กพช. เคาะแผนพลังงานชาติลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ปี ค.ศ. 2065 - 2070

04 ส.ค. 2564 | 19:26 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2564 | 02:25 น.

กพช. เคาะกรอบแผนพลังงานชาติลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 - 2070 ขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ

นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบ กรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070 สำหรับแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน อาทิ 
1.เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% พิจารณาร่วมกับต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานระยะยาว ,2.ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ตามนโยบาย 30@30 การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งมาเป็น EV เป็นแนวทางที่ช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มความสามารถในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 
,3.ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่า 30% โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน และ4.ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E (Decarbonization: การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า) โดยเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วงดังกล่าว (2065 – 2070) ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน 

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 อย่างต่อเนื่อง และเพื่อแสดงถึงจุดยืนและการเตรียมการในการปรับเปลี่ยนให้รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่ neutral-carbon economy การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดภายในช่วงเวลา 1-10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564 - 2573) กพช. จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการระยะเร่งด่วน ดังนี้
1.จัดทำแผนพลังงานชาติ ภายใต้กรอบนโยบายที่ทำให้ภาคพลังงานขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ neutral-carbon economy ได้ในระยะยาว ครอบคลุมการขับเคลื่อนพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน
2.พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้ PDP2018 rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564 – 2573) ตามความเหมาะสม อาทิ ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้มีการผูกพันเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าที่จำเป็นและสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ในระยะยาว การคำนึงถึงต้นทุนและความก้าวหน้าเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้นำหลักการวางแผนเชิงความน่าจะเป็นโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) มาใช้เป็นเกณฑ์ แทนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งไม่สามารถวิเคราะห์ผลจากความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้การประเมินและการวางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศมีความแม่นยำมากขึ้น

3.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และสามารถตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ
สำหรับกระบวนการจัดทำแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยจะมีรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติ ในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2564 เพื่อนำความเห็นมาประกอบการจัดทำแผน 5 แผนหลัก และรวมเป็นแผนพลังงานชาติ หลังจากนั้นจะมีการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพลังงานชาติ ก่อนนำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบต่อไป