“สุเอซ” ผุดโรงงานรีไซเคิลพลาสติกแห่งแรกในเอเชีย

04 ธ.ค. 2563 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2563 | 17:12 น.
807

“สุเอซ” ผุดโรงงานรีไซเคิลพลาสติกแห่งแรกในเอเชีย หวังช่วยลดผลกระทบจากวิกฤติมลภาวะพลาสติก

นายสตีฟ คลาร์ก ประธานบริหารบริษัท สุเอซ เอเชีย เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการเปิดโรงงานพอลิเมอร์หมุนเวียนแห่งแรกในเอเชีย ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนท่ามกลางสภาวการณ์ที่ท้าทายของโลกจากการระบาดทั่วของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) โดยโรงงานรีไซเคิลพลาสติกดังกล่าวจะสามารถแปรรูปขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก 30,000 ตัน เป็นเม็ดพลาสติกใช้ใหม่ (post-consumer recycled - PCR) ที่จะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤติมลภาวะพลาสติกในระยะยาว

ทั้งนี้  จะมีอัตราการบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ที่สูงที่สุดถึง 94% สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยสู่ชั้นบรรยากาศได้ราว 35,000 ตันต่อปี เทียบได้กับการปลูกต้นไม้กว่า 1.5 ล้านต้น  โดยในปัจจุบัน ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกประมาณ 300 ล้านตันต่อปี ซึ่งพลาสติกจำนวนนี้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์  ขณะที่ขยะพลาสติกกว่า 8 ตันทั่วโลกถูกทิ้งลงมหาสมุทร  โดยที่ส่วนใหญ่เป็นขยะที่มาจากภูมิภาคเอเชีย สำหรับประเทศไทย มีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี แต่มีปริมาณขยะพลาสติกเพียงหนึ่งในสี่ส่วนเท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล

“เราจำเป็นต้องวางแผนระยะยาว และในวันนี้เราก็ได้มีทางออกให้กับชุมชน กับการเปิดโรงงานรีไซเคิลพลาสติกแห่งแรกของสุเอซ กรุ๊ปที่อยู่นอกทวีปยุโรป ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และพลิกวิกฤติมลภาวะพลาสติก ซึ่งเราเองก็รู้สึกยินดีที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่าพลาสติก เพื่อให้เราสามารถเข้าใกล้วันที่มหาสมุทรจะไร้ซึ่งพลาสติกไปอีกก้าวหนึ่ง”

“สุเอซ” ผุดโรงงานรีไซเคิลพลาสติกแห่งแรกในเอเชีย

นายสตีฟ กล่าวต่อไปอีกว่า โรงงานพอลิเมอร์หมุนเวียนของสุเอซ จะทำการรีไซเคิลพลาสติกโพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) และขยะฟิล์มพลาสติก โพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (LLDPE) โดยนับเป็นโรงงานรีไซเคิล LDPE ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ด้วยมาตรฐานสูงสุดตามระเบียบข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม โรงงานแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากห้องปฏิบัติการด้านนวัตกรรมพลาสติก PLAST’lab®  จากประเทศฝรั่งเศส เพื่อช่วยกำหนดมาตรฐานและวัดผลการผลิตพลาสติกรีไซเคิล PCR ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า

สำหรับการผลิตพลาสติกรีไซเคิล 1 พันตัน จะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันได้ถึง 5 บาร์เรล ซึ่งเท่ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 1.6 ตัน ในแต่ละปีบริษัทสามารถแปรรูปขยะพลาสติกเกือบ 400,000 ตันจากโรงงานเฉพาะทางทั้งเก้าแห่งทั่วโลก และผลิตพอลิเมอร์หมุนเวียนได้ราว 150,000 ตัน

นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก ที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติก และยังเป็นสมาชิกของโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน สังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปกป้องมหาสมุทรและอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อม