ปัจจัยลบซอฟต์พาวเวอร์ด้านคุณธรรม-จริยธรรมกับดักเศรษฐกิจไทย

18 ม.ค. 2567 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 12:02 น.

ปัจจัยลบซอฟต์พาวเวอร์ด้านคุณธรรม-จริยธรรมกับดักเศรษฐกิจไทย : คอลัมน์เปิดมุมคิด ดร.ธนิต โสรัตน์ โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3958

KEY

POINTS

+ สังคมไทยเริ่มเห็นคนดีลดลง แต่คนที่เห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้น ขาดจิตสำนึกทางบวก

 

+ ปัญหาการทุจริต และ คอร์รัปชั่น กระจายตัวอยู่ในทุกอณูของสังคมไม่ใช่เฉพาะแต่ภาครัฐ แม้แต่ภาคเอกชนก็เป็นปัญหาค่อนข้างมาก

 

+ การที่เศรษฐกิจของเรายังวนเวียนติดกับดัก ไม่สามารถยกระดับไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ไส้ในด้านจิตสำนึกทางบวก ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ประเภทหนึ่ง
 

“SOFT POWER” ที่กล่าวในบทความนี้ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย กำลังผลักดันเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับการนำทุนทางวัฒนธรรม ขนบประเพณี ค่านิยม ภาพลักษณ์-การแต่งกาย อาหาร ศิลปะ และ กิจกรรม รวมถึงเทศกาลพื้นเมืองที่เกี่ยวข้อง เป็นการนำสิ่งเหล่านี้ซึ่งแทบไม่ต้องลงทุนอะไร มาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพลังซอฟต์พาวเวอร์อยู่ในลำดับ 41 จาก 120 ประเทศทั่วโลก (พ.ศ. 2565)  

 

สำหรับซอฟต์พาวเวอร์ที่จะกล่าวเป็นคนละเรื่องกัน เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงจิตสำนึกทางบวก ซึ่งเป็นพลังที่สำคัญในการยกระดับพัฒนาประเทศ ให้หลุดพ้นจากประเทศที่ติดกับดักด้านรายได้ ไปสู่ประเทศที่พัฒนา โดยขอเริ่มเป็นข้อๆ ดังนี้

ปัจจัยด้านคน นอกเหนือจากไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าที่คาด จะกลายเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการเสียชีวิต สัดส่วน 1 ต่อ 1.186 คน ประมาณว่าในหนึ่งทศวรรษจำนวนประชากรของประเทศ จะลดหายไปมากกว่า 1.2 ล้านคน

เมื่อถึงตอนนั้นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังแรงงาน ที่เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ ทั้งด้านการผลิต บริการ และ เกษตรกรรม

ปัญหาที่จะตามมา คือ การบริโภคจะลดลงส่งผลต่อการลงทุนใหม่ และการลดลงของรายได้รัฐจากภาษีในรูปแบบต่างๆ 

ขณะเดียวกัน กลับมีภาระด้านการดูแลคนสูงอายุ ที่แก่แล้วยังจนทำให้มีภาระหนี้ และขาดสภาพคล่องในการดำรงชีวิต ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ผลข้างเคียง คือค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลรักษาพยาบาลประชากรสูงวัย และเบี้ยยังชีพคนชราปัจจุบันใช้งบประมาณรวมกันประมาณ 3.2 แสนล้านบาท ในอีกสิบปีข้างหน้าอาจต้องใช้เงินมากขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 

ปัจจัยด้านจริยธรรมและคุณธรรม สังคมไทยเริ่มเห็นคนดีลดลง แต่คนที่เห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้น ขาดจิตสำนึกทางบวก ทำให้ขาดความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม สถาบันครอบครัวมีความแตกแยก และการทำร้ายเด็ก และล่วงละเมิดทางเพศมีมากขึ้น

ที่เป็นข่าวอยู่ทุกวันคือ คนติดยาเสพติดในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งยาบ้า และที่กำลังมาแรง คือ การเสพใบกระท่อม และ กัญชา ซึ่งยกระดับแปรรูปต่างๆ กลายเป็นสินค้าหาซื้อได้ง่ายๆ ตามริมถนน คดียาเสพติด คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่อยู่ในเรือนจำ เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาโจรกรรม และ อาชญากรรม ในรูปแบบต่างๆ 

