“เศรษฐกิจไม่วิกฤติ”กู้เงินแจกดิจิทัล“ไปต่อยาก”

20 ม.ค. 2567 | 09:00 น.

“เศรษฐกิจไม่วิกฤติ”กู้เงินแจกดิจิทัล“ไปต่อยาก” : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,958

KEY

POINTS

- ธปท.ชี้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ แต่ยังไม่ทั่วถึง และ ไม่สมดุล  ขาดแรงส่งจากภาคส่งออก และ ภาคการผลิต

 

- เมื่อ ธปท.ชี้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ ตรงข้ามกับสิ่งที่คนในรัฐบาลหลายคนออกมาพูดว่า เศรษฐกิจวิกฤติ จำเป็นต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน

 

- คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่สรุปฟันธงออกมาว่า การที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ทำได้หรือไม่
 

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,958 ระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** ไปเริ่มต้นกันที่ “ภาวะเศรษฐกิจ” ของประเทศไทย เป็นภาพที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ฉายออกมาให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไร โดย ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ แต่ยังไม่ทั่วถึง และ ไม่สมดุล  ขาดแรงส่งจากภาคส่งออก และ ภาคการผลิต ปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว การส่งออกไทยขยายตัวต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ดัชนีความซับซ้อนของสินค้าส่งออกไทยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่หลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น 

*** ธปท.มองว่า ในปี 2567 นี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวแบบครบครันมากขึ้นโดยเฉพาะการขยายตัวด้าน วัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกจะกลับมา แต่ความเสี่ยงเชิงโครงสร้างจะทำให้การฟื้นตัวทางอุปสงค์ไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

ด้าน “เงินเฟ้อของไทย” ปรับลดลงเร็ว ช่วยจำกัดค่าของชีพไม่ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง และ เนื้อสัตว์ที่ก่อนหน้านี้ปรับเพิ่มสูงขึ้น ก็ปรับลดลง เป็นผลของมาตรการภาครัฐที่มาอุดหนุนด้านพลังงาน โดยราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้าง  เงินเฟ้อที่ติดลบไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่แผ่วลง

ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเงินเฟ้อติดลบแล้วแบงก์ชาติ “ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย”  ทั้งนี้  คาดว่าเงินเฟ้อจะติดลบไปจนถึงอย่างน้อยเดือน ก.พ.2567 และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 1-2 % ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย

*** ด้าน “เสถียรภาพทางการเงิน” มองว่า ระดับ “หนี้” ที่สูงเป็นจุดเปราะบางสำคัญของเศรษฐกิจไทย “หนี้ครัวเรือน” ต่อจีดีพีลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง ที่ 90.9% หนี้ภาคธุรกิจ 87.4% หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ คือ หนี้เพื่อการบริโภค และบัตรเครดิต

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับโลก โดย ธปท. คำนึงถึงผู้ประกอบการที่เดือดร้อนและมีลูกหนี้ที่ลำบาก  ธปท. ได้มีการดำเนินการตามมาตรการเพื่อให้เป็นไปตามกรอบดอกเบี้ยนโยบายต่อไป

*** ปิติ ย้ำว่า ธปท.รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ก็มีการพูดคุยกันตลอด และนำมาทบทวนเสมอว่าได้ดำเนินนโยบายถูกต้องแล้วหรือเปล่า ซึ่งก็ยืนยันว่า ตอนนี้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายไม่ผิดทางแน่นอน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ พร้อมปรับจุดยืนนโยบายให้เหมาะสม หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนไป จากที่ประเมินไว้ ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องประชุม กนง. นัดพิเศษ 

*** เมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาประกาศว่า “เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ” ก็จะ “ตรงข้าม” กับสิ่งที่คนใน “รัฐบาลเศรษฐา” หลายคนออกมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “เศรษฐกิจวิกฤติ” จำเป็นต้องออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” เพื่อมาดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป 50 ล้านคน

