ปตท.ไล่ซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ รับเทรนด์พลังงานโลกเปลี่ยน

24 ก.ค. 2564 | 11:12 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2564 | 18:36 น.
3.5 k

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่วิกฤติอยู่ทั่วโลก คงเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์หรือวัดฝีมือของผู้นำในการฟันฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้นเวลานี้ไปได้ โดยเฉพาะบริษัทผู้นำด้านพลังงานอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินงานมา 43 ปี

ปัจจุบัน ปตท.ภายใต้การกุมบังเหียนของนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) ปตท. น่าติดตามว่าจะสามารถนำเรือลำนี้ฝ่ามรสุมที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ย้อนกลับไปช่วงปี 2546-2554 สมัยที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ขึ้นมานั่งเป็นซีอีโอ ถือเป็นยุคของการก้าวกระโดดของปตท. ที่นายประเสริฐได้วางรากฐานการทำงานในอนาคตและยุทธศาสตร์ 5-10 ปีไว้ ภายใต้ “Big-Long-Strong” ที่ต้องสร้างการเติบโต ให้องค์กรมีความยิ่งใหญ่ แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมั่นคง มีอายุยืนยาวเกิน 100 ปี และแข็งแกร่งด้วยผลประกอบการที่ดี

 

ส่งผลให้ในช่วง 8 ปีที่นายประเสริฐ บริหารงานสร้างรายได้ให้กับปตท.ก้าวขึ้นสู่ระดับ 2 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก และมีกำไรเกิน 1 แสนล้านบาท ด้วยรูปแบบการดำเนินงานของ ปตท.ที่มีการถ่ายทอดจากรุ่นมาสู่รุ่น ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ถูกสานต่อมาถึงสมัยของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มปตท. โดยตั้งบริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่นำกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าของในเครือมาผนวกรวมกัน รวมถึงการควบรวมกันระหว่าง บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH และบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR และจัดตั้งเป็นบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC พร้อมวางรากฐานการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กลายเป็นฐานรายได้เพิ่มให้องค์กร และสร้างองค์ความรู้โครงการจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี (KVIS และ VISTEC)

 

เมื่อมาถึงสมัยนายเทวินทร์ วงศ์วานิช นั่งตำแหน่งซีอีโอปตท. ได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยนำกลยุทธ์ 3D NOW เข้ามาปรับใช้ Do Now เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน Decide Now การขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และ Design Now แสวงหาธุรกิจใหม่ สร้างความแข็งแกร่งจากภายใน โดยได้โอนทรัพย์สินต่าง ๆ ในส่วนของธุรกิจนํ้ามันและกลุ่มที่ไม่ใช่นํ้ามันให้กับบริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีกหรือ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

ด้วยกลยุทธ์ 3D NOW ดังกล่าวยังถูกสานต่อมาถึงนายชาญศิลป์  ตรีนุชกร ได้มีการขยายการลงทุนในหลายรูปแบบ ผลักดัน GPSC เข้าซื้อหุ้นในบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) มูลค่าราว 9.3 หมื่นล้านบาท เป็นต้น และกลยุทธ์ 3D NOW ดังกล่าวยังคงถูกนำมาใช้ช่วงต้น ๆ ที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ด้วย

 

ด้วยการบริหารงานที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น และกระแสของโลกพลังงานสีเขียว ทำให้กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ที่สานต่อกันมา ถูกนำมาปรับเพื่อให้ธุรกิจสอดรับไปกับสิ่งที่เปลี่ยนไป

 

ปตท.ไล่ซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ รับเทรนด์พลังงานโลกเปลี่ยน

 

นายอรรถพล ชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกลุ่มปตท.หลังจากนี้ไปจะอยู่ภายใต้คอนเซปต์ “การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และเติบ โตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน” ที่จะเป็นทิศทางการเติบโตของกลุ่มปตท. ทั้งในลักษณะของการซื้อกิจการและการเข้าไปร่วมลงทุน โดยใช้ศักยภาพของบริษัทในเครือแต่ละธุรกิจเป็นหัวหอก ต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ และสร้างธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานอนาคต อย่างธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจีครบวงจร พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน  แหล่งกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ สถานีชาร์จแบตเตอรี่ ไฮโดรเจน และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ที่เป็นเทรนด์ของโลกอยู่ในเวลานี้

 

อรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์

 

ล่าสุดทาง PTTGC ก็ได้เข้าซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH (allnex) ผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบและสารเติมแต่งของเยอรมนี มูลค่าประมาณ 1.48 แสนล้านบาท เพื่อต่อยอดให้กับธุรกิจปิโตรเคมี ที่จะมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท

 

ขณะที่การสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ อย่างธุรกิจ Life science ตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด เพื่อรุกตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย โดยมีแผนเดินหน้าสร้างโรงงานในปี 2565 และผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของไทย

 

ธุรกิจ Mobility Lifestyle บริษัท PTTOR ลงทุนในบริษัท แฟลชอินคอร์ปอเรชั่น และลงทุนในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย และการเข้าซื้อ โอ้กะจู๋เพื่อช่วยตอบโจทย์เทรน Lifestyle

ส่วนธุรกิจ AI, Robotics & Digitalization ปตท.สผ. ตั้งบริษัท ATI Technologies เพื่อพัฒนาโดรน และตั้งบริษัท Zeaquest เพื่อให้บริการวิศวกรรมทางทะเล และตั้งบริษัท RAISE เพื่อพัฒนา AI & Robotics รวมทั้งตั้งบริษัท MekhaTech เพื่อลงทุนด้านดิจิทัล และ Cloud Service เป็นต้น

 

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นเส้นทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท.ที่หลังจากนี้ไป จะต้องรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป