เอส.พี.ดี เอ็นเตอร์ไพร์ซ ผนึกพันธมิตรแอฟริกา ตั้งศูนย์กระจายสินค้า 2 ทวีป

13 ก.ค. 2564 | 19:09 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 02:33 น.

เอส.พี.ดีเอ็นเตอร์ไพร์ซ ผงาด ผนึกความร่วมมือพันธมิตรทางการค้าไทย-แอฟริกา ตั้งศูนย์กระจายสินค้าในกรุงเทพ-เคนยาเป็นประตูการส่งออก-นำเข้าสินค้า ยึดหัวหาดตลาดแอฟริกา วางเป้าส่งออกไม่ต่ำกว่า 200 ล้านต่อปี นำร่องข้าวหอมมะลิ ซีเรียล ชา กาแฟเพื่อสุขภาพ

นางสาวกรชวัล    สมภักดี  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส.พี.ดี เอ็นเตอร์ไพร์ซ จำกัด   เผยว่า   เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากสมุนไพรของไทยและสินค้านวัตกรรมการเกษตรต่าง ๆ ที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ    เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทฯ ได้ทำพิธีลงนามการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับ Kenthai Global Steering Limited พันธมิตรทางการค้าระหว่างประเทศ ไทย-เคนยา-แอฟริกา  

 

สำหรับความร่วมมือประกอบด้วย 1.ด้านการก่อตั้งศูนย์แสดงสินค้าและกระจายสินค้าไทย-แอฟริกา ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย  2.ด้านการก่อตั้งศูนย์แสดงสินค้าและกระจายสินค้าไทย-แอฟริกา ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา  3.ด้านความร่วมมือในด้านธุรกิจการค้าการลงทุนและการตลาดร่วมกัน 4.ด้านความร่วมมือในการนําสินค้าไทยสู่ประเทศสาธารณรัฐเคนยา และ ประเทศในทวีป แอฟริกา และ 5 ด้านความร่วมมือด้านธุรกิจการค้าการลงทุนเกี่ยวกับการนําสินค้าไทยสู่ตลาดออนไลน์ ณ กรุงไนโรบี ประเทศสาธารณรัฐเคนยา เพื่อมุ่งสู่ตลาดออนไลน์ในทวีปแอฟริกา 

 

เอส.พี.ดี เอ็นเตอร์ไพร์ซ ผนึกพันธมิตรแอฟริกา ตั้งศูนย์กระจายสินค้า 2 ทวีป

 

นอกจากนี้ภายใต้บันทึกข้อตกลงยังครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมนวัตกรรมและการเรียนรู้ด้านการเกษตร การปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส่งเสริมการปลูกข้าวออร์แกนิค  ปลูกชา การทำโรงงานสี โรงงานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป กลุ่มซีเรียล ชา การเกษตรอย่างครบวงจรสำหรับส่งออกไปยังสาธารณรัฐเคนยาและประเทศในทวีป แอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำการเกษตรเป็นหลัก 

 

 "การลงนามความร่วมมือระหว่างบริษัท เอส.พี.ดี เอ็นเตอร์ไพร์ซฯของไทยกับ Kenthai Global Steering Limited พันธมิตรทางการค้าระหว่างประเทศ ไทย-เคนยา-แอฟริกา ในครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในการที่ผู้ประกอบการด้านภาคเกษตรของไทย ในการบุกเบิกขยายช่องทางตลาดใหม่ ๆ  เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน เนื่องจากการเป็นการเปิดมิติใหม่ ๆ นำไปสู่การผลักดันให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการคนไทย ที่จะนำสินค้าไปขายที่แอฟริกา”

 

ทั้งนี้สถานที่ตั้งในกรุงเทพมหานครเพื่อรับรองคู่ค้าที่จะเดินทางมาที่เมืองไทย เพื่อเจรจาการแลกเปลี่ยนทางการค้าการลงทุนต่างๆตลอดจนมี Nairobi, Kenya Hub กระจายสินค้าในการรองรับสินค้าไทย เพื่อการกระจายสินค้าไปทั่วภูมิภาคแอฟริกาโดยวางเป้าหมายมูลค่าขั้นต่ำ 200 ล้านบาทต่อปี  รวมทั้งยังเป็นการช่วยเผยแพร่วัฒนธรรม การท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย ส่งเสริมเอกลักษณ์ ภาพลักษณ์ของคนไทยอีกทางหนึ่งด้วย

 

