เอกชนหวั่นดิจิทัล 1 หมื่นวืด จี้เตรียมแผนสอง กระตุ้นเศรษฐกิจ รับกำลังซื้อหด

19 ม.ค. 2567 | 12:36 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 12:53 น.

เอกชนห่วงเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทวืด ทำเศรษฐกิจไทยโตต่ำ เหตุปัจจัยทั้งในและนอกประเทศรุมเร้า วิกฤตทะเลแดงทุบส่งออก เงินเฟ้อโลกจ่อพุ่งรอบใหม่ จี้รัฐเตรียมแผนสองกระตุ้นเศรษฐกิจโตจากภายใน ดันไทยเที่ยวไทย ช้อปดีมีคืน 10 จังหวัดเป็นเมืองหลัก เพิ่มจัดซื้อจัดจ้างสินค้าไทย

โครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท วงเงิน 500,000 ล้านบาท ยังลูกผีลูกคนว่าจะสามารถแจ้งเกิดหรือไปต่อได้หรือไม่ หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับรัฐบาลในเชิงข้อกฎหมายที่ไม่ได้ห้าม หรือสั่งให้เดินหน้าโครงการ และล่าสุดมีการเผยแพร่เอกสารรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็นเอกสารหลุด และป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งไปยังรัฐบาลอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ในเอกสารของ ป.ป.ช.ได้มีข้อเสนอแนะรัฐบาลใน 8 ประเด็น เช่น เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต ควรกระตุ้นโครงสร้างเศรษฐกิจมากกว่า ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และการพิจารณาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังจะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า เป็นต้น

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าหากพิจารณาตามความเห็นของกฤษฎีกาที่ระบุ การออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และจากเสียงท้วงติงจากหลายภาคส่วนที่เห็นต่างถึงผลกระทบที่จะตาม โครงการนี้อาจยากที่จะไปต่อ

เอกชนหวั่นดิจิทัล 1 หมื่นวืด จี้เตรียมแผนสอง กระตุ้นเศรษฐกิจ รับกำลังซื้อหด

  • ดิจิทัลวืด ศก.ไทยขาดตัวช่วย

ายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 (ณ ม.ค. 67)จะขยายตัวที่ 2.8-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นโครงการ Easy E-Receipt ที่คาดจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 1.4 ล้านคน คิดเป็นวงเงินใช้จ่ายประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ขยายตัวได้ 0.15-0.2%

ขณะที่โครงการดิจิทัล วอลเล็ต หากสามารถดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพีได้อีกอย่างน้อย 1-1.5% แต่หากโครงการนี้จะใช้วิธีตั้งงบประมาณในปีงบฯ 2568 แทน (ซึ่งจะมีการจัดทำในเดือนพฤษภาคม 2567) และจะลดวงเงินเหลือไม่เกิน 3 แสนล้านบาท เม็ดเงินของโครงการที่จะลงไปและน้อยลงจากเดิม ก็จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้อีก แต่คงไม่ถึง 1%

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“หากลดวงเงินลงเหลือ 3 แสนล้าน ซึ่งก็ไม่น้อย แต่จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้อีกไม่ถึง 1% เพราะขนาด 5 แสนล้านยังบวกได้แค่ 1% อย่างไรก็ดีหลายคนมองว่าโครงการนี้อาจล้มหรือไม่แจกเลย ผมว่าเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยคงจะแจกซัก 1.5 แสนล้าน เพราะก่อนหนี้ในรัฐบาลชุดก่อนก็มีโครงการคนละครึ่ง ผ่านแอปเป๋าตังก็มีผู้ได้รับสิทธิถึง 25 ล้านคน มองว่าอย่างน้อยต้องแจก เพราะถ้าไม่มีเลยคงเป็นไปไม่ได้”

  • เร่งมาตรการกระตุ้นควบคู่

อย่างไรก็ดีระหว่างรอโครงการฯ รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกกิจอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ที่เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน เป็นต้น นอกจากนี้หอการค้าไทยร่วมกับรัฐบาลจะดันโครงการพัฒนาเมืองรอง 10 จังหวัดเป็นเมืองหลัก เพื่อยกระดับรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ โดยขอให้ภาครัฐไปดูแลเรื่องระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งรัฐบาลและหอการค้าฯจะมีการแถลงข่าวในเรื่องนี้อย่างช้าภายในเดือนกุมภาพันธ์

นายสนั่น ยอมรับว่า โครงการ Easy E-Receipt ของรัฐบาล โดยซื้อสินค้าและค่าบริการสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ไม่เข้าเป้า เพราะร้านค้าเข้าร่วมโครงการน้อยกว่าที่คาดจากผู้ค้ามองว่าไม่คุ้มค่าใช้จ่าย มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ได้เงินช้า และมีระยะเวลาโครงการสั้น (1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567) ดังนั้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า คาดจะสามารถเบิกจ่ายได้จริงในเดือนพฤษภาคมนี้

ระหว่างที่รองบฯนี้ ส่วนหนึ่งจากยังมีงบประมาณค้างท่อในรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น ในรัฐวิสาหกิจ และงบของจังหวัดต่าง ๆ ควรเร่งเบิกจ่ายและนำมาใช้ในโครงการที่ทำให้เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ส่วนข้อถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่ หากพิจารณาตามหลักวิชาการแล้วไม่วิกฤต แต่ในข้อเท็จจริงเวลานี้ประชาชนขาดกำลังซื้อ ซึ่งรัฐบาลคงต้องหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้น

  • จี้เตรียมแผนสองรับมือ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า ยังคาดหวังโครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะเดินหน้าต่อไป จากหลายเดือนก่อนหน้าตนได้เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการกระชากเศรษฐกิจ หรือจุดเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ให้ติด โดยมุ่งหวังโครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะเป็นหัวเชื้อ แต่เวลานี้โครงการมีความล่าช้า และมีความไม่แน่นอน ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปีระจำปี 2567 คาดจะผ่านขั้นตอนต่าง ๆ และเบิกจ่ายได้จริงในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งล่าช้ามา 8 เดือน ดังนั้นในช่วงที่เป็นสุญญากาศนี้รัฐบาลต้องมีแผนสอง หรือแผนสำรองในการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กันไป

ท่ามกลางปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่มากทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศหนี้ครัวเรือนไทยสูงถึง 90.7% ต่อจีดีพี และมีหนี้นอกระบบสูงที่กดทับกำลังซื้อ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่เป็นเอสเอ็มอีมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าที่ปรับจาก 3.99 บาทต่อหน่วย เป็น 4.18 บาทต่อหน่วย (ม.ค.-เม.ย.67) ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นอีก 6-12 บาทต่อวัน ดอกเบี้ยเงินกู้สูง ค่าน้ำประปาภาคอุตสาหกรรมปรับขึ้น กระทบต้นทุนการผลิต

ส่วนปัจจัยนอกประเทศ วิกฤตทะเลแดงที่ขยายวงต่อเนื่องจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส หลังกลุ่มฮูตีของเยเมนโจมตีเรือบรรทุกสินค้าชาติตะวันตกที่วิ่งผ่านทะเลแดง ขณะที่สหรัฐและอังกฤษได้ส่งเครื่องบินไปโจมตีถึงเมืองหลวงของเยเมน ส่งผลให้เรือสินค้าจากเอเชียไปยุโรปเวลานี้ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของแอฟริกาใต้ ทำให้ต้องเพิ่มเวลาในการขนส่งอีก14 วัน ดันค่าระวางเรือรวมค่าเซอร์ชาร์จอื่นๆ ที่สายเรือเรียกเก็บพุ่งขึ้นจากเดิมมากกว่า 300% กระทบส่งออกไทย และการค้าโลกจะซบเซาลง ขณะที่ฝันร้ายจากเงินเฟ้อโลกที่จะพุ่งขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท)

  • เร่งกระตุ้น ศก.จากภายใน

“สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งเวลานี้นอกเหนือจากรอโครงการดิจิทัล วอลเล็ตคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในเหมือนจีนที่เวลานี้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ส่งเสริมคนท่องเที่ยว และใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งไทยก็มีจุดเด่นด้านท่องเที่ยวก็สามารถทำได้เช่นกัน การช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อให้ฟื้นตัวกลับมา รวมถึงเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เพิ่มการใช้สินค้าในประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสินค้าของผู้ที่เข้าร่วมโครงการและได้ตราสัญลักษณ์ Made in Thailand (MiT) สามารถเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้กว่า 1.02 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ซึ่งทางสภาอุตฯตั้งเป้า 2 ปีจากนี้ต้องทำให้เพิ่มเป็น 50% ซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจ และจ้างงานในประเทศได้อีกมาก”

  • มือถือลุ้นรอแจก 1 หมื่น

ด้านนายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ในเครือ บมจ. เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) เชนสโตร์สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ รายใหญ่ กล่าวว่า หากดูจากไทม์ไลน์ล่าสุดที่รัฐบาลตั้งเป้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือช่วงระหว่างไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซัน ของตลาดมือถือพอดี หากสามารถดำเนินการได้ ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคได้ แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็ส่งผลกระทบกับกำลังซื้อในตลาดแน่นอน โดยกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้นั้นมองว่ารัฐบาลควรทบทวนนำโครงการคนละครึ่งกลับมาปัดฝุ่น เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จในการกระตุ้นกำลังซื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ จำกัด เชนสโตร์ไอทีรายใหญ่ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นผลดีทั้งนั้น แต่หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทลดวงเงินกู้เหลือ 3 แสนล้านบาท มองว่ายังช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ แต่ถ้าโครงการนี้ไม่เกิดขึ้นนั้น มองว่ารัฐบาลควรมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆออกมา เช่น การขยายโครงการ Easy E-Receipt โดยให้สิทธิทางภาษีเพิ่มขึ้น หรืออาจทบทวนนำโครงการคนละครึ่งกลับมา

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3959 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2567