ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจปลุกกำลังซื้อประชาชน

15 ก.พ. 2567 | 09:30 น.

ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจปลุกกำลังซื้อประชาชน : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสื่อพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3966

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,966 ระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** เศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน กำลังซื้อ การทำมาค้าขายของพ่อค้า แม่ค้า ยามนี้ต้องบอกว่า “ลำบากจริงๆ” ขายของได้ลำบาก เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ คนใช้จ่ายกันอย่างประหยัด ...สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ก็คงได้แต่รอคอยความหวังจาก “รัฐบาลเศรษฐา” ว่าจะมีมาตรการใดออกมา “กระตุ้นเศรษฐกิจ” เพื่อให้การค้าการขายเกิดความคึกคักขึ้นมา ขณะที่ประชาชนก็มีกำลังเงินที่จะจับจ่ายใช้สอย 

 

 

การจะไปรอคอยความหวังจาก “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ที่รัฐบาลมีนโยบายจะแจกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท เม็ดเงินราว 500,000 ล้านบาท ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ถึงเกิดได้ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เม็ดเงินถึงจะไปเข้า “กระเป๋า” ประชาชน ที่จะสามารถนำออกมาจับจ่ายใช้สอยซื้อของได้

ทางที่ดีระหว่างที่นโยบายแจก “เงินดิจิทัล” ยังไม่เกิดขึ้น รัฐบาลควรจะหาแนวทาง“กระตุ้นเศรษฐกิจ” ด้วยวิธีการอื่นไปก่อนดีกว่า อย่าไปคาดหวังสูงกับ “เงินดิจิทัล” ตัวเดียวว่า เป็น “ยาวิเศษ” ที่จะช่วยปลุกเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นมาได้ เพราะ “ระหว่างทาง” ประชาชนจะแห้งเหี่ยว ตายเอาเสียก่อน... 

 

*** ไปฟังความเห็นภาคเอกชนดูบ้าง เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของไทยยามนี้ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการหารือและติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยล่าสุดตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเห็นชอบ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง จากปัจจัยเชิงโครงสร้างนั้น หอการค้าฯ รับทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แต่ภาคเอกชนโดยที่ประชุม กกร. มองว่า แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะฟื้นตัวได้จากปัจจัยหนุนภาคการท่องเที่ยว แต่ยังมีความเปราะบางจาก “กำลังซื้อภายในประเทศ” ที่ยังไม่ฟื้นตัวตามเต็มที่

ขณะที่ภาคการผลิตยังมีแนวโน้มหดตัว รวมถึงยังเผชิญความเสี่ยงและความท้าทายในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์หลายปัจจัย ทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งอาจเกิดการปรับเปลี่ยนทางนโยบายสำคัญ ผลกระทบจากสงครามที่ขยายวง โดยเฉพาะอิสราเอล-ฮามาส ที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มและกระทบกับราคาพลังงาน ปัญหาความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และการแข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนภาคธุรกิจถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง กระทบต้นทุนการดำเนินกิจการโดยตรง ส่วนการกู้ยืมของประชาชนก็มีภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน

ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน แม้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับลดเชิงเทคนิคตามนโยบายการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ แต่บ่งชี้ให้เห็นถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ ดังนั้นหอการค้าฯ จึงมีข้อเสนอแนะว่า ในระยะถัดไป กนง.ควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยลดภาระประชาชน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่วนลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย รวมถึงเสนอให้มีมาตรการใหม่ๆ ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก จะเป็นกลไกสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ได้ตามเป้าหมาย

                          ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจปลุกกำลังซื้อประชาชน

*** ขณะที่ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตอกย้ำว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ ร้อยละ 2.5 ต่อปี เนื่องจากขณะนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ และการคงดอกเบี้ยนี้ก็ต้องรอไปอีก 3 เดือน กว่าจะมีการประชุม กนง. เพื่อพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้ง ทำให้ประชาชน หรือ ภาคเอกชนที่กู้เงินก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงไปอีก 3 เดือนเช่นกัน ขณะเดียวกันข้อมูลเครดิตบูโรก็พบว่า หนี้ครัวเรือนไม่ลดลงและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโดยรวมและระดับรากหญ้า 

