวีวงษ์การเกษตร จำกัด


14.บริษัท โอท็อป-มาดเท่ จำกัด


15.บริษัท ชายแดนใต้ฟู้ดโพรเซสซิ่ง จำกัด