เปิดเบื้องหลัง ล้มดีลเจรจา "ซีพี-เบียร์ช้าง" ตั้งบริษัทร่วมค้ากับสถาบันเกษตรกรซื้อใจชาวสวนยาง

02 พ.ค. 2561 | 13:16 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2561 | 18:17 น.
- 2 พ.ค. 61 - จากกรณี "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับที่ 3,360 วันที่ 26-28 เมษายน 2561 เสนอข่าว ""ดึงซีพี-ไทยเบฟ" ร่วมค้ายาง กยท.ดอดเจรจาลับหลังปิดดีลบริษัทร่วมทุน 5 เสือ" นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีหนังสือสั่งการด่วนที่สุด ถึงกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เลขที่ กษ 2900.03/0075 ลงวันที่ 27 เมษายน 2561 โดย กยท.ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวเนื้อหาในการนำเสนอข่าวดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง จนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนด้านเนื้อหาข่าวสาร ต่อสาธารณชน จึงขอให้ทางบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจทบทวนการนำเสนอประเด็นข่าวดังกล่าวด้วย

นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชยสท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าในวันที่มีการเจรจา (วันที่ 23 เม.ย. 61) ระหว่างผู้แทนเครือซีพี และผู้แทนจากบริษัท เทอราโก เฟอร์ติไลเซอร์ฯ ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ที่สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีความสนใจจะร่วมทุนกับ กยท.ในการซื้อขายยางพารานั้น เป็นวันเดียวกันกับที่นายเยี่ยมนัดหารือย่อยกับตัวแทนเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งผมอยู่ด้วย วันนั้นนายเยี่ยม หันมาถามความคิดเห็น

"ผมบอกไปตรง ว่าไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเครือซีพี จะว่าผมอคติก็ได้ผมยอมรับเพราะผมไม่คิดว่าพ่อค้าจะช่วยชาวสวน แต่ถ้าร่วมกับสถาบันเกษตรกร นอกจากจะได้เสียงเชียร์แล้วจะได้ความร่วมมือทั้งประเทศ นี่แหละที่มาของการร่วมไม้ร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 นับว่าเป็นครั้งแรกที่เห็นชาวสวนยางตื่นตัว พร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือจากทุกกลุ่ม"

สอดคล้องกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรแห่งประเทศไทยไทย (สยยท.) กล่าวว่า วันนั้นดีใจที่นายเยี่ยมก็ออกตัวเลยว่าอยากจะร่วมทุนกับสถาบันเกษตรกรมากกว่า เพราะหากลงทุนกับเอกชนภาพลักษณ์ไม่ต่างจากบริษัทร่วมทุนยางพารากับ 5 บริษัทค้ายางรายใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งผมเห็นด้วยทันที ที่ผ่านมาทาง สยยท. ได้พยายามเสนอมาโดยตลอด นับตั้งแต่วันแรกที่ พ.ร.บ.ฯ ประกาศใช้ฯ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558 แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีผู้บริหารคนไหนที่รับฟัง และนำไปปฏิบัติจริง แต่นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศพร้อมที่จะช่วยเหลือและเป็นกองหนุน

"ผมรู้สึกห่วงรักษาการคนใหม่ ที่เข้ามาแก้ปัญหาที่ทับถมมาจากผู้ว่าฯ คนก่อน แต่ที่น่าสลดใจที่สุดจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ายผู้ว่าฯ ไปนั่งรับเงินเดือน 1.3 แสนบาท/เดือน โดยไม่ต้องทำอะไรไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่รักษาการผู้ว่าฯ ต้องมานั่งรับผิดชอบมาสะสางปัญหาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แล้วอย่างนี้จะมีกำลังใจแก้ปัญหาอย่างไรผมอยากให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช และ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด กยท.ฯ จะต้องลงมาดูแล แล้วรีบแก้ปัญหาโดยเร็ว"