2 บิ๊กเตือนอันตราย "เหล็ก ZAM" เลี่ยงเอดี ทุบกำลังผลิตไทย -ผู้บริโภคเสี่ยง

20 ก.ค. 2567 | 07:00 น.
2.5 k

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้อุตสาหกรรมเหล็กไทยทั้งระบบเดือดร้อนกันเป็นแถว นอกจากต้องต่อสู้กับการทุ่มตลาดเหล็กราคาถูกจากจีนแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นเรียกว่าเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

2 บิ๊กเตือนอันตราย \"เหล็ก ZAM\" เลี่ยงเอดี ทุบกำลังผลิตไทย -ผู้บริโภคเสี่ยง

ทั้งนี้แม้ไทยจะประกาศบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)กับเหล็กบางประเภทไปแล้ว แต่ผู้นำเข้ายังดิ้นหาช่องนำเข้าเหล็กอีกประเภทที่เป็นการหลบเลี่ยงการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การนำเข้า (Anti Circumvention : AC) สร้างความเสียหายให้กับกลุ่มผู้ผลิตเหล็กชนิดอื่นๆ ตามมาอีกเป็นหางว่าว

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างไร ฟังจากปากตัวแทนผู้ประกอบการ นายนิพัทธ์ สิทธิเสถียรชัย นายกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือและ นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด

ผงะแห่นำเข้าเหล็ก ZAM

นายนิพัทธ์ สิทธิเสถียรชัย นายกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือ กล่าวว่า สภาพการแข่งขันในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเนื่องจากหลังการประกาศบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) จะพบว่าตัวเลขการนำเข้าเหล็กเคลือบประเภท GI มีตัวเลขลดลงอย่างมีนัย ขณะเดียวกันตัวเลขการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีผสมอลูมิเนียมและแมกนีเซียมแบบจุ่มร้อน (ZAM) กลับมีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นมาใช้ทดแทน ซึ่งเป็นการหลบเลี่ยงการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การนำเข้า หรือ AC

ทั้งนี้เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนเป็นเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือชนิดหนึ่ง และในกลุ่มของสมาคมฯ จะมีประเภทของโลหะเคลือบบนแผ่นเหล็กหลายประเภท เช่น เคลือบสังกะสีอลูมีเนียม (Aluzinc หรือ Galvalume) เคลือบสังกะสีอลูมีเนียมและแมกนีเซียม (ZAM) เป็นต้น

2 บิ๊กเตือนอันตราย \"เหล็ก ZAM\" เลี่ยงเอดี ทุบกำลังผลิตไทย -ผู้บริโภคเสี่ยง

เตือนผู้บริโภคระวังอันตราย

ปัจจุบันไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) กับสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนกับประเทศจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน รวมถึงสินค้านี้ยังมีมาตรฐานบังคับ มอก. 50 ซึ่งหลังจากที่ได้มีการประกาศบังคับใช้มาตรการ AD และ มอก. 50-2561 แล้ว ผู้นำเข้าได้มีการหลบเลี่ยงมาใช้สินค้าเหล็กเคลือบประเภท ZAM ทดแทนเพื่อเป็นการหลบเลี่ยงอากร AD และหลบเลี่ยง มอก.บังคับ เนื่องจาก มอก. 50-2561 มีการกำหนดคุณภาพชั้นเคลือบขั้นตํ่าที่ Z60 แต่สินค้าเหล็กเคลือบประเภท ZAM นั้นปัจจุบัน พบว่าในท้องตลาดมีสินค้าผิวเคลือบตํ่าเช่น K30-40 เข้ามาจำหน่ายและแปรรูปในประเทศไทย

ทั้งนี้เหล็กดังกล่าวส่งผลต่ออายุการใช้งานที่สั้นลงอย่างมาก จนส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานหรือผู้บริโภค อีกทั้งทางสมาคมยังพบว่าเหล็กเคลือบประเภท ZAM ที่มีการนำเข้ามานั้นอาจเข้าข่ายการหลบเลี่ยงมาตรการด้วยการแก้ไขดัดแปลงสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้เพียงเล็กน้อย โดยไม่มีผลต่อลักษณะหรือคุณสมบัติที่สำคัญของสินค้านั้น ไม่ว่าการแก้ไขดัดแปลงสินค้าดังกล่าวจะทำในประเทศที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้หรือในประเทศอื่น นิพัทธ์ สิทธิเสถียรชัย นายกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือ

“การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การนำเข้าดังกล่าว กระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศในแง่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การจ้างงานลดลง ผู้ผลิตบางรายต้องปิดตัวลง รวมถึงความไม่ปลอดภัยในการใช้งานของผู้บริโภค เช่น สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานบังคับ (มอก.50) ซึ่งจะต้องมีความหนาชั้นเคลือบไม่ตํ่ากว่า 60 กรัมต่อตารางเมตร แต่สินค้าที่มีการนำเข้าพบว่ามีความหนาชั้นเคลือบอยู่ระหว่าง 20-40 กรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น ทำให้อายุการใช้งานสั้นลงอย่างมาก จากประมาณ 5 ปี เหลือเพียง 3-6 เดือนก่อนเกิดสนิม”

สำหรับเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือในประเทศไทยมีผู้ผลิตทั้งสิ้น 8 ราย มีกำลังการผลิตรวม 1.6 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิตตํ่ากว่า 50% และมีการนำเข้าประมาณ 1.3-1.4 ล้านตันต่อปี

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นสนิมภายใน 3 เดือน

ทุบกำลังผลิตเหล็กไทยเหลือ 28%

ด้าน นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการนำเข้าเหล็ก ZAM ที่มีปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศเกิดความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งจากตอนแรกที่สินค้ากลุ่มนี้เข้ามาในประเทศไทยผู้ได้รับความเดือดร้อนคือผู้ผลิตเหล็กเคลือบสังกะสีและเหล็กเคลือบชนิดอื่น ๆ

แต่ปัจจุบันความเสียหายนี้ได้ลุกลามไปถึงกลุ่มผู้ผลิตเหล็กชนิดอื่นๆ ซึ่งตัวเลขการนำเข้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้า ZAM ที่ส่งออกมาจากประเทศจีน ส่งผลให้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศของไทยนั้นลดลงทุก ๆ ปีจนปัจจุบันผลิตต่ำกว่า 28% ของกำลังการผลิตในภาพรวม โดยเหล็ก ZAM นั้นปัจจุบันมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นการนำไปแปรรูปเป็นเหล็กโครงสร้างรับน้ำหนัก เหล็กโครงสร้างผนังและหลังคา

จากข้อมูลการนำเข้าพบว่าเกรดเหล็ก ZAM ที่มีการนำเข้ามานั้นส่วนมากเกินกว่า 80% เป็นชั้นคุณภาพ SGMCC ซึ่งชั้นคุณภาพนี้เป็นชั้นคุณภาพทั่วไป มีค่า tensile ต่ำสุด 270 Mpa ซึ่งไม่ใช่ชั้นคุณภาพสำหรับเหล็กโครงสร้าง ซึ่งถ้าเทียบกับการไปใช้เป็นเหล็กโครงสร้างรับน้ำหนักซึ่งต้องมีค่า Tensile ไม่ต่ำกว่า 400 Mpa เมื่อเทียบกันแล้วเหล็ก ZAM ที่มีการนำเข้ามาค่อนข้างน่ากังวลในแง่ของความปลอดภัยในการใช้งาน และมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องผู้บริโภคและอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศได้แก่

1.การยกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็ก ZAM ขึ้นเป็นมาตรฐานบังคับซึ่งปัจจุบันทาง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้มีการทำแล้วอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณายกร่างมาตรฐานซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่ทางภาครัฐเห็นความสำคัญในการให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

2.เพื่อความเท่าเทียมในการแข่งขันนั้นจึงมองว่าจำเป็นต้องมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ได้มีการนำเข้ามาหลังจากที่มีการประกาศบังคับใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กม้วนรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพื่อความแข่งขันที่เป็นธรรม และเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กของไทย

กวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ความอยู่รอดของอุตสาหกรรมภายในประเทศ จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการทางการค้าที่ปกป้องและสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศก็มีการใช้มาตรการตอบโต้การส่งออกสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศ Section 232 และ 301 ในการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าที่มีการเรียกเก็บอยู่แล้ว สำหรับสินค้าเหล็ก ZAM และสินค้าอื่น ๆ นำเข้าจากจีนในปี 2025 หรือการที่ประเทศเวียดนามได้มีการใช้ AD กับสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งข้อกังวลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากที่สหรัฐอเมริกาหรือประเทศต่าง ๆ ได้มีการบังคับใช้กฏหมายแล้ว สินค้าเหล่านี้จากประเทศจีนจะส่งออกเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน”

นายกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า  มีการเก็บข้อมูลการนำเข้าสินค้าพิกัดหลัก ได้แก่ 7210.49, 7210.61, 7210.69, 7212.30, 7212.50, 7225.92, 7225.99, 7226.99 พบว่าหลังจากมีการประกาศบังคับใช้มาตรการ AD เหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) แล้ว มีผู้นำเข้าซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายเดียวกับผู้ที่นำเข้าเหล็ก GI ที่ถูกบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และจากข้อมูลที่ทางสมาคมฯ ได้มีการจัดเก็บมีมูลเหตุเพียงพอที่เชื่อถือได้ว่าอาจมีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน

ทางสมาคมฯ ได้มีการยื่นคำร้องขอเปิดการไต่สวนให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือ ไปยังกองบริหารการนำเข้าและถิ่นกำเนิด กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567  ส่วนด้านผู้บริโภคควรจะต้องระมัดระวังและทำการตรวจสอบสินค้าเหล็กโดยเฉพาะเหล็กแผ่นเคลือบโลหะว่าจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานของผู้บริโภคเอง

ปัจจุบันผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเหล็กสำหรับ กลุ่มฟาร์มปศุสัตว์ เช่น โครงสร้างโรงเรือน หลังคา กลุ่มก่อสร้าง เช่น ท่อทำความเย็น ประตูชัตเตอร์ โครงสร้างหลังคา โครงสร้างผนัง  ถนนและวิศวกรรมโยธา เช่น การ์ดเรล ผนังกันเสียง โครงสร้างราวสะพาน เป็นต้น ระบบขนส่งทางราง เช่น ท่อระบายอากาศในอุโมงค์ รางสายไฟ ราวกันตก พลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า