จีนจาม-ไทยสะเทือน จี้รัฐเร่งปลุกกำลังซื้อ บูมท่องเที่ยว-ดึงลงทุนใหม่

14 ก.ย. 2566 | 08:37 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 08:53 น.
925

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นำมาซึ่งความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนที่ปักฐานอยู่ในจีนทุกสัญชาติทยอยย้ายฐานผลิตออกจากจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่รัฐบาลจีนพยายามเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาในเวลานี้

จีนจาม-ไทยสะเทือน จี้รัฐเร่งปลุกกำลังซื้อ บูมท่องเที่ยว-ดึงลงทุนใหม่

แรงกระเพื่อมของจีนย่อมสะเทือนถึงไทยในฐานะคู่ค้าสำคัญและการเคลื่อนไหวของจีนทำให้ไทยได้รับทั้งวิกฤติและโอกาส รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงวิกฤตและโอกาสในครั้งนี้

  • 4 ปัจจัยทุบค้าสหรัฐ-จีนวูบ

 รศ.ดร.สมภพ มองว่า เศรษฐกิจจีนในเวลานี้แย่ลง เห็นได้จากการค้ากับต่างประเทศชะลอตัวลง การส่งออกยังติดลบต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะการค้าจีน-สหรัฐอเมริกาที่ครึ่งแรกปีนี้ติดลบแล้ว 14.5% โดยที่จีนค้าขายกับสหรัฐเป็นอันดับ 3 ของโลก มีมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนค้าขายกับสหภาพยุโรป (อียู) เป็นอันดับ 2 มูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนค้าขายกับอาเซียนเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 8.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

จีนจาม-ไทยสะเทือน จี้รัฐเร่งปลุกกำลังซื้อ บูมท่องเที่ยว-ดึงลงทุนใหม่

ทั้ง 3 ตลาดที่จีนค้าขายด้วยเป็นตลาดหลัก ถ้ามองโดยภาพรวมทั้ง 3 ตลาดการค้าไม่ได้ลดลงมาก แต่ถ้ามองเจาะจงไประหว่างจีนกับสหรัฐ ติดลบไปแล้วครึ่งปีแรก 14.5% มาจาก 4 สาเหตุหลัก คือ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี สงครามการเงิน รวมถึงเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มากขึ้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปทั่วโลกติดลบตามไปด้วย โดยไทยค้าขายกับจีนมากที่สุด การที่เศรษฐกิจจีนซบเซาในเวลานี้ มีผลกับทุกประเทศเพราะจีนเป็นตลาดใหญ่ อีกทั้งแรงกระเพื่อมจากที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อและธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมประมาณ 11 ครั้ง ในรอบ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับจาก 0.1% เป็น 5.4% อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนของผู้บริโภคที่สูงขึ้นด้วย

“ส่วนที่มองกันว่าภาคอสังหาฯของจีนมีความเสี่ยงนั้น ส่วนตัวมองว่า ต้องใช้เวลา 2-3 ปี จะค่อยๆ ฟื้น เวลานี้ไม่ใช่ว่าอสังหาฯ จีนขายไม่ออก เพียงแต่ขณะนี้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ประชาชนเลยไม่แน่ใจ แต่เมื่อคนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น การฟื้นตัวก็น่าจะค่อย ๆ ฟื้นกลับมา ซึ่งต้องใช้เวลา และมองว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดโอเวอร์ซัพพลายเหมือนบางประเทศ”

  • ลามกระทบไทยชัดเจน

รศ.ดร.สมภพ กล่าวอีกว่า จากเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบถึงไทยชัดเจนคือ 1.ไตรมาส 2 ปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.8% 2.การส่งออกของไทยยังติดลบต่อเนื่องลากยาวมาเกือบ 1 ปีแล้ว(ต.ค.65-ก.ค.66) และ 3.การบริโภคภายในแผ่วลง วัดจากการจับจ่ายใช้สอยซึ่งเป็นตัวสำคัญในการกระตุ้นจีดีพี ตรงนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องรีบปลุกกำลังซื้อให้กลับมาให้เร็ว

อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะเจอกับสัญญาณลบ จากแรงกระเพื่อมจากการค้ากับจีนและเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาลง แต่เวลานี้ไทยยังได้รับโอกาสที่ดีใน 2 ด้านคือ 1.จากภาคท่องเที่ยวที่ครึ่งปีแรกเติบโตแล้วกว่า 70% แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนยังเข้ามาเที่ยวไทยเพียง 1ใน 3 ของเป้าหมายก็ตาม (ตั้งเป้า 6-7 ล้านคน แต่ช่วง 7 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาราว 2 ล้านคนเท่านั้น)

2.พบว่ามีการลงทุนจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น หลังเกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เช่นเดียวกับการลงทุนจากต่างประเทศในจีนก็ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้นด้วย โดยทุนที่ย้ายออกจากจีนต่างโฟกัสมายังไทยและเวียดนามมากที่สุดในขณะนี้ รองลงมาไปมาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับนักลงทุนจีนที่ย้ายฐานออกมาเริ่มเห็นชัดมากขึ้น โดยกลุ่มใหม่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทยยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ที่จำเป็นต้องหาแหล่งผลิตนอกประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจในอนาคต

  • จีดีพีไทยปี 66 ส่อวืดเป้า

รศ.ดร.สมภพ กล่าวช่วงท้ายว่า ขณะนี้ประเทศไทยเดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายของปี 2566 มองว่าการเติบโตของจีดีพีโดยรวมของไทยในปีนี้ ไม่น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย (เป้าเดิมพูดกันที่ 2.7-3.7%) คาดน่าจะเหลือ 2.5-3% เท่านั้น ซึ่งหากจะผลักดันให้ได้ตามเป้าหมาย มีหลายองค์ประกอบร่วมกันทั้งปัจจัยภายใน ภายนอกประเทศ ความเชื่อมั่น ภาพลักษณ์ ต้นทุนรวมทุกด้าน โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงานและปัจจัยประกอบอื่น ๆ

สำหรับบรรยากาศการเมืองไทย ในเบื้องต้นน่าจะเห็นภาพความสมานฉันท์ที่มีมากขึ้น ลดแรงต้านเรื่องการแบ่งแยก เรื่องกีฬาสีลง หากนายกรัฐมนตรีมีบทบาทร่วมกับทีมเศรษฐกิจได้ดี ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะปลุกความเชื่อมั่น ปลุกกำลังซื้อ และกระตุ้นจีดีพีประเทศ

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3922 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2566