“เอกชน”ทนไม่ไหวแล้ว ตบเท้าขอพบ “นายกฯ” กดดันนำเข้าวัคซีนโควิด-19

09 ส.ค. 2564 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2564 | 01:31 น.
6.7 k

“ภาคเอกชน”เคลื่อนไหว 2 ระลอก ทนไม่ไหวแล้ว หลังสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ย่ำแย่จากพิษโควิด-19 ตบเท้าขอเข้าพบ “นายกฯ” เพื่อเสนอเปิดเสรีนำเข้าวัคซีนทางเลือก และ ผลิต“ยาฟาวิพิราเวียร์”

ในห้วงระยะเวล 7 วันที่ผ่านมา ได้ปรากฏเหตุการณ์สะท้อนภาพจาก “ภาคเอกชน” ทนไม่ไหวแล้ว 2 ระลอก กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้   

 

ไปดูระลอกที่ 2 กันก่อน ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ วันนี้ (9 ส.ค.64)  

 

เมื่อ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ที่ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางเร่งแก้ไขใน 3 เรื่องหลักในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย

 

1.การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งรัฐควรเปิดให้มีการนำเข้า “วัคซีนทางเลือก” ให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้การติดเชื้อในโรงงานเริ่มมีจำนวนมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา 

 

2.ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เอกชนในเรื่องของการจัดหาวัคซีนและอุปกรณ์ป้องกันการดูแลการแพร่เชื้อโดยเฉพาะ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งเป็นภาระรายจ่ายของภาคเอกชนมากขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางขอความช่วยเหลือ 

 

และ 3. ขอให้รัฐพิจารณาอนุมัติให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพผลิต “ยาฟาวิพิราเวียร์” เนื่องจากขณะนี้เอกชนมีศักยภาพผลิต แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน

 

“คาดว่าหนังสือจะส่งถึงได้ภายใน 1-2 วันนี้ โดยรัฐบาลควรเปิดให้ภาคเอกชนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากมองว่า หากประเทศไทยขาดยาดังกล่าวจะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ขณะเดียวกันจะมีการเสนอแนวทางมาตรการเยียวยาภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) เข้าไปด้วย” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุ

 

ส่วน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานคณะทำงานจัดหาชุด ATK และจัดทำห้องความดันลบ บอกว่า ขณะนี้ตัวเลขการติดเชื้อในโรงงานอย่างไม่เป็นทางการมีมากกว่า 1,000 แห่ง จึงได้เร่งจัดหาชุดตรวจ ATK ราคาถูกให้แก่โรงงานที่เป็นสมาชิกไปแล้ว 3 ล็อต และอยู่ระหว่างการจัดหาล็อต 4 โดยมีเป้าหมายจัดหารวมไม่น้อยกว่า 1 แสนชุดในเบื้องต้น 

 

ก่อนหน้านั้น ระลอกแรก ที่ “ภาคเอกชน” ออกมาสะท้อนความวิตกกังวลไปถึงรัฐบาล คือ  เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ก่อนที่ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) และเป็นประธานการประชุม กกร. จะออกมาแถลงข่าวสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจไทย

 

นายผยง ศรีวณิช บอกว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปี จากผลกระทบโควิด-19 ต่อเนื่องไปยังในครึ่งหลังของปีนี้ ภายหลังจากการควบคุมแพร่ระบาดยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” มาแล้ว 14 วัน และมีการขยายมาตรการออกไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.  

 

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก และเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี จะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 เข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่อง เป็นปีที่ 2โดย กกร.ได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ หดตัวลบ 1.5-0% 

 

ขณะเดียวกัน กกร.ได้มีข้อเสนอ 8 ข้อไปถึงรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน คือ 

                                “เอกชน”ทนไม่ไหวแล้ว ตบเท้าขอพบ “นายกฯ” กดดันนำเข้าวัคซีนโควิด-19

 

1.ขอให้ กรมสรรพากร ยกเว้นภาษีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ e-Tax 

 

2.เสนอภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป จากเดิมอยู่ที่ 40% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากขึ้น

 

3.เสนอขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษี ในปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565) 

                                      “เอกชน”ทนไม่ไหวแล้ว ตบเท้าขอพบ “นายกฯ” กดดันนำเข้าวัคซีนโควิด-19

 

4.รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19
 

5.เสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิต หรือ ผู้แทนจำหน่าย และหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย 

 

6.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น 

                                    “เอกชน”ทนไม่ไหวแล้ว ตบเท้าขอพบ “นายกฯ” กดดันนำเข้าวัคซีนโควิด-19

 

7.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และ ค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 

 

และ 8.ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา “ฟาวิพิราเวียร์” ที่กำลังมีความต้องการสูง

 

“เศรษฐกิจไทยยังวิกฤติ และเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ การยกระดับและขยายพื้นที่ครั้งนี้ ประเมินผลกระทบเพิ่มเติมเป็น 3-4 แสนล้านบาทต่อเดือน โดยพื้นที่สีแดงเข้ม มีสัดส่วนถึง 78% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้มีการยกระดับใกล้เคียงเมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว” ประธานกกร. ระบุ

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการ “ล็อกดาวน์” ทั้งหมด เพราะหากไม่สามารถแยกคนป่วย กับ คนไม่ป่วยออกจากกันได้ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจพังได้

 

การขอเข้าพบ “นายกฯ” เพื่อสะท้อนปัญหาและข้อเสนอของ “ภาคเอกชน”ครั้งนี้ จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ และ เมื่อไหร่ มาคอยดูกัน...