"พาณิชย์"ปั้น Gen Z เป็นซีอีโอ ตั้งเป้า15,000ราย สร้างแม่ทัพส่งออกรุ่นใหม่

13 ก.ค. 2564 | 17:19 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 00:27 น.

“จุรินทร์”ลุยโครงการ Gen Z to be CEO ปั้นนิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ เป็นซีอีโอ ตั้งเป้าปีนี้ 15,000 ราย เปิดพื้นที่พิเศษให้มีโอกาสทำตลาดต่างประเทศ มั่นใจเกิดแม่ทัพส่งออกรุ่นใหม่ ทำการค้าระหว่างประเทศ และนำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น

 

 


         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานให้โอวาทพิเศษในพิธีเปิดโครงการ From Gen Z to be CEO ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด และสถาบันการศึกษาเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,500 ราย  ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญที่จะผลักดันคน Gen Z ให้เป็นซีอีโอในอนาคต เพื่อทำรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และประเทศ จึงได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 93 แห่ง เซ็น MOU ในการพัฒนา Gen Z ให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าไว้ 12,000 คน แต่สมัครมาจนถึงขณะนี้แล้ว 14,000 กว่าคน คิดว่าอีกไม่กี่วันจะถึง 15,000 คน ซึ่งได้อบรมไปแล้ว 3,700 คน ที่เหลืออีกหมื่นกว่าคน มีแผนอบรมให้จบภายในปีนี้ ทำให้อย่างน้อยปีนี้ จะมี Gen Z ผ่านการอบรมเป็นซีอีโอยุคใหม่ไม่ต่ำกว่า 15,000 คน

\"พาณิชย์\"ปั้น Gen Z เป็นซีอีโอ  ตั้งเป้า15,000ราย สร้างแม่ทัพส่งออกรุ่นใหม่
  สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรม กระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายพิเศษ สำหรับซีอีโอรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ โดยจะเปิดพื้นที่เป็นพิเศษให้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาด ซึ่งหากมีการจัดงานแสดงสินค้า

และเปิดให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เข้ามาเลือกซื้อสินค้า หรือเข้าชมงานผ่านทางออนไลน์ ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง เล็ก และย่อม (ไมโคร เอสเอ็มอี) เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ได้มีพื้นที่พิเศษ นำสินค้ามาจัดแสดง ซึ่งจะกันที่ไว้ให้ 5% 10% หรือ 15% ให้มีโอกาสในการนำสินค้าและบริการไปขาย และยังจะนำไปบุกตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ด้วยทั้งนี้ ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว จะช่วยสร้างแม่ทัพรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่มเติมให้กับการส่งออกของประเทศ เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีเอสเอ็มอีส่งออก 30,000 ราย จากเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย ซึ่งยังไม่พอ ต้องหารุ่นใหม่มาเพิ่ม ทำให้เป็น 35,000 , 40,000 , 50,000 และเป็น 1 แสนราย เพื่อเป็นแม่ทัพบุกตลาดโลก ทำรายได้เข้าประเทศ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ต่อไป ซึ่งการปั้น Gen Z ให้เป็นซีอีโอ ก็เป็นหนึ่งในการเตรียมการสร้างแม่ทัพส่งออกรุ่นใหม่ ที่จะทำรายได้เข้าประเทศในอนาคต
  “ภาคการส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ การส่งออกเดือนพ.ค.2564 เดือนเดียว ทำได้ 7 แสนล้านบาท เพิ่ม 41.59% ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานหนักของทีมเซลส์แมนกระทรวงพาณิชย์ ที่ประกอบด้วยพาณิชย์จังหวัดในฐานะเซลส์แมนจังหวัด และทูตพาณิชย์ในฐานะเซลส์แมนประเทศ โดยมีตนเป็นหัวหน้าทีมเซลส์แมน และการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์ ที่แก้ไขปัญหา อุปสรรค และขับเคลื่อนการส่งออก โดยคาดว่าตัวเลขในเดือนมิ.ย.2564 ที่ยังไม่ออก ก็น่าจะบวกอย่างน้อย 2 หลัก”

นอกจากนี้ ยังมีการค้าชายแดนที่สำคัญ และเป็นส่วนช่วยเพิ่มตัวเลขการส่งออก โดยหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีปัญหาการปิดด่านรอบประเทศ ทั้งเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย รวมถึงด่านที่ข้ามไปเวียดนาม ไปจีน ซึ่งได้พยายามเร่งรัดให้มีการเปิดด่านเพิ่มเติม เพื่อให้ทะลุทะลวง ขับเคลื่อนการค้าชายแดนไปได้ รวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรค ไม่ให้ติดขัด โดยปัจจุบันมี 97 ด่าน ปิดไปครึ่งหนึ่ง เหลือ 46 ด่านที่เปิดอยู่ ก็จะร่วมมือกับภาคเอกชน เร่งรัดเปิดด่านให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น

 ส่วนนโยบายการขับเคลื่อนส่งออก ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต โดยผลักดันให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ในด้านตลาด ได้เร่งรัดทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนของเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศ และยังได้ปรับรูปแบบการส่งเสริมการส่งออก จากออฟไลน์สู่ออนไลน์ และไฮบริด ทำให้ไทยขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19