“อ้อยไทย” วิกฤต 6 ปัญหารุม วัตถุดิบไม่พอป้อนโรงงาน

28 ก.ค. 2566 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 09:46 น.
2.0 k

ดูเหมือนจะดีมากสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลของประเทศ ไทยในช่วงนี้ โดยเฉพาะภาพรวมราคานํ้าตาลในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งไทยยังเกาะอยู่ในกลุ่มผู้ส่งออกนํ้าตาลรายใหญ่ลำดับต้น ๆ ของโลก

“อ้อยไทย” วิกฤต 6 ปัญหารุม วัตถุดิบไม่พอป้อนโรงงาน

แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดยังพบอุปสรรคและข้อกังวลที่มิอาจมองข้ามโดยเฉพาะปัญหาของ “อ้อย”  วัตถุดิบต้นทางในการผลิต นํ้าตาลที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตหากรับมือไม่ดี ฟัง นายนราธิป อนันตสุข  หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ที่ถือเป็นตัวแทนชาวไร่อ้อยโดยตรง ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานะของอ้อยในประเทศ และมุมมองที่มีนัยสำคัญด้านอื่น ๆ

  • เปิดสถานะปริมาณอ้อยไทย

นายนราธิป กล่าวถึงภาพรวมปริมาณอ้อยของไทยว่า ในปีการผลิต 2565/66 ที่ปิดหีบอ้อยช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 93 ล้านตัน มากกว่าปีก่อนเล็กน้อยซึ่งมีปริมาณ 92 ล้านตัน ขณะที่ปีนี้ฤดูการผลิตปี 2566/67 คาดว่าน่าจะมีปริมาณอ้อยเพียง 74-77 ล้านตัน จากไทยเคยมีปริมาณอ้อยสูงสุด ในปีการผลิต 2560/61 ที่มีปริมาณอ้อยถึง 134.9 ล้านตัน และปริมาณอ้อยได้ลดลงอย่างรุนแรงในปีการผลิต 2563/64 ที่มีปริมาณอ้อยเพียง 66.6 ล้านตัน

นราธิป อนันตสุข  หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย

สาเหตุหลักที่ปริมาณอ้อยลดลงมี 6 ปัจจัย ได้แก่ 1.ปัญหาราคาที่ ไม่ได้ปรับไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต 2. ปัญหาราคาพืชเกษตรอย่างอื่นที่สูงกว่า จูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเปลี่ยนอาชีพ ปัจจุบันมีครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกอ้อยประมาณ 220,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่อ้อยรายเล็ก 84-85% และรายใหญ่เพียง 6-7% ซึ่งมีจำนวนลดลงหากเปรียบเทียบกับระยะ 10 ปีที่ผ่านมา

3.ปัญหาการบริหารจัดการที่ยุ่งยากในการประกอบอาชีพ เช่น แรงงานขาดแคลน ค่าจ้างสูงขึ้น 4.ปัญหาการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานมีข้อจำกัดมากขึ้น 5.ปัญหาการตัดอ้อยสด ซึ่งนอกจากต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีความยากเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการจากภัยธรรมชาติ 6.ปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องกระทบต่อการปลูกอ้อย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนกระทบต่อผลผลิตอ้อยทั้งสิ้นทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการปลูก

“อ้อยไทย” วิกฤต 6 ปัญหารุม วัตถุดิบไม่พอป้อนโรงงาน

 “ปัญหาภัยแล้งช่วง 18-19 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าในปีการผลิต 2548/49 เรามีอ้อยเพียง 46.6 ล้านตัน แต่ถ้าในช่วง 10 ปีนี้ ปริมาณอ้อยที่ตํ่าสุดจากภัยแล้ง คือปี 2563/64 มีปริมาณเพียง 66.6 ล้านตัน”

  • ห่วงฝนทิ้งช่วงแล้งยาว

อย่างไรก็ตามเมื่อดูสภาพปัญหาภัยแล้งในปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยลดลงอย่างแน่นอน จากปริมาณนํ้าฝนปีนี้หายไปจากปีที่ผ่านมามากกว่าครึ่ง และขณะนี้ก็มีแนวโน้มฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบกับหลายประเทศทั่วโลก สภาวะเช่นนี้จะทำให้ราคานํ้าตาลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคาได้ขึ้นไประดับ 25 -27 เซนต์ต่อปอนด์ เทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่เพียง 18 -19 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะเดียวกันบราซิลซึ่งอยู่กันละซีกโลกกับไทยปริมาณนํ้าฝนก็จะตรงข้ามกัน อาจมีมากหรือมากจนเกินไป ผลผลิตอาจเพิ่มขึ้นบ้าง และอาจชดเชยผลผลิตทั่วโลกที่หายไปได้บางส่วน

