บทบาทของทรัมป์...กับภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกและไทย

17 พ.ย. 2567 | 16:23 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 16:49 น.

บทบาทของทรัมป์...กับภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกและไทย : คอลัมน์เปิดมุมคิด ดร.ธนิต โสรัตน์ : โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

การชนะเลือกตั้งของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2568 ด้วยนโยบายสุดโต่ง “Extreme policy” มีผลทำให้คนสหรัฐอเมริกา เทคะแนนให้กับคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) อย่างท่วมท้น ทิ้งห่าง นางคามาลา แฮร์ริส ซึ่งก่อนเลือกตั้งเป็นตัวเต็งอย่างขาดลอย 

ปฏิกิริยาตอบรับการเข้ามาของ “ทรัมป์” ที่ชัดเจนคือ ช่วงสิบวันหลังชนะเลือกตั้ง ที่เห็นชัดเจน อัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐเทียบกับเงินยูโรแข็งค่ามากสุดในรอบสองปี ขณะที่ช่วงเดียวกันเงินบาทเทียบกับเหรียญสหรัฐอ่อนค่า ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน อยู่ที่ 34.863 บาท/USD. หากเทียบกับต้นเดือนอ่อนค่าถึงร้อยละ 2.88 สอดคล้องกับเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาค 

ด้านราคาทองคำตลาดโลกในช่วงเดียวกันตอบสนองเศรษฐกิจสหรัฐราคาลดลงถึงร้อยละ 6.68 ขณะที่ราคาน้ำมันโลก (WTI) ได้รับผลกระทบคาดว่าดีมานด์ความต้องการน้ำมันในอนาคตอาจชะลอตัวทำให้ราคาในช่วงเดียวกันลดลง 3.92 USD./บาร์เรล หรือลดลงร้อยละ 5.43 

ยังไม่ทันที่จะเข้ารับตำแหน่ง “ทรัมป์” ประกาศที่จะออกนโยบายที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเกี่ยวข้องกับกำแพงภาษีการค้ากับจีนอัตราร้อยละ 60 และเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 10 – 20 กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย 

สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย สัดส่วนร้อยละ 18.20 ทิ้งห่างจีนอยู่ในระดับสองสัดส่วน ร้อยละ 11.83 และ ญี่ปุ่น อันดับสามสัดส่วนส่งออกร้อยละ 7.81 คาดว่า ปี พ.ศ. 2567 ไทยจะมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 54,147.9 USD. อัตราการขยายตัวร้อยละ 12.48 เทียบกับ จีน การส่งออกอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.03 

ด้านการนำเข้าปี พ.ศ. 2567 สหรัฐอเมริกา อยู่ในระดับสี่มีสัดส่วนร้อยละ 6.58 อัตราการขยายตัว 3.29 ต่ำสุดในรอบสามปี ขณะที่จีนเป็นคู่ค้านำเข้าอันดับหนึ่งของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 25.5 อัตราการขยายตัวร้อยละ 11.06 ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่อเนื่องมาโดยตลอดโอกาสถูกเช็คบิลจาก “ทรัมป์” ค่อนข้างสูง 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า นโยบายกำแพงภาษีตอบโต้ประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ จะเพิ่มโอกาสความเสี่ยงต่อการลงทุนและการค้าโลก คิดเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 4 จะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจโลก อาจลดลง ร้อยละ 0.3 และการลงทุนลดลงร้อยละ 4

ประเทศที่ได้รับไปเต็มๆ คือ “จีน” จะทำให้การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 70 ผลคือ ทำให้เกิดการชะงักงันต่อภาวะเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเศรษฐกิจอ่อนแอเป็นทุนอยู่แล้ว และลามไปถึงประเทศต่างๆ รวมถึง อาเซียน และ ไทย

เศรษฐกิจไทยทั้งภาคบริการ และการค้าผูกพันกับเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงประมาณ ร้อยละ 93 ของ GDP หาก “ทรัมป์” ตั้งการ์ดกำแพงภาษีและจัดระเบียงโลก “The America First” ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางตามที่ได้หาเสียง จะทำให้การส่งออก ซึ่งเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นอกจากนี้ “IMF” ยังระบุว่า มาตรการของ “ทรัมป์” จะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกปั่นป่วน และแยกส่วนห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมโลกออกจากกัน (Decoupling Policy) อาจกระทบต่อ GDP โลกร้อยละ 7 

คลื่นสึนามิที่จะตามมาจากนโยบาย “ทรัมป์” จีนซึ่งเป็นคู่ค้านำเข้าอันดับสองของสหรัฐฯ รองจากเม็กซิโก อาจโดนกำแพงภาษีถึงร้อยละ 60 ผลคือ สินค้าจีน ซึ่งพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง จะล้นตลาดไหลกลับเข้าไปทุ่มราคาในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป 

ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งไทย ซึ่งมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน จะกลายเป็นถังขยะรองรับสินค้าจำนวนมหาศาลในราคาซึ่งต่ำอย่างน่าประหลาดใจ 

กรณีของไทยซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแหล่งระบายสินค้าราคาถูกจากจีน จะถูกทุนจีนทั้งสีขาวและสีเทา รวมทั้งพ่อค้า-แม่ค้าจากจีน จะเข้ามาเปิดกิจการทั้งล้ง-ร้านค้า ร้านอาหาร โดยเฉพาะการค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งปัจจุบันเข้ามาแย่งชิงตลาดและแย่งอาชีพคนไทยมาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ผลกระทบที่จะตามมา จะทำให้ธุรกิจรายเล็ก-รายใหญ่ จนไปถึงอุตสาหกรรมเจ๊งหรืออยู่ไม่ได้

แม้แต่การลงทุนทางตรง หรือ FDI จากจีนผ่าน “บีโอไอ” ที่อาจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ กำลังเพ่งเล็งว่าหลายประเทศ รวมทั้งไทย สินค้าที่ผลิตใช้ “Local Content” หรือสัดส่วนวัตถุดิบ หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตในประเทศ ซึ่งปกติกำหนดไว้ประมาณร้อยละ 40 

แต่อุตสาหกรรมจากจีน (บางราย) มีการใช้เครือข่ายจากธุรกิจจีน ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยไส้ในเป็นสินค้าจากจีน โดยใช้ “Made in Thailand” ส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีสูง

ที่กล่าวเป็นเพียงบางส่วนที่ไทยทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องมีการตระหนักถึงนโยบายของ “ทรัมป์” ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจ และผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และออกมาตรการที่จำเป็น หรือ เจรจาข้อตกลงกับสหรัฐฯ ที่ทำให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด


หมายเหตุ : สามารถค้นหาบทความทางวิชาการของ ดร.ธนิต โสรัตน์ ได้ที่ เว็บไซต์ www.tanitsorat.com  tanit.sorat