“อีอีซี” เดินหน้า 4 เมกะโปรเจ็กต์ ขับเคลื่อนการลงทุนประเทศฝ่าล็อกดาวน์

15 ก.ค. 2564 | 19:31 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 02:48 น.

วิกฤติโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้แตะระดับหมื่นคนต่อวัน รัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์บางพื้นที่ ส่งผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก กระทบต่อแรงงานและความเป็นอยู่ของประชาชน โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง

 ขณะที่การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี นั้น ได้รับการยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ว่า ยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น แม้ว่าบางโครงการจะมีความล่าช้ากว่าแผนที่ได้ว่างไว้บ้างก็ตาม

 

ไฮสปีดฯ ส่งมอบพื้นที่ก.ย.นี้

ไล่เลียงตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กำลังจะเริ่มงานก่อสร้าง โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมจะส่งมอบพื้นที่ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการประมาณ 5,521 ไร่ ให้กับเอกชนคู่สัญญาภายในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งเอกชนได้เข้าพื้นที่ และเริ่มออกแบบเตรียมการก่อสร้าง เช่น งานปรับพื้นที่สำหรับเตรียมก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา งานก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวเพื่อลำเลียงวัสดุ งานก่อสร้างสำนักงานสนาม บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง งานด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและการจัดจราจร โดยการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี และจะเปิดให้บริการช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568

 

ท่าเรือมาบตาพุดส่งอีเอชไอเอ

 ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เพื่อขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นพื้นที่ถมทะเล จำนวน 1,000 ไร่ มูลค่าลงทุนทั้งโครงการตามสัญญาร่วมลงทุน  62,205 ล้านบาท กำหนดดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ภายในปี 2569

 

ความคืบหน้าที่ผ่านมา งานโครงสร้างพื้นฐานกนอ. ได้ส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ฉบับแก้ไข ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ (คชก.) ให้แก่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณารายงานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรอการอนุมัติ

 

 ส่วนงานบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง สำรวจสภาพภูมิประเทศ (บนบก) เจาะสำรวจสภาพธรณีวิทยาบนฝั่ง สำรวจภูมิสัณฐานทางกายภาพของท้องทะเล แล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างสำนักงานสนาม มีความก้าวหน้า 97% และงานเจาะสำรวจสภาธรณีวิทยานอกชายฝั่ง ดำเนินการเจาะแล้วเสร็จ 50 หลุม จากทั้งหมด 62 หลุม

“อีอีซี” เดินหน้า 4 เมกะโปรเจ็กต์ ขับเคลื่อนการลงทุนประเทศฝ่าล็อกดาวน์

 

อู่ตะเภาออกแบบทางวิ่งที่ 2

 อีกทั้ง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนความรับผิดชอบของกองทัพเรือ ได้ออกแบบทางวิ่งและทางขับที่ 2 งานทางขับเชื่อมระหว่างทางวิ่ง พร้อมลานจอดศูนย์ซ่อมอากาศยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย ทางวิ่งความยาว 3,505 เมตร ทางขับที่เกี่ยวข้อง 6 เส้นทาง อุโมงค์ลอดใต้ทางวิ่ง งานระบบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

 

 ในขณะที่สกพอ. ได้จัดทำร่างระเบียบการปฏิบัติงานในพื้นที่เขตส่งเสริมฯ ช่วงการก่อสร้างเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงดูแลรักษาความปลอดภัยพื้นที่ งานก่อสร้างระบบไฟฟ้าและน้ำเย็นได้ส่งมอบที่ดินที่เช่า เพื่อให้บริษัท บี กริม. ได้เข้าเคลียร์พื้นที่เรียบร้อยแล้ว งานก่อสร้างระบบประปาและระบบน้ำเสีย ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ บริษัท อีสท์ วอเตอร์ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างสำรวจสภาพพื้นที่

 

 ส่วนความรับผิดชอบเอกชนคู่สัญญา (UTA) ได้เข้าสำรวจพื้นที่โครงการเรียบร้อย และได้ก่อสร้างรั้วมาตรฐานเขตการบิน (Airside) ความ ยาว 4.9 กิโลเมตร แล้วเสร็จประมาณ 95% เพื่อรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในช่วงการก่อสร้าง พร้อมจัดทำค่าระดับในพื้นที่โครงการ และกำหนดแนวเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอาคารผู้โดยสารกับสถานีรถไฟความเร็วสูง งานจัดทำแผนแม่บทสนามบินฉบับสมบูรณ์ กำหนดส่งมอบตามสัญญาในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา และงานออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาระดับโลก กลุ่มบริษัท SOM (Skidmore, Owings and Merrill LLP : SOM) เพื่อออกแบบร่างขั้นต้นของอาคาร

 

 สำหรับกิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Technical Zone : ATZ) สกพอ. เตรียมพัฒนาพื้นที่ประมาณ 539 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางพัฒนาธุรกิจด้านอากาศยาน

 

 ปัจจุบัน สกพอ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทและวางผังภายในพื้นที่กิจกรรม ATZ และมีแผนจัดทำการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (International Market Sounding) เพื่อศึกษาภาพรวมตลาดและเชิญชวนนักลงทุนในระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน 2564 ซึ่งการดำเนินการ ATZ คาดว่าจะเพิ่มอัตราการจ้างงานด้านอุตสาหกรรมการบินกว่า 3,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ภาครัฐจากเอกชนที่เข้ามาลงทุน เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนธุรกิจอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการบินในระดับภูมิภาคเอเชีย

 

แหลมฉบังรอลงนามสัญญา

 รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับจากโครงการฯ เป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับตามที่มติครม.ได้อนุมัติไว้

 

 ทั้งนี้ คณะทำงานเจรจาร่างสัญญาฯ ที่มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้ดำเนินการพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน และได้ประชุมคณะทำงานแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง โดยยึดหลักเจรจาตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส รัดกุม และประเทศได้ประโยชน์สูงสุด โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้ สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว จะดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป