เงินดิจิทัล10000 : นโยบายการคลัง ที่พาประเทศเข้าสู่หน้าผา"ขาดดุลแฝด"

22 ต.ค. 2566 | 12:19 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2566 | 14:22 น.
1.1 k

ประเด็นที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ กำลังพูดถึงอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล10000 บาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน”คือ การใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะก่อให้เกิดปัญหา "ขาดดุลแฝด"

เมื่อเดือนกันยายน 2566 “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง อดีตที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณเตือนว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล อาจทำให้เกิดปัญหา "ขาดดุลแฝด" (Twin Deficits) หรือ "ขาดดุลการคลัง" ควบคู่กับการ "ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด" เพราะในการบริโภคของคนไทยจะมีสัดส่วนของการนำเข้าถึง 50% ของจีดีพี

สอดคล้องกับ ดร.รณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่มองว่า หากประชาชนนำเงินดิจิทัล ไปใช้จ่ายในสินค้าหรือบริการที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบสูง หรือ ซื้อสินค้านำเข้า 100% การกระจายของเงินแทบจะจบลงทันที เพราะเงินส่วนมากจะออกไปอยู่ในกระเป๋าของชาวต่างชาติ หมุนออกไปนอกประเทศแทน มีเพียงกำไรส่วนน้อยที่อยู่กับคนไทย หมุนเวียนในประเทศ 

ดร.รณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ประเด็นนี้นักวิชาการหลายคน มีความคิดเห็นคล้ายกัน เพราะตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ไม่ค่อยสนับสนุนการนำเงินดิจิทัลที่แจกในประเทศไปซื้อสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูง รวมถึงไม่สนับสนุนการนำเงินไปซื้อสินค้านำเข้าอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาปฎิบัติจริงเชื่อว่าสามารถกำหนดประเภทของสินค้าได้ยาก เพราะความต้องการซื้อของคนไทยมีความหลากหลาย รัฐบาลต้องเป็นผู้กำหนดเรื่องนี้ให้ชัดเจน

“ถ้าเขาเอาเงินไปซื้อสมาร์ทโฟน ทีวี อุปกรณ์ไอที เงินไหลออกนอกประเทศแน่ ๆ แต่ประเด็นคือ ซื้อแล้วเอาไปทำอะไร มีผลให้กับประชาชนรายนั้นอย่างไร ซื้อแล้วนำไปต่อยอดงานหรือธุรกิจที่ทำไหม ดังนั้น การต่อยอดจากของที่ซื้อ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา ส่วนเงินจะไหลออกนอกประเทศมากน้อยเพียงใด ไม่สามารถคำนวณได้เลย”ดร.รณริฏ กล่าว

อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆคือ เมื่อรัฐบาลอัดฉีดเงิน 5.6 แสนล้านบาทเข้าไปกระตุ้นการบริโภค รัฐบาลก็ต้องขาดดุลการคลัง(กู้)เพิ่ม เพี่อนำเงินมาใช้ในการจัดทำนโยบายมากขึ้น

ยิ่งรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ ก็จะต้องกู้เงินมาใช้จ่ายมากขึ้น หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

เมื่อประชาชนนำเงินที่รัฐบาลอัดฉีดไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะทำให้เงินส่วนหนึ่งไหลออกไปนอกประเทศทางอ้อม เหลือเงินที่หมุนเวียนในประเทศบางส่วน เช่น ซื้อของ 100 บาท ในจำนวนนี้อาจเป็นเงินที่ไหลออกต่างประเทศทางอ้อม 50 บาท เพราะแม้แต่สินค้าเกษตร พืช ผัก ต่างๆยังต้องใช้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศ 90% จึงไม่ได้ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจครบ 100% ตามที่รัฐบาลคาดหวัง

นักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งประเมินให้ฟังว่า การแจกเงินดิจิทัลหากจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับมาเท่ากับต้นทุนที่จ่ายไป 5.6 แสนล้านบาท รัฐบาลจะต้องทำให้เงินหมุน 15 รอบ ซึ่งเป็นไปได้ยาก นั่นคือที่มาของคำว่า "ได้ไม่คุ้มเสีย"

ที่สำคัญไม่มีไม่มีรัฐบาลไหนในโลกเลือกใช้นโยบายการคลังขาดดุล ที่จะนำไปสู่ปัญหา "ขาดดุลแฝด" ยกเว้นทำเพื่อคะแนนนิยม เพราะผิดหลักการบริหารนโยบายการคลัง หรือ fiscal policy อย่างชัดเจน

ปัญหาการ "ขาดดุลแฝด" ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจประเทศอย่างไร?

ความหมายของการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) คือ ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกับการขาดดุลการคลัง

การขาดดุลการคลัง หรือ ขาดดุลงบประมาณ เกิดจากภาครัฐมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ต้องกู้เงินมาใช้จ่าย

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เกิดจากการขาดดุลของดุลการค้า ดุลบริการ ดุลรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศ และดุลเงินโอนระหว่างประเทศ ซึ่งมักมีสาเหตุหลักจากการขาดดุลการค้า นั่นคือ มีรายจ่ายจากการนำเข้าสินค้ามากกว่ารายรับจากการส่งออกสินค้า ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง เนื่องจากต้องนำเงินทุนสำรองไปชดเชยการขาดดุลที่เกิดขึ้น

เมื่อดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลพร้อมกัน ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่าขาดดุลแฝด ก่อให้เกิดปรากฎการณ์เงินทุนไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินอ่อน สร้างแรงกดดันต่อปัญหาเงินเฟ้อ เสี่ยงที่จะเกิดยุคข้าวยาก หมากแพง ตามมา สุดท้ายประเทศก็ต้องกู้เงินจากเจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อชดเชยรายจ่ายของประเทศที่สูงกว่ารายรับ

ประเทศไทยเคยเจอกับปัญหานี้มาแล้วในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 จนต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF

ถามว่าไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ"ขาดดุลแฝด"หรือไม่ 

สำหรับการขาดดุลการคลัง ต้องยอมรับว่างบประมาณรายจ่ายของไทยเผชิญภาวะการขาดดุลงบประมาณมีรายจ่ายมากกว่ารายได้เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบันมีเพียงปีงบประมาณ 2548 เท่านั้นที่สามารถจัดทำงบประมาณแบบสมดุลได้

ที่สำคัญหากดูข้อมูลแผนการคลังระยะปานกลาง พบว่า ในปีงบประมาณ 2567-2570 รัฐบาลประเมินว่าจะต้องกู้เงินมาใช้จ่ายทั้งสิ้น 3.61 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 7.54 แสนล้านบาท และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท

นั่นหมายความว่าประเทศไทยยังต้องใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 4 ปี

กระทรวงการคลังประเมินว่า การขาดดุลการคลังจะส่งผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 11,254,544 ล้านบาท หรือ 62.97% ต่อจีดีพี ในปี 2566  เพิ่มเป็น 14,363,204 ล้านบาท หรือ 64.81% ต่อจีดีพี ในปี 2567

เมื่อนำตัวเลขหนี้สาธารณะที่มีอยู่มาคำนวณ เพื่อหาค่าเฉลี่ยหนี้ต่อหัว พบว่า คนไทยจะมีหนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มจาก 170,377 บาทในปี 2566 เป็น 217,437 บาท ในปี 2570 หรือเพิ่มขึ้น 47,060 บาทต่อคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกู้เงินและหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการกู้เพื่อนำมาใช้สำหรับการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท 

ส่วนปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ พบว่า ปี 2564 ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ ปี 2565 ขาดดุล 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนครึ่งแรกของปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์ โดยสภาพัฒน์คาดว่าในปี 2566 ทั้งปีดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์

แต่ถ้าดูตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดรายเดือนในปีนี้ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะบางเดือนเกินดุล บางเดือนก็ขาดดุล ดังนี้

  • มกราคม -1,978 ล้านดอลลาร์
  • กุมภาพันธ์ +1,034 ล้านดอลลาร์
  • มีนาคม +3,964 ล้านดอลลาร์
  • เมษายน -240 ล้านดอลลาร์
  • พฤษภาคม -3,162 ล้านดอลลาร์
  • มิถุนายน +868 ล้านดอลลาร์
  • กรกฎาคม -508 ล้านดอลลาร์
  • สิงหาคม +401 ล้านดอลลาร์

ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

ยิ่งดูตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 พบว่าประเทศไทยเราเคยมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักในปี 2556 แล้วค่อยกลับมาเกินดุลในปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2563 จากการเกินดุลการค้าและดุลบริการ จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก

แต่ในปี 2564  ประเทศไทยก็กลับมาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักในรอบ 8 ปี จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออก การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ดุลการค้า ดุลบริการขาดดุล และขาดดุลมากขึ้นในปี 2565  แล้วค่อยกลับมาเกินดุลสลับกับขาดดุลในปี 2566 เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศฟื้นตัว

เราจึงยังไม่อาจไว้วางใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่กลับไปมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีก

ดังนั้นการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่พาประเทศเดินเข้าสู่หน้าผาขาดดุลแฝด

หากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายนี้ก็ควรปรับลดขนาดของโครงการลง และกำหนดรายการสินค้าที่เข้าร่วมโครงการให้ชัดเจนตามข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์

ก็ได้แต่หวังว่า เงินดิจิทัล10000 บาท จะไม่พาประเทศไปตกลงสู่หุบเหวขาดดุลแฝด