ส่องเงื่อนไข ร่างกฎหมายเรียกรถรับจ้างผ่านแอป มีอะไรบ้าง เช็กที่นี่

27 พ.ค. 2564 | 15:41 น.
581

“คมนาคม” สั่งกรมขนส่ง เร่งจัดทำข้อมูล-อัตราค่าโดยสารผู้ให้บริการผ่านแอปฯ เตรียมออกกฎหมายเรียกรถรับจ้างผ่านแอป เริ่มมีผลบังคับใช้ ก.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งรัดดำเนินการรถยนต์รับจ้างทางเลือกผ่านแอปพลิเคชัน ว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ. ) ดำเนินการกำหนดอัตราค่าโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์, หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองระบบอิเล็กทรอนิกส์  และผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องหมายสำหรับรถยนต์รับจ้างทางเลือกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์, หลักเกณฑ์และวิธีการวัดกำลังของเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้า, เงื่อนไขและขั้นตอนในการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างทางเลือกดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนที่มีความประสงค์ที่จะประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างทางเลือกสามารถไปสมัครเป็นสมาชิกกับผู้ให้บริการรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ใช้ในการให้บริการ นำหลักฐานต่าง ๆ พร้อมรถยนต์ส่วนบุคคลมาเปลี่ยนประเภทการจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้าง ก่อนออกให้บริการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะจะไม่เสียค่าใช้บริการใดๆทั้งสิ้น หลังจากนั้นทางกระทรวงจะออกประกาศกฎกระทรวง ซึ่งมีผลบังคับใช้ภายในเดือนก.ค.2564

 

ส่องเงื่อนไข ร่างกฎหมายเรียกรถรับจ้างผ่านแอป มีอะไรบ้าง เช็กที่นี่

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า  ทั้งนี้รถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันจะต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 9 ปี ซึ่งสอดคล้องกับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (รถแท็กซี่) ในปัจจุบัน รวมทั้ง มีอัตราค่าโดยสารตามขนาดของรถและมีมาตรฐานเทียบเท่ากับรถแท็กซี่ในปัจจุบันในฝั่งของผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีสถานที่ประกอบการในประเทศไทย และได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ด้านผู้ขับรถจะต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ และผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ด้านตัวรถจะต้องมีการทำประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร และมีการติดเครื่องหมายแสดงการเป็นรถยนต์รับจ้างทางเลือก ซึ่งต้องเป็นรูปแบบที่ประชาชนสังเกตได้ง่ายและชัดเจน โดยรถยนต์รับจ้างทางเลือกผ่านแอปพลิเคชันสามารถให้บริการผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น ไม่สามารถรับผู้โดยสารจากการโบกเรียกข้างทางได้ เพื่อให้ภาครัฐสามารถควบคุมกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยและเป็นธรรมในการให้บริการ และส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันสามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้อง และเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนต่อไป

 

“ได้เร่งรัดให้กรมการขนส่งทางบกพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเป็นทางเลือกให้รถแท็กซี่ใช้แทน GPS ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ ภายในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายแล้วเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้ขับรถแท็กซี่ด้วย เนื่องจากแอปพลิเคชันที่อยู่ระหว่างพัฒนานั้น ผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันได้ โดยมีกรมการขนส่งทางบกทำหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ และติดตามรถแท็กซี่เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร”

 

ส่องเงื่อนไข ร่างกฎหมายเรียกรถรับจ้างผ่านแอป มีอะไรบ้าง เช็กที่นี่

สำหรับการกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นๆสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้ 1.รถขนาดเล็กและรถขนาดกลาง ระยะทางไม่เกิน 2 กม.แรกไม่เกิน 50 บาท กม.ต่อไป คิดอัตราไม่เกิน 12 บาทต่อกม. กรณีรถติดคิดอัตรา ไม่เกิน 3 บาทต่อนาที ส่วนค่าบริการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ค่าเรียกผ่านศูนย์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่เกิน 50 บาท ค่าบริการเพิ่มกรณีอื่นตามที่กระทรวงคมนาคมประกาศกำหนด (ค่าใช้บริการเร่งด่วน: RUSH HOUR) ไม่เกิน 200 บาท  2.รถขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กม.แรก ไม่เกิน 200 บาท กม.ต่อไป คิดอัตราไม่เกิน 30 บาทต่อกม. กรณีรถติดคิดอัตราไม่เกิน 10 บาทต่อนาที ส่วนค่าบริการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ค่าเรียกผ่านศูนย์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่เกิน 100 บาท ค่าบริการเพิ่มกรณีอื่นตามที่กระทรวงคมนาคมประกาศกำหนด (ค่าใช้บริการเร่งด่วน: RUSH HOUR) ไม่เกิน 200 บาท

 

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า  ส่วนคุณสมบัติของผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ดังนี้ 1.เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนภาในประเทสไทย 2.มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท 3.มีสถานที่ประกอบการในประเทศไทย 4.มีความพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยการขอรับรองกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ผู้ให้บริการต้องมีเอกสารแสดงการทำงานของแอปฯ (ผู้ขับรถ-คนโดยสาร) หลังจากนั้นคณะกรรมการของกรมฯจะพิจารณาคุณสมบัติผู้ให้บริการและรายละเอียดการทำงานของแอปฯ เพื่ออกหนังสือรับรองและเริ่มให้บริการโดยลงทะเบียนผู้ขับรถและลงทะเบียนผู้โดยสาร

 

ทั้งนี้ในร่างกฎกระทรวง แบ่งรถยนต์รับจ้างออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.รถยนต์ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50-90 kw) เช่นMarch, Vios, City, Mirage 2.รถยนต์ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90-120 kw) เช่น Altis, Civic  3.รถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น Accord, Fortuner โดยการวัดกำลังเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมการขนส่งประกาศกำหนด กรณีที่รถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนมีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 

ส่องเงื่อนไข ร่างกฎหมายเรียกรถรับจ้างผ่านแอป มีอะไรบ้าง เช็กที่นี่

อย่างไรก็ตามด้านรายละเอียดของแอปฯ เป็นแอปพลิเคชัน สำหรับใช้บริการเรียกใช้บริการรถยนต์รับจ้างระบบอิเล้กทรอนิกส์ แบ่งเป็น 2 ระบบ ดังนี้

1.ระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ขับรถ (Driver App)

-ระบบแสดงตัวตน เช่น Pin Code, Fingerprint, Face Scan เป็นต้น

-ระบบคำนวณเส้นทาง  ระยะทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ

-ระบบติดต่อสื่อสารกับผู้โดยสารผ่านเสียงและข้อความ

-มีประวัติการให้บริการ

 

 

2.ระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้โดยสาร (Passenger App)

-ระบบลงทะเบียนผู้โดยสาร

-ระบบเรียกใช้งานรถยนต์รับจ้างแบบทันทีหรือแบบจองล่วงหน้า

-ระบบคำนวณเส้นทาง  ระยะทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ เมื่อกำหนดสถานที่รับ-ส่ง และเลือกประเภทที่จะใช้บริการแล้ว

-ระบบเลือกวิธีการชำระค่าโดยสาร

-ระบบติดต่อผู้สื่อสารกับผู้ขับรถผ่านเสียงและข้อความ

-ระบบขอความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุฉุกเฉิน

-ระบบประเมินความพึงพอใจแสดงข้อเสนอแนะและแจ้งข้อร้องเรียนในการใช้บริการ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง