รถ EV จีนตีตลาด-เศรษฐกิจซบ-กำลังซื้อหด ทุบเต็นท์รถมือ 2 ฟุบหนัก

23 มิ.ย. 2567 | 08:44 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2567 | 09:03 น.
1.2 k

ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเวลานี้น่าจับตาหลายเรื่อง ทั้งการแข่งขันในยุคที่ต้องแบ่งเค้กให้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่รุกคืบเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ

รถ EV จีนตีตลาด-เศรษฐกิจซบ-กำลังซื้อหด ทุบเต็นท์รถมือ 2 ฟุบหนัก

ขณะที่รถยนต์สันดาปภายใน (IEC) ต้องเร่งปรับตัว อีกทั้งการจัดการกับซากรถยนต์ที่สิ้นอายุการใช้งานที่ไทยยังไม่มีระบบการจัดการเหมือนในต่างประเทศ รวมไปถึงธุรกิจเต็นท์รถมือ 2 ที่ถูกบีบตลาดอย่างหนักหน่วงทำราคาทรุดฮวบ

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ถึงความเคลื่อนไหวในมุมซากรถเก่าและสถานการณ์เต็นท์รถมือ 2 ที่กำลังเป็นที่จับตามอง

สถิติซากรถยนต์เก่าไม่ชัด

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2566 ประเทศไทยมีรถยนต์ (รถเก๋ง ปิกอัพ และรถตู้) สะสมรวมกัน 19.5 ล้านคัน โดยเป็นรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 10 ปี จำนวน 10 ล้านคัน ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีมีนิยามของรถยนต์สิ้นสภาพ (End-of-life: ELV) อย่างเป็นทางการ หากรถยนต์สามารถผ่านเงื่อนไขการตรวจสภาพของกรมการขนส่งทางบก ก็ยังสามารถใช้งานได้ ตราบเท่าที่เจ้าของรถยนต์ยังต้องการใช้งานอยู่ ดังนั้นจากข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์ที่เป็นทางการ จึงเป็นการยากมากที่จะบอกว่าประเทศไทยมี ELV หรือจะมีซากรถยนต์เกิดขึ้นต่อปีจำนวนเท่าใด

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนดว่า เมื่อรถยนต์สิ้นสภาพกลายเป็นซากรถยนต์แล้ว จะต้องดำเนินการโดยใคร หรือด้วยวิธีการใดต่อ แต่ใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการจัดการ เมื่อเจ้าของรถยนต์ไม่ประสงค์ใช้งานรถยนต์แล้ว จะขายรถเข้าสู่ตลาดรถยนต์มือสอง หรืออู่รถยนต์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าผู้รับซื้อจะนำไปปรับปรุงสภาพเพื่อขายต่อ หรือแยกเป็นชิ้นส่วนขาย / ใช้เป็นอะไหล่มือสอง ขึ้นอยู่กับสภาพรถและความต้องการของตลาดในเวลานั้น เศษซากที่เหลือจากการแยกส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น โลหะ (ตัวถัง) ล้อยาง แบตเตอรี่ตะกั่วกรด ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะถูกส่งต่อให้กิจการรับรีไซเคิล ในขณะที่เศษซากที่เหลืออื่น ๆ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าถูกจัดการด้วยวิธีใด

เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

ลุยศึกษาจัดการซากรถ EV

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตจะมีกลุ่มรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) มากขึ้น ซึ่งจะมีชิ้นส่วนใหม่ ๆ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ล่าสุดสถาบันยานยนต์อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องวิธีการจัดการซากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อจัดทำแนวทางการปฎิบัติงานที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ร่วมศึกษาและดำเนินการ

ทั้งนี้จากรถยนต์ไฟฟ้ามีแบตเตอรี่เป็นชิ้นส่วนสำคัญ ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์รับประกันอายุการใช้งานแบตเตอรี่ไว้ที่ 8-10 ปี หากเกินระยะเวลารับประกันหากเจ้าของรถยนต์ต้องการเปลี่ยนแบตเตอรี่ก้อนใหม่ จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ประมาณ 50% ของราคาขายรถ (ในปัจจุบัน) ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ผู้บริโภคจะเลิกใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าคันนั้น ๆ เมื่อแบตเตอรี่หมดระยะการประกัน เนื่องจากการซื้อรถใหม่ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า จะมีความคุ้มค่ามากกว่า เมื่อเทียบกับค่าซ่อมหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ของรถยนต์เก่า

