วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 13

16 พ.ย. 2567 | 06:00 น.

วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 13 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4045

ความหมายของคำศัพท์ “ทัศนะ” กับ “คติ” สะท้อนให้ฉุกคิดได้ว่า “ใดใดในโลกล้วนลองของ” เพราะว่า “ทัศนะ” คือ “ความเห็น” และ “คติ” คือ “แนวทางที่ใช้เป็นแบบอย่าง” ดังนั้น “ทัศนคติ” จึงหมายความว่า “แนวทางความคิดเห็นที่เป็นแบบอย่าง”

สมมุติให้เห็นภาพว่า ด.ญ. พลิกล็อค เดินซุ่มซ่ามมาชน ด.ช.กลับลำ แรงกระแทกจึงทำให้  เฉาก๊วย ของ ด.ช.กลับลำ ตกหล่นลงไปบนพื้นหญ้า ด.ญ. พลิกล็อค เธอเป็นคน อารมณ์ดี และ มีน้ำใจ ก็ขอโทษแล้วชวนกันไปซื้อ เฉาก๊วย ชดเชยให้สองถุง หลังจากนั้นสองคนนี้ก็เริ่มคุ้นเคยกันตามประสา เนื่องจากเป็นนักเรียนอยู่ห้องเดียวกัน ความเป็นกันเองของ ด.ญ. พลิกล็อค ทำให้ ด.ช.กลับลำ ทึกทักอยู่ในใจว่า เธอชอบเราอ่ะดิ!

หัวใจไวกว่าสมองจึงจับมือเธอเดินแกว่งแขนเพื่อส่งซิกส์ว่า เค้าชอบตะเอง อ่ะ! ด.ญ. พลิกล็อค ตกใจก็ตบแก้มขวาเตือนไปหนึ่งเพี๊ยะ ด.ช.กลับลำ กลายเป็น สหายผู้มีราคา เนื่องจาก แก้มข้างขวา มี “ยี่ห้อฝ่ามือสีชมพู” ประทับฝากความทรงจำเอาไว้ ด.ช.กลับลำ ก็พิมพ์ไว้ในไลน์ว่า “ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม!” (ฮา)

วันดีคืนดี ด.ช.กลับลำ เจอรูปถ่ายของ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ในเว็บไซต์ Pinterest มีคำชี้แนะให้รู้จักสังเกตตัวเราเองว่า นิสัย มี “จริยธรรม” โดดเด่นออกมาทาง ปาก กาย หรือ ใจ ท่าทีลีลา อ่อนโยน  หรือว่า กระด้าง  อย่างเช่น

ปาก  อย่าพูด ให้ ผิดศีล

กาย  อย่าทำ ให้ ผิดศีล

ใจ    อย่าคิด ให้ ผิดศีล 

เวลาล่วงเลยผ่านไปสองปี เพื่อนฝูงเขารู้กันไปทั่วทั้งปฐพีว่า สองคนนี้เขาเป็นแฟนกัน ครั้นเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ด.ญ. พลิกล็อค กับ ด.ช.กลับลำ ยังคงนั่งห่างกันเหมือนกับเพิ่งเจอกันวันแรก 

ด.ญ. พลิกล็อค เธอ เขยิบเข้าไปนั่งใกล้ๆ ด.ช.กลับลำ ก็ไม่กล้าเล่น “มุกปูใต่” (ฮา) ด.ญ. พลิกล็อค หมั่นไส้ เธอก็ตบแก้มซ้ายเรียกสติไปซะหนึ่งเพี๊ยะ ด.ช.กลับลำ กลายเป็น หนูลองยา ราคาสูงกว่าเดิม มี “ยี่ห้อฝ่ามือสีชมพู” โปรโมท ปานนั้น เรตติ้งฉลุยชัวร์ ด.ช.กลับลำ ก็พิมพ์เตือนใจไว้ในไลน์อีกครั้งว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก!” (ฮา) 

ปัญหา มักจะเกิดก่อน ปัญญา และ ปัญญา มักจะเกิดก่อน การตัดสินใจใฝ่ปฏิบัติ การคิด การคัด มักจะเกิดก่อน กิจกรรม กิจกรรม มักจะเกิดก่อน ผลลัพธ์ สรุปกระชับว่า ผลลัพธ์ มักจะเกิดก่อน คติพจน์ ผมชั่งใจว่า ท่านผู้อ่าน กับ ผม มี ค่านิยม สอดคล้องกันว่า “วัฒนธรรม” คือ “ทายาทของทัศนคติ”

กษัตริย์กีรติศรีราชสิงห์ ผู้ครอง อาณาจักรแคนดี้ ศรีลังกา ทรงรับ อันดาเร ให้อยู่ประจำใน ราชสำนัก ของ ชาวสิงหล อันดาเร เป็น คนเจ้าเล่ห์ ฉลาด ชอบล้อเลียนคนอื่น รัฐมนตรีของกษัตริย์ปรึกษากันส่วนตัวว่า “อังดาเร มันชอบเล่นตลกโง่ๆ ตลอดเวลา ทำให้พวกเราดูเหมือนคนโง่ เราจะเอาคืนเขาแบบไหน มันถึงจะดี” 

รัฐมนตรีผู้หนึ่งเสนอไอเดียขึ้นมาว่า “เราจะซ่อนไข่ 5 ฟอง ลงในโคลนก้นบ่อ เสร็จแล้วจะชวน อันดาเร ไปอาบน้ำ เราจะพนันกันว่า ถ้าใครทำไข่ให้โผล่ขึ้นมาจากบ่อ ถือว่าชนะ ใครทำไม่ได้ ก็ต้องแพ้” รัฐมนตรี อีกคนหนึ่งเสนอว่า “เราทูลเชิญ พระราชา มาอาบน้ำกับเราด้วย อังดาเร จะได้กลายเป็นคนโง่ต่อหน้าพระราชา”

เมื่อมากันพร้อมเพรียง เหล่าเสนาบดี กับ อันดาเร ว่ายน้ำ และ อาบน้ำ ด้วยความสนุกสนาน ได้ฤกษ์เชือดเหยื่อ รัฐมนตรีก็ดำน้ำลึกลงไปในบ่อน้ำ หยิบไข่ที่จัดวางไว้ในโคลนออกมาให้ อังดาเร ดู แล้วพูดท้าทายว่า “ถ้าท่านงมหาไข่ไม่เจอก็จะกลายเป็นผู้แพ้” 

อังดาเร รู้ว่า กำลังโดนลากขึ้นเขียง วินาทีที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง อังดาเร ดำลงไปแล้วก็โผล่กลับขึ้นมาพร้อมกับตะโกนว่า “กุ๊กกู กุ๊กกู กุ๊กกู” สามครั้ง เหล่ารัฐมนตรีแปลกใจจึงถามคาดคั้นว่า “อะไรกันเนี่ย ไข่อยู่ไหน ล่ะ” 

อังดาเร ตอบประชดกลับว่า “โอ้ ฉันไม่มีไข่ ฉันเป็นไก่ตัวผู้ตัวเดียว พวกคุณล้วนเป็นไก่ตัวเมียทั้งหมด” ใบหน้าของรัฐมนตรีแดงก่ำด้วยความเขินอาย พวกเขาตระหนักได้ว่า เขากำลังหาเหาใส่ตัว กษัตริย์ซึ่งกำลังเฝ้าดูอยู่ก็หัวเราะท้องคัดท้องแข็งจนน้ำตาไหล (ฮา)

กรณีนี้ เสนาบดี กับ บริวาร กำลังพยายามทำประโยชน์ให้โลกเห็นว่าพวกเขาไม่ใช่ “ทายาทของทัศนคติ” เพราะว่า ไม่มี DNA สายวัฒนธรรม  

DNA สายวัฒนธรรมมักจะเป็น นักอ่าน นักเขียน นักดูหนัง นักดูโทรทัศน์ นักท่องเที่ยว มีเยื่อใยในโลกดนตรี จะเข้าถึงศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี ประวัติศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์ มีทักษะการสื่อสาร สามารถเชื่อมโยงกับมุมมองที่แตกต่างกันได้ หากมีทักษะเหล่านี้ดีพอก็จะมีเซ็นส์ในการใคร่ครวญแบบอ่านขาด

เหตุที่เล่าแบบ “ขี่ม้าสามศอกไปบอกแม่ยาย” มันสำคัญตรง “เรื่อง” ที่เอามารายงาน ถ้าคิดจะฟ้องให้เรื่องมันเดิน คิดว่าจะเลือกยื่นเรื่องให้ใคร ระหว่าง วินิจฉัย กับ วินิจเฉย