รฟม.แจงปมการประกวดราคา รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

31 ก.ค. 2564 | 09:16 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2564 | 16:34 น.

รฟม. ชี้แจงปมการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ชี้เป็นไปตามมติ ครม.25 ก.ค.60-พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้าง

วันที่ 31 กรกฎาคม 2564  ตามที่ ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน อ้างอิงถึงข้อความใน Facebook  ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ในหัวข้อ  “ขอดเกล็ดรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ประมูลแบบ นานาชาติ แต่ ผู้รับเหมาต่างชาติกระอัก” นั้น 

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็น ทีโออาร์ กำหนดว่าผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานกับ “รัฐบาลไทย” ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ดังนี้ 

 

รฟม. ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 โดย รฟม.พิจารณาดำเนินการ โดยวิธีประกวดราคานานาชาติ (International Competition Bidding: ICB) ทั้งนี้ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมถึงกฎกระทรวง ประกาศและหนังสือเวียน ที่ออกตาม พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวข้างต้น

รฟม.แจงปมการประกวดราคา รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

ในการกำหนดผลงานของผู้เข้าประมูลนั้น รฟม. ได้กำหนดไว้ว่าต้องเป็นผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่จะดำเนินการจัดจ้างก่อสร้าง โดยกำหนดวงเงินผลงานไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินงบประมาณ หรือวงเงินที่จะจ้างก่อสร้าง และเป็นผลงานในสัญญาเดียว ซึ่งเป็นไปตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 214 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ การกำหนดผลงาน การระบุคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุหรือยี่ห้อของพัสดุ และการพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอของหน่วยงานของรัฐกรณีการกำหนดสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ข้อ 1.1.4  

 

ส่วนการกำหนดว่าต้องเป็นผลงานกับรัฐบาลไทยนั้น เป็นการกำหนดตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กวจ) 0405.3/24575 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เรื่อง ข้อหารือความหมายคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า “ผลงานที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็น “หน่วยงานรัฐ” ตามนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฯ เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศแต่อย่างใด” 

ทั้งนี้ การกำหนดว่าต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทยนั้น จากข้อเท็จจริงที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา BMTP (ที่ปรึกษาของ รฟม.) ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่ามีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติที่มีผลงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินกับรัฐบาลไทยอย่างน้อย 5 ราย และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาไทย ที่มีผลงานกับรัฐบาลไทยอีกอย่างน้อย 5 ราย ส่วนผลงานสำหรับโครงการยกระดับ มีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติอย่างน้อย 2 ราย และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาไทยอีกอย่างน้อย 12 ราย ส่วนผลงานสำหรับงานระบบราง มีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติอย่างน้อย 1 ราย และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาไทยอีกอย่างน้อย 4 ราย ซึ่งการกำหนดให้ต้องเป็นผลงานกับรัฐบาลไทยเป็นไปตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ โดยมีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติและผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาไทย สามารถเข้าร่วมประมูลได้มากราย รวมทั้ง ทีโออาร์ ยังเปิดกว้างให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาต่างชาติ สามารถเป็น Lead  Firm (ผู้เข้าร่วมค้าหลัก) ในกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้ ทั้งนี้ต้องเข้าร่วมกับผู้ประกอบการคนไทย โดยผู้ประกอบการคนไทยต้องถือหุ้นรวมกันมากกว่าร้อยละ 50 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับกรุงเทพมหานครฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการ  เข้าด้วยกัน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2570