รถ EV จีนตีตลาด-เศรษฐกิจซบ-กำลังซื้อหด ทุบเต็นท์รถมือ 2 ฟุบหนัก

รถยนต์ไฟฟ้าทุบเต็นท์รถมือสอง

เมื่อถามว่าตลาดเต้นท์รถมือ 2 ขณะนี้ระส่ำหนักเพราะอะไร ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า หลัก ๆน่าจะมาจาก  1.การเข้ามาของตลาดรถยนต์จากประเทศจีน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยานยนต์ไฟฟ้า) ทำให้ราคารถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายลดลงในทุก Segment ส่งผลให้รถยนต์ในตลาดมือสองต้องปรับราคาลดลงตามกันไป

2.รถยนต์ไฟฟ้าในระดับ D segment ที่เข้ามาทำตลาด ส่วนหนึ่งได้แย่งตลาดรถยนต์กลุ่ม Luxury ไปด้วย เนื่องด้วยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ และชอบของใหม่ (กลุ่ม Innovator) จึงเลือกที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาป  3.สภาพเศรษฐกิจซบเซากำลังซื้อโดยรวมหดตัวลง 4.การปล่อยสินเชื่อที่ทำได้อยากมากขึ้น เนื่องจากทางไฟแนน:ซ์กังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในระบบ 5.ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะรถยนต์สันดาป  ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่กระทบยอดขายรถยนต์มือสองเท่านั้น ตลาดรถยนต์มือหนึ่งก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน  

“ราคาพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า  โดยเฉพาะในกรณีกลุ่มผู้ที่มีระยะทางวิ่งต่อวันมาก ๆ มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่า เนื่องจากความคุ้มค่าด้านพลังงาน  อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค เช่น ลักษณะการใช้งานของผู้ใช้ ราคารถยนต์  ความสะดวกในการชาร์จไฟ  การบริการหลังการขายของผู้ผลิตรายใหม่ ราคาชิ้นส่วนอะไหล่ ความมั่นใจในการใช้งาน ความชอบส่วนบุคคลของผู้บริโภค เป็นต้น ”

หนี้ครัวเรือน-ภัยแล้งสัญญาณลบ

ส่วนมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจ สำหรับครึ่งปีแรกปี 2567 มองเห็นสัญญาณลบที่รุนแรงคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ( El Nino) ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมลดลง หากยังไม่มีมาตรการจากภาครัฐที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จะทำให้ตลาดรถยนต์ซบเซาต่อเนื่องไปอีก

ส่วนปัจจัยบวกที่อาจส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ คือ มีผู้ผลิต / ผู้นำเข้ารถยนต์รายใหม่ นำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ในตลาดมากขึ้น บวกกับนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.0 และ EV 3.5 ที่ให้ส่วนลดและเงินสนับสนุนการซื้อรถ  อาจช่วยกระตุ้นยอดขายได้บ้าง

คาดผลิต-จำหน่ายรถครึ่งหลังดีขึ้น

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่าครึ่งปีหลังปี 2567 มาตรการ EV3.5 จะช่วยพยุงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไม่ให้ลดลงแบบทันทีหลังจากสิ้นสุดมาตรการ EV3.0 แต่ข้อมูลจดทะเบียนเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมพบว่ามีจำนวนน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ไม่พิจารณา ม.ค. เนื่องจากเป็นยอดจดทะเบียนที่ค้างมาจากมาตรการ EV3.0) เหตุผลส่วนหนึ่งก็อาจจะเนื่องมาจากการเร่งกระตุ้นยอดขาย หรือการเร่งซื้อของผู้บริโภคในปลายปี 2566 ตามนโยบาย EV 3.0 ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ของปี 2566 พุ่งสูงถึงมากกว่า 7 หมื่นคัน จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าปี 2566 จะมียอดขาย BEV ที่ 5 หมื่นคัน  

“อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์ ครึ่งปีหลัง 2567 การผลิตและการจำหน่ายรถในประเทศไทยจะดีขึ้น จากโปรโมชั่นกระตุ้นการขาย ของค่ายรถต่าง ๆ ที่ทยอยออกมากันในช่วงหลังนี้ น่าจะช่วยให้ยอดขายมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้”