ภูมิทัศน์เศรษฐกิจและดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจไตรมาส 2 ปี 2567

15 มี.ค. 2567 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2567 | 14:22 น.

ภูมิทัศน์เศรษฐกิจและดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจไตรมาส 2 ปี 2567 : คอลัมน์เปิดมุมคิด ดร.ธนิต โสรัตน์ : โดย.. ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานบริษัทในเครือ V-SERVE GROUP , รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 6 ฉบับ 3975

ภูมิทัศน์และภาวะเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาขยายตัวในอัตราที่ต่ำเพียงร้อยละ 1.9 เทียบกับ ปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา GDP ของไทยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.8 ต่ำสุดในอาเซียน และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภาคส่งออกหดตัวร้อยละ 1 และการนำเข้าหดตัวร้อยละ 2.7 

มีเพียงภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 28.042 ล้านคน ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดระบาดร้อยละ 30 และเชิงรายได้ต่ำกว่าร้อยละ 40 การผลักดันให้ GDP ขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นพรีเซ็นเตอร์ทำการตลาดช่วง 6 เดือนออกทัวร์ต่างประเทศพบผู้นำและนักธุรกิจชั้นนำทั้งสหรัฐ และ อียู มีการพบผู้นำรัสเซีย และจีนในเวทีโลก 


กระแสจากสื่อในต่างประเทศสะท้อนจากนายกรัฐมนตรีของไทยขึ้นปกนิตยสารไทม์ (Time Magazine ฉบับวันที่ 25 มีนาคม) โดยพาดหัว “The Salesman Thai Prime Minister” เป็นนายกฯ คนที่ 4 ของไทยที่ได้ขึ้นปกไทม์ โดยหวังเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ ซึ่งปีที่แล้ว “BOI” อนุมัติ 2,307 โครงการเม็ดเงินลงทุน 8.483 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16 สูงสุดในรอบห้าปี 

โดยร้อยละ 72 เป็นการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ปัจจุบันนักลงทุนจีนเป็นรายใหญ่สัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของการลงทุน รองลงมาคือ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ซึ่งสัดส่วนการลงทุนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 12

 

ในปีนี้แรงหนุนจะมาจากอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้า (EV) ทั้งค่ายรถยนต์จีน สหรัฐอเมริกา และ เยอรมัน ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตแต่ผลข้างเคียงที่ต้องเตรียมรับมือ คือ ซับพลายเชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ใช้เครื่องสันดาป จะได้รับผลกระทบรุนแรงมีอุตสาหกรรมเป็นพันแห่งและแรงงานเป็นแสนคนที่จะถูกคุกคาม 

สัญญานการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ

ปรากฏการณ์ที่ 1 : ภาคการผลิตมีสัญญานฟื้นตัว ช่วงต้นไตรมาสแรกของปีนี้พบว่ามีสัญญานการฟื้นตัวที่ชัดเจนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เดือนมกราคมที่ผ่านมามูลค่า (USD) ขยายตัวร้อยละ 10 เทียบกับช่วงเดียวกับปีที่แล้ว ขยายตัวร้อยละ 0.96 ความเสี่ยง คือ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอ่อนแอทำให้กำลังซื้อลดลง สัญญานทางบวกเดือนมกราคมส่งออกไป

สหรัฐอเมริกาขยายตัวได้ร้อยละ 13.73, จีนขยายตัวร้อยละ 2.11 เทียบกับปีที่ผ่านมาหดตัว, ญี่ปุ่นส่งออกเดือนมกราคมขยายตัวเพียง ร้อยละ 0.1 เทียบกับปีที่ผ่านมาแทบไม่ขยายตัว ขณะที่ประเทศในอาเซียนจากที่เคยหดตัวเมื่อปีก่อนหน้าการส่งออกกลับมาขยายตัวยกเว้นเพียงประเทศเวียดนามที่ยังติดลบร้อยละ 1.2 

ปรากฏการณ์ที่ 2 : การนำเข้าสินค้ามีการขยายตัว สินค้าประเภททุนและเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 10.2 จากปีที่แล้วทั้งปีขยายตัวร้อยละ 0.96, วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 10.42 เทียบจากปีที่แล้วทั้งปีหดตัวร้อยละ 5.9 และการนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคหดตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.09 เทียบจากปีที่แล้วทั้งปีหดตัวร้อยละ 7.26 

ข้อมูลนี้บ่งบอกว่า ภาคเอกชนมีการลงทุนด้วยการนำเข้าเครื่องจักร ขณะที่มีคำสั่งซื้อทั้งจากการส่งออกและ/หรือขายในประเทศ ทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตเป็นสัญญานทางบวก สอดคล้องกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการคลังสินค้า มีปริมาณสินค้าที่เข้ามาฝากเก็บเพิ่มขึ้นและการเบิกจ่ายถี่ขึ้นอย่างชัดเจน

ปรากฎการณ์ที่ 3 : คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการส่งออกเดือนมกราคม พบว่า คลัสเตอร์ที่หดตัว หรือ ติดลบ มีจำนวน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม เทียบจากปีที่ผ่านมาทั้งปี มีจำนวน 14 คลัสเตอร์

แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัว เช่น ยานยนต์ และ ชิ้นส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และ เคมีภัณฑ์หดตัวต่อเนื่องเข้าปีที่ 4 เครื่องปรับอากาศและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัวต่อเนื่องเข้าปีที่ 3 ฯลฯ

ปรากฎการณ์ที่ 4 : ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจและยอดขายส่วนใหญ่เป็นบวก กลุ่มบริษัทในเครือ “V-SERVE GROUP” มีการจัดทำแบบสอบถามและสำรวจความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ และยอดขายช่วงไตรมาส 2 ปี พ.ศ. 2567 โดยสอบถามผู้บริหารจำนวน 370 สถานประกอบการ ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจและยอดขายไตรมาส 2 จะดีขึ้นร้อยละ 42.43 เท่าเดิมหรือคงที่ร้อยละ 35.95 

และยอดขายอาจลดลงร้อยละ 21.63 หากแยกออกเป็นเซคเตอร์เกี่ยวกับภาคส่งออกยอดขายจะดีขึ้นร้อยละ 69.57 และยอดขายลดลงร้อยละ 23.75

ขณะที่เซคเตอร์ซึ่งจำหน่ายในประเทศ ระบุว่า ยอดขายจะดีขึ้นร้อยละ 40.39 และยอดขายลดลงร้อยละ 27.64 ส่วนต่างที่เหลือระบุว่าเหมือนเดิม ข้อมูลนี้บ่งบอกว่าธุรกิจที่อยู่ในภาคส่งออก มีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จำหน่ายในประเทศ

                         ภูมิทัศน์เศรษฐกิจและดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจไตรมาส 2 ปี 2567

จากแบบสอบถามและการสำรวจพบว่า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจในไตรมาส 2 จะไปได้ดี เช่น กลุ่มอาหาร, กลุ่มยา-เวชภัณฑ์-เครื่องมือแพทย์, คลัสเตอร์เหล็ก และ อะลูมิเนียมเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับกลุ่มที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ในงานโลจิสติกส์ ค่อนไปทางยอดขายคงเดิมใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา 

ขณะที่ กลุ่มยางพารา และ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยางพารา คาดว่ายอดขายจะทรงตัว ซึ่งปีที่แล้วทั้งสองกลุ่มหดตัวร้อยละ 35.2 และหดตัวร้อยละ 4.76 ตามลำดับ

โดยภาพรวมช่วงไตรมาสแรกยอดขายของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังคงมีธุรกิจจำนวนมากที่ยอดขายอาจยังไม่ดี หรือ ยังประสบภาวะขาดทุน

จากปรากฏการณ์ทั้ง 4 ข้อบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจจริงมีสัญญานการฟื้นตัว แต่จะไปเหมารวมว่าทุกธุรกิจจะเหมือนกันคงไม่ได้

ปัญหาของไทยในขณะนี้ คือ กำลังซื้ออ่อนแอ การขยายตัวปีนี้จะลดลงกว่าปีที่แล้ว ปัญหาสำคัญ คือ หนี้ครัวเรือน และ หนี้เสีย ซึ่งมีสัญญานเร่งตัว โดยเฉพาะหนี้จำนำป้ายทะเบียนรถยนต์ขยายตัวถึงร้อยละ 40.2 ขณะที่หนี้เสีย (NPL) ขยายตัวถึงร้อยละ 28 

ตามด้วยสินเชื่อบ้านขยายตัวร้อยละ 31.1 สินเชื่อส่วนบุคคล (P. Loan) ขยายตัวร้อยละ 15.6 กำลังซื้อที่อ่อนแออาจสะท้อนได้จากเงินเฟ้อเดือนมกราคม ติดลบร้อยละ 1.1 เดือนกุมภาพันธ์ ติดลบร้อยละ 0.77 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน และเงินเฟ้อไทยอาจติดลบไปจนถึงเดือนเมษายน

เนื่องจากครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2566 เงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่สูง และปรับลดลงในช่วงเดือนเมษายน/พฤษภาคม

แบงก์ชาติยังยืนยันว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากการหดตัวมาจากมาตรการแทรกแซงของรัฐ เช่น การลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และ แก๊ส LPG ใช้เงินไปเกือบแสนล้าน

ปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่ได้มีเฉพาะในภาคครัวเรือน แต่เป็นปัญหาของภาคธุรกิจตั้งแต่ระดับไมโครไปจนถึง SMEs ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่ม หรือ คงที่ไม่สำคัญเท่ากับการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อใช้ในการประคับประคองธุรกิจ

ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม อาจมีสัญญานที่ดีและ/หรือดัชนีเชื่อมั่นที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ ยังมองเป็นบวก แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงปัจจัยตัวแปรที่มีความเสี่ยง เช่น ราคาน้ำมันโลกช่วง 3 เดือน (WTI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า 2.6 บาท หรือ อ่อนค่าร้อยละ 7.36 

รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และครึ่งปีหลังเป็นความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญและก้าวผ่าน ...