นอกจากนี้ คำชี้แจงของธนาคารแห่งประเทศไทย “ธปท.) ที่ระบุว่า ตอนนี้มีการบริโภคเพิ่มขึ้นและกลัวการปล่อยหนี้เพิ่มหากลดดอกเบี้ยนั้น เห็นต่างจาก ธปท. เพราะเห็นว่าทุกวันนี้ประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับกลางถึงล่างจะกู้หนี้เพิ่ม แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะธนาคารเข้มงวดในการปล่อยกู้กับผู้ลงทุนมากๆ อยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญ คือ การลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ด้วยการลดดอกเบี้ย ให้ประชาชนอยู่รอด เมื่อดอกเบี้ยสูง ทุกคนก็ต้องหาเงินเพิ่มขึ้น 

อีกทั้งการที่ดอกเบี้ยสูง ยังทำให้ประชาชนที่กำลังผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือกู้เงินมาลงทุน แทนที่จะหาเงินมาจ่ายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เท่ากับรายจ่ายเพิ่ม แต่รายได้คงที่ หรือ ลดลง ทำให้โอกาสที่ประชาชนจะติดลบก็เยอะขึ้น เมื่อติดลบก็กลายเป็นหนี้เสีย พอหนี้เสียก็กลายเป็นดอกเบี้ยผิดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น มีปัญหาต่อมาเป็นงูกินหาง ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม ช่วงเทศกาลตรุษจีนคนออกไปเดินห้างต่างจังหวัด ไปใช้จ่ายน้อยลง วันเที่ยววันจ่ายก็คึกคักน้อยลง

รายได้ของประเทศเหลือแค่การท่องเที่ยวกับการลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐกว่าจะได้ใช้ก็เดือนพฤษภาคม ก็จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมอืดลงไปเรื่อยๆ ถ้าดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจดี เงินเฟ้อสูง ไม่เป็นไร แต่วันนี้จีดีพีโตอยู่แค่ ร้อยละ 2.8 และเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.11 นี่คือหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เราต้องลดดอกเบี้ยลง ไม่อย่างนั้นเมื่อไรสภาพคล่องจะดีขึ้น

สุพันธุ์ ยังเสนอต่อรัฐบาลว่า วันนี้รัฐบาลควรเข้ามาดูแลเอสเอ็มอีออกมาตรการงดเว้นภาษีนิติบุคคล 3 ปี เพื่อให้กิจการฟื้นตัวได้ และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และเมื่อเกิดสภาพคล่อง เศรษฐกิจจะหมุนเร็วขึ้นอีกเยอะ ดีกว่าเอาเงินงบประมาณไปทำอย่างอื่น ส่วนมาตรการแก้หนี้สำหรับบุคคลทั่วไป รัฐบาลก็ต้องชัดเจนว่าจะหยุดพักหนี้ หรือ พักดอกเบี้ยแค่ไหน เพราะตอนนี้เพียงแค่เอาลูกหนี้มาคุยกับเจ้าหนี้ แต่ยังมีลูกหนี้นอกระบบอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตามข่าว และไม่ได้เข้าร่วมโครงการ 

*** ไปปิดท้ายกันที่ ...Sasin School of Management ขอเชิญผู้ที่สนใจสมัครเรียนในปีการศึกษา 2567 ร่วมงาน Sasin Open house ในวันเสาร์ที่ 17 ก.พ. 2567 เวลา 10.00-12.00 น. ที่ศศินทร์ โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้รับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรของ Sasin (Flexible MBA, Executive MBA, DBA) รวมทั้งมีนิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า และคณาจารย์ศศินทร์ มาร่วมเล่าประสบการณ์ สามารถลงทะเบียนได้ที่  tinyurl.com/yhnybwzj