ประกอบกับการที่ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ไม่สรุปฟันธงออกมาว่า การที่รัฐบาลจะออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” 5 แสนล้านบาท ทำได้หรือไม่ เพียงแต่มีข้อแนะนำว่า “ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เช่น ต้องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แก้ไขวิกฤติของประเทศ หรือ ต้องเป็นไปตาม มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 มาตรา 7 และ มาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินนัยการเงินการคลังฯ "หากสามารถตอบเงื่อนทั้งหมดได้ก็สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้ แต่ถ้าไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่สามารถดำเนินการได้" 

*** เมื่อหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจอย่าง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ออกมาฉายภาพว่า “เศรษฐกิจไทยไม่ถึงขั้นวิกฤติ” ก็คงทำให้รัฐบาลเศรษฐา “จุกอก” ที่จะยกเรื่อง “เศรษฐกิจวิกฤติ” ขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการออก “พ.ร.บ.กู้เงิน” ได้ เพราะขืนดันทุรัง อาจไป “ตกม้าตาย” ในชั้นของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้

ทั้งยังมีด่านสำคัญ คือ “ป.ป.ช.” ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเกาะติดอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่มีข่าวออกมาว่า รัฐบาลเตรียมยุติ ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยจะหันไปใช้เงินงบประมาณปี 2568 พร้อมลดวงเงินแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต เหลือเพียง 3 แสนล้านบาท

                    “เศรษฐกิจไม่วิกฤติ”กู้เงินแจกดิจิทัล“ไปต่อยาก”

*** จากภาวะเศรษฐกิจ ไปดูเรื่อง “ที่ดิน” ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการประกอบอาชีพ และ ทำมาหากินของพี่น้องคนไทย โดยเฉพาะ “ที่ดิน สปก.4-01” เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็น “ปฐมฤกษ์” ในการแปลง ส.ป.ก.4-01 เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” ในยุคที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งได้มีพิธีมอบโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับเกษตรกรที่ถือครอง ที่ดิน สปก.4-01 พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า ทั่วประเทศมีเกษตรกรที่เข้าคุณสมบัติการเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 2.27 ล้านแปลง เนื้อที่ประมาณ 22 ล้านไร่ เกษตรกร จำนวน 1.6 ล้านคน เบื้องต้นมีการมอบโฉนดทั่วประเทศ จำนวน 25,000 ฉบับ ส่วนการยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดเพื่อการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2566 ถึง วันที่ 13 ม.ค. 2567 มีผู้ยื่นความประสงค์แล้ว 227,152 แปลง ออกโฉนดไปแล้ว 33,663 แปลง คิดเป็น 275,100 ไร่ เกษตรกรจำนวน 29,006 ราย

ทั้งนี้การแปลงที่ดิน สปก.4-01 เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” เป็นไปตามที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรทุกคนได้ใช้ประโยชน์ สามารถนำเอกสารนี้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบกิจการภาคการเกษตร สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในระยะยาว 

*** ไปปิดท้ายกันที่ ...กลุ่มบริษัท บีทีเอส ขอเชิญชวนประชาชนและผู้โดยสาร ร่วมบริจาคปฏิทินตั้งโต๊ะเก่า ที่ไม่ใช้แล้วในแคมเปญ “ฮีโร่ให้” เพื่อส่งต่อให้กับศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อนำไปจัดทำสื่อการเรียนการสอนให้กับผู้พิการทางสายตา โดยแคมเปญดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัทในด้านการสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับผู้พิการทางสายตา

พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถร่วมบริจาคได้ที่ กล่องรับบริจาคบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 8 สถานี ได้แก่ สถานีพญาไท (N2), สถานีอนุสาวรีย์ฯ (N3), สถานีอารีย์ (N5), สถานีหมอชิต (N8), สถานีสยาม (CEN), สถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9),  สถานีศาลาแดง (S2) และสถานีช่องนนทรี (S3) ได้ตั้งแต่วันนี้ - วันที่ 8 มี.ค. 2567