นางสาวกรชวัล   กล่าวด้วยว่า   สำหรับศูนย์แสดงสินค้าและกระจายสินค้าไทย-แอฟริกาจะมีการจัดตั้งขึ้นใน 2 ประเทศคือ ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยและกรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา  จะทำหน้าที่คัดสรรสินค้าคุณภาพ และจับมือกับบริษัทต่าง ๆ ที่จะมาเป็นพันธมิตรในการนำสินค้าไทยไปสู่ตลาดแอฟริกาและเป็นตัวแทน(Trade)ในการกระจายสินค้าให้ผู้ประกอบการไปด้วย  

 

เอส.พี.ดี เอ็นเตอร์ไพร์ซ ผนึกพันธมิตรแอฟริกา ตั้งศูนย์กระจายสินค้า 2 ทวีป

 

นอกจากนี้เพื่อให้สินค้าในแบรนด์ของบริษัทฯและในเครือ ได้มีโอกาสออกสู่ตลาดแอฟริกามากขึ้น  รวมถึงสินค้าของผู้ประกอบการอื่น ๆ พันธมิตรทางการค้าอื่นที่ต้องการนำสินค้าเข้าไปจัดจำหน่ายที่แอฟริกา  การประชุมจับคู่ธุรกิจ Business Matching  การจัดแสดงสินค้า Fair/ Exhibition ในแต่ละประเทศ  การเป็นผู้นำที่จะนำสินค้าไทยเข้าสู่ Departmentstore & Supermarket ต่าง ๆ ในแอฟริกา  การนำสินค้าเข้าสู่ Platform หรือ Application ต่าง ๆ  โดยเชื่อมต่อกับ Jumia Online  การสร้างธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านกาแฟ  แลกเปลี่ยนระหว่างกัน   การส่งเสริมสินค้า OTOP ไทย เข้าสู่ตลาดแอฟริกาและการนำเข้าสินค้าจากแอฟริกา เพื่อการจัดจำหน่ายที่ประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มชา กาแฟ และการเกษตรเป็นต้น  

 

 

ด้านนายปกรณ์ ปั้นลี้ ประธาน บริษัท kenthai global steering limited​ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแอฟริกามีแนวโน้มการบริโภคและการนำเข้าสินค้าข้าวและอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป  สินค้าสมุนไพร มุ้งลวดและโครงสร้างต่าง ๆ สูงขึ้น เนื่องจากภาคการผลิตของแอฟริกายังไม่สามารถตอบสนองความต้องการภายในประเทศได้เพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก รวมทั้งภาพลักษณ์สินค้าและบริการของไทยต่อสายตาชาวแอฟริกา ก็ถือว่ามีภาพลักษณ์ที่ดีมาก

 

เอส.พี.ดี เอ็นเตอร์ไพร์ซ ผนึกพันธมิตรแอฟริกา ตั้งศูนย์กระจายสินค้า 2 ทวีป

 

สำหรับสินค้าไทยในแอฟริกาใต้ที่ได้รับความนิยมมาก เช่น ข้าวไทย จากผลการสำรวจในห้างค้าปลีกรายใหญ่ในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก คนส่วนใหญ่จะหยิบข้าวไทยก่อน   ส่วนแนวโน้มความต้องการสินค้าแอฟริกาของไทยเท่าที่ศึกษา   ส่วนใหญ่จะเป็น น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ เศษโลหะ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องเพชรและอัญมณี ทองคำ ในเรื่องอาหาร ผลไม้ อะโวคาโด  แมคคาเดเมีย กาแฟ ชา  เนื้อสัตว์  ขนสัตว์ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศไทย ดังนั้นแอฟริกาจัดเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของไทยในอนาคตอีกเช่นกัน 

 

 “สาเหตุที่เลือกจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้าและกระจายสินค้าไทย-แอฟริกานำร่องที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เนื่องจากเห็นว่า เคนยาเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก มีเครือข่ายการเชื่อมโยงคมนาคมที่ดี มีท่าเรือสำคัญ มีเส้นทางรถไฟและการบินเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งใช้เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาได้อย่างดี”

 

สินค้าที่ทางแอฟริกามีความสนใจในสินค้าไทย  ประกอบด้วย สินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป โดยเฉพาะ เครื่องเทศ ข้าว ข้าวหอมมะลิ  ซีเรียล  สินค้ากลุ่มสุขภาพ ความสวยงาม อาทิ  คอลลาเจน ชา กาแฟ เพื่อสุขภาพ เป็นต้น  

 

สำหรับสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปยังยังแอฟริกาใต้ที่ผ่านมา  มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 598.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือคิดเป็นร้อยละ 0.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย) โดยสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดได้แก่ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น 

 

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเคนยา ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก    การนำเข้าสินค้าจากแอฟริกาใต้ของไทยมีมูลค่าประมาณ 379.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย)   สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเคนยา ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป แผงวงจรไฟฟ้า สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค