รายงานพิเศษ : วิบากกรรมแจกเงินดิจิทัลเดิมพัน“เศรษฐา”

22 ต.ค. 2566 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2566 | 14:29 น.
1.2 k

มารอดูกันว่า “โครงการแจกเงินดิจิทัล” ที่ “เพื่อไทย” คิด “เศรษฐา”รับหน้าเสื่อทำ จะเจออุปสรรคอะไรทำให้ต้องสะดุดหยุดลง หรือมีอุปสรรคอะไรหรือไม่ รายงานพิเศษ : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 (ขยับจาก 1 ก.พ. 67) เป็นไทม์ไลน์ที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน กำหนดไว้ที่จะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แก่คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ด้วยวงเงินมหาศาล 5.6 แสนล้านบาท อันเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 

แต่ทว่า นโยบายดังกล่าวกลับถูกต่อต้านอย่างหนัก จากทั้ง นักวิชาการ อดีตคนแบงก์ชาติ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และ ภาคประชาชนบางส่วน เพราะต่างห่วงใยถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจไทย และเกรงจะซ้ำรอยกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีการทุจริตมหาศาลเกิดขึ้น

ยื่นผู้ตรวจฯสอบเงินดิจิทัล

โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ไต่สวนและมีความเห็นส่งศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล
นพ.วรงค์ กล่าวว่า ต้องการขอให้ระงับยับยั้งโครงการนี้ เพราะหากยังเดินหน้าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา 

นพ.วรงค์ ชี้ว่า สิ่งที่กระทำทั้งหมดจะนำไปสู่การขัดต่อกฎหมายหลายมาตรา ทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 (แหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย), มาตรา 164 (รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด) , พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และการนำโทเคนมาใช้จ่ายแทนธนบัตร เสี่ยงขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา 2501 มาตรา 6 มาตรา  9 

“โครงการดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท มีหน่วยงานออกมาเตือนไม่แตกต่างกับสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ (จำนำข้าว) ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตายด้วยทุจริต แต่โครงการนี้ถ้ารัฐบาลเดินหน้า ก็จะตายด้วยทุจริต ด้วยการใช้โทเคน แต่ถ้าไม่ใช้โทเคน โอนเป็นเงินสดผ่านบัญชีโกงยาก อันนั้นอาจจะไม่ตาย แต่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับการเงินการคลังของประเทศ ขอเตือนหากใช้โทเคนเมื่อไหร่คุกรออยู่แน่นอน” หมอวรงค์ ระบุ  

“รสนา”งัด6เหตุผลค้าน

ถัดมาวันที่ 19 ต.ค. 2566 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ได้เดินสายยื่นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตั้งกรรมการศึกษาโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 

น.ส.รสนา กล่าว่า การยื่นต่อประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้เป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ถ้าพบว่าข้อเท็จจริงที่จะสามารถพิจารณายับยั้งได้ ก็ขอให้เรียนเชิญประธาน กกต. และ ประธาน ป.ป.ช. มาประชุมร่วมกันเพื่อลงมติว่าควรจะยับยั้งเรื่องนี้หรือไม่ โดยขอให้ตรวจสอบกรณีแจกเงินดิจิทัล มีปัญหามิชอบด้วยกฎหมายและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ 

น.ส.รสนา อ้าง 6 เหตุผล ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของรัฐ และอยากให้ตรวจสอบ คือ 1.ผลได้ไม่คุ้มเสีย 2.น่าขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา 3.เพิ่มความสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศโดยไม่จำเป็น 4.หลีกเลี่ยงหลักการใช้เงินแผ่นดิน ไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่งบประมาณ 

5.ซุกหนี้สาธารณะ น่าจะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและซุกหนี้สาธารณะ 6.ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 9 วรรค 3 โดยรัฐบาลต้องไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินไปใช้ในการหาเสียง ซึ่งการแจกเงินให้เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นการหาเสียงทางการเมือง เปรียบเสมือนกับการตกเขียว เด็กอายุ 16 ปี อีก 4 ปีข้างหน้าก็อายุ 20 ปี 