ปัจจัยนักการเมืองน้ำเน่า ทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ เริ่มจากการลงทุนซื้อเสีย งซึ่งเป็นความพอใจทั้งผู้ให้และผู้รับ คือ ประชาชนที่ขาดจิตสำนึ กไม่สนใจว่าจะได้นักการเมืองประเภท ขี้เหล้า เสเพล-ก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศ 

โดยเฉพาะนักการเมืองประเภท เจ้าพ่อ-บ้านใหญ่-นักเลง-ค้ายาเสพติด หรือเจ้า มือการพนัน ทั้งแบบเป็นบ่อน หรือ บนเว็บพนันออนไลน์ จะชั่วอย่างไร หรือ เลวอย่างไร ขอให้แจกสตางค์แบบเหมาทะเบียนบ้านก็เลือกหมด 

นักการเมืองพวกนี้ใช้นโยบายหาเสียงแบบไม่รับผิดชอบ เมื่อได้อำนาจรัฐก็ใช้โครงการประชานิยมมอมเมาประชาชน เงินที่ใช้ไปในรูปของงบประมาณ เมื่อเงินไม่พอก็กู้จำนวนมากๆ มาใช้จ่ายเพื่อซื้อใจชาวบ้าน เพื่อหวังผลคะแนนเสียง จะได้อยู่นานๆ มีการแทรกแซงกลไกที่วางไว้ เพื่อให้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจระยะยาว 

นักการเมืองไดโนเสาร์พวกนี้ ผ่านมากี่สมัยก็ไม่สูญพันธุ์ แม้แต่มีอัศวินขี่ม้าขาวทีแรกก็เป็นฮีโร่ พอได้อำนาจก็ยึดติดไม่ต่างกับนักการเมือง ประเด็นนี้เป็นปัญหาสำคัญเป็นกับดักเดินหน้าประเทศ เพราะนักการเมืองและประชาชนที่เลือกเข้ามาสมยอมกันเสียเอง

                         ปัจจัยลบซอฟต์พาวเวอร์ด้านคุณธรรม-จริยธรรมกับดักเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยด้านคอร์รัปชั่น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก จากข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI : Transparency International) มีผลสำรวจดัชนีการรับรู้ทุจริตคอร์รัปชั่นหรือ “CPI : Corruption Perceptions Index” ประจำปี 2566 ไทยอยู่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในลำดับ 4 ของกลุ่มประเทศอาเซียน 

ปัญหาการทุจริต และ คอร์รัปชั่น กระจายตัวอยู่ในทุกอณูของสังคมไม่ใช่เฉพาะแต่ภาครัฐ แม้แต่ภาคเอกชนก็เป็นปัญหาค่อนข้างมาก บางธุรกิจขนาดใหญ่เจ้าของ หรือ ผู้บริหาร ก็เป็นเอง ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ปั่นหุ้น หรือ ตกแต่งบัญชี ให้ดูดีเพื่อหลอกแมลงเม่า บางรายออกหุ้นกู้ทั้งที่รู้ว่าเมื่อครบกำหนดจะไม่สามารถมีเงินมาจ่าย 

สำหรับการคอร์รัปชั่นในภาครัฐ กลายเป็นวัฒนธรรม และมีโครงสร้างที่ซับซ้อนตั้งแต่ระดับการเมือง ไปจนถึงระดับตัวเล็กตัวน้อย แม้แต่องค์กรที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบบางครั้งก็เป็นเสียเองเป็นปัญหาที่แก้ยาก

ที่กล่าวทั้งหมดไม่ได้เหมายกเข่งว่า คนไทย และ นักการเมืองไทย ทั้งหมดจะขาดจริยธรรม-คุณธรรม เพราะคนที่ดีก็มีมาก มิฉะนั้นไทยคงไม่ก้าวมาถึงวันนี้ 

เพียงแต่ต้องยอมรับว่า การที่เศรษฐกิจของเรายังวนเวียนติดกับดัก ไม่สามารถยกระดับไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ไส้ในด้านจิตสำนึกทางบวก ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ประเภทหนึ่ง ที่จะต้องบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน 

ประเด็นคือ ภาคการเมืองจะต้องเป็นตัวอย่างเพื่อชี้ทางให้กับสังคม...แค่นี้ก็ยากแล้ว