                                        รายงานพิเศษ : วิบากกรรมแจกเงินดิจิทัลเดิมพัน“เศรษฐา”       

ส.ว.ห่วงขัดรัฐธรรมนูญ 

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2566 ในการประชุมวุฒิสภา(ส.ว.) นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. ได้แสดงความห่วงใยโครงการแจกเงินดิจิทัล ตอนหนึ่งระบุว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ตั้งแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพราะไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่าย ปัจจุบันก็ยังไม่มีการชี้แจง สุ่มเสี่ยงขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องไม่บริหารโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน 

นายเฉลิมชัย ตั้งข้อสังเกตว่า นายกฯ ยังให้ข่าวอย่างต่อเนื่องว่า ในวันที่ 1 ก.พ. 2567 เงินดิจิทัลจะเข้าสู่ระบบ และประชาชนทุกคนจะได้เงิน แต่จะเอาเงินมาจากไหน ในเมื่อปฏิทินงบประมาณปี 2567 จะออกในเดือน เม.ย. 2567 แสดงว่า ครม. ต้องใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสิน แต่เงินกู้ที่ได้มาก็ต้องเป็นเงินแผ่นดินเช่นกัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด 
+ปปช.-ผู้ตรวจฯ จับตา

ก่อนหน้านั้น องค์กรอิสระต่างๆ ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ-จับตา ประกอบด้วย

11 ต.ค. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า มีข้อน่าห่วงใย หรือ สุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาวหรือไม่

12 ต.ค. 2566 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติรับคำร้องเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง กรณี วิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยเพื่อส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง เนื่องจากอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพรบ.วินัยการเงินการคลัง

...มารอดูกันว่า “โครงการแจกเงินดิจิทัล” ที่ “เพื่อไทย” คิด “เศรษฐา”รับหน้าเสื่อทำ จะเจออุปสรรคอะไรทำให้ต้องสะดุดหยุดลง หรือมีอุปสรรคอะไรหรือไม่  

++++

เศรษฐา : “อย่ายอมให้ใครยับยั้ง” 

หลังจากมีกระแสต้านอย่างหนักสำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า “แจกเงินดิจิทัล มีทั้งคนเห็นด้วยเเละไม่เห็นด้วย ในฐานะรัฐบาลรับฟังทุกความเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงให้ดี แต่ต้องการให้คนที่เห็นด้วยกับ โครงการ Digital Wallet ส่งเสียงและอย่ายอมให้ใครมายับยั้งโครงการโดยไม่มีเหตุผล 

ผมทราบดีว่า โครงการ Digital Wallet นั้นมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราในฐานะรัฐบาลของประชาชนจึงรับฟังทุกความเห็นเพื่อเอามาปรับให้ดีและตรงใจทุกคน

ผมอยากให้เราลองนึกภาพไปด้วยกันว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้มีเงินเข้ามาในระบบ 560,000 ล้านบาท 
ถ้าท่านเป็นภาคอุตสาหกรรมท่านจะผลิตสินค้ามารองรับไหม จะต้องซื้อวัสดุเพื่อมาผลิตสินค้าเตรียมขายหรือไม่ จะมีการจ้างคนเพิ่มไหม แล้วเงินจะเข้ามาอยู่ในกระเป๋าของพี่น้องประชาชนเท่าไหร่ เราตั้งใจให้เงินถูกเอาไปใช้ในพื้นที่ตามบัตรประชาชนของท่าน เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนที่ท่านอยู่ ไม่ใช่พัฒนาเมืองใหญ่อย่างเดียว

หากท่านเห็นตรงกันกับผม และชอบโครงการนี้อยู่ ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ และขอให้ส่งเสียงบอกกับพวกเราบ้างว่า ท่านมีความสุข และดีใจที่รัฐบาลนี้ทำให้ เราเองก็อยากได้กำลังใจจากทุกคน เพราะพวกเราตั้งใจมาทำงานให้พี่น้องประชาชนจริง ๆ ครับ"