“อ้อยไทย” วิกฤต 6 ปัญหารุม วัตถุดิบไม่พอป้อนโรงงาน

  • อ้อยไม่พอป้อนโรงงาน

นายนราธิปกล่าวยํ้าอีกว่า ปริมาณอ้อยในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อการป้อนโรงงานนํ้าตาลที่มีอยู่ในขณะนี้อยู่แล้ว เพราะโรงงานที่มีอยู่กำลังผลิตสูงมาก โดยสามารถหีบอ้อยได้ถึง 1.2 ล้านตันต่อวัน แต่ชาวไร่อ้อยสามารถตัดอ้อยและส่งให้โรงงานได้เฉลี่ยเพียง 9 แสนตันต่อวัน และจากปริมาณอ้อยที่มีจึงทำให้ไทยมีฤดูกาลหีบอ้อยเพียงปีละ 90-100 วัน เท่านั้น ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลให้ภาระต้นทุนการแข่งขันสูงกว่าประเทศคู่แข่ง

“อย่างไรก็ตามต้องเตรียมรับมือไว้โดยสร้างความมั่นใจ ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยไม่เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น โดยเฉพาะด้านราคา และต้องเข้าไปสนับสนุนเงินทุน และปัจจัยการผลิตทุกอย่าง ส่วนผลกระทบเรื่องปริมาณนํ้าตาลทรายในประเทศจะขาดแคลนหรือไม่ ยืนยันว่าไม่มี เพราะไทยบริโภคนํ้าตาลประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี เท่านั้น ส่วนด้านราคาก็จะต้องปรับให้สอดคล้องกับกลไกตลาด ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย เป็นหน่วยงานที่ดูแลกลไกตลาด หากไม่ดำเนินการนํ้าตาล ที่ถูกสต๊อกไว้เพื่อบริโภคภายในถ้าราคาตํ่า ก็จะมีการไหลออกไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาสูงกว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้”

“อ้อยไทย” วิกฤต 6 ปัญหารุม วัตถุดิบไม่พอป้อนโรงงาน

  • ต้นเหตุยังตัดอ้อยไฟไหม้

ในส่วนของปัญหาการเผาอ้อยที่ถูกมองว่าทำลายสิ่งแวดล้อมนั้น ความจริงแล้ว ชาวไร่อ้อยทุกคนต้องการตัด อ้อยสด เป็นเหตุผลที่ชาวไร่อ้อยเข้าใจดี ทั้งการรักษาสภาพพื้นที่ไร่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ การสร้างผลผลิตให้เกิดความยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลพิษ เป็นต้น แต่ปัญหาด้านราคาอ้อยที่ตํ่าสวนทางต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ปัญหาระยะเวลาของฤดูกาลตัดอ้อยที่จำกัด ปัญหาค่าจ้างการตัดอ้อยที่สูง ตลอดจนปัญหาขาดแรงงาน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้มีการเผาไร่และตัดอ้อยไฟไหม้เพื่อลดต้นทุน ซึ่งปัญหานี้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหากันอยู่

“สำหรับปัญหาเฉพาะหน้า ยังคงเป็นปัญหาที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแล และสร้างแรงจูงใจ การส่งเสริมการลดการเผาอ้อย การสร้างอ้อยสด 100% ตลอดจนปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้หากภัยแล้งกินระยะเวลาต่อเนื่อง ย่อมกระทบต่อรายได้และเกิดภาระหนี้ภาคครัวเรือนขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว จึงอยากให้รัฐเข้ามาดูแลรวมถึงเตือนภัยเบื้องต้น”นายนราธิป กล่าว

  • มุมมองระบบแบ่งปันผลประโยชน์

นายนราธิปยังฝากมุมมองของชาวไร่อ้อยถึงสถานะระบบแบ่งปันผลประโยชน์อ้อยและน้ำตาลว่า ปัจจุบันชาวไร่อ้อยก็มองว่าไม่เป็นธรรม หากย้อนในอดีตระบบนี้เกิดขึ้นช่วงปี 2525/26 ซึ่งก่อนหน้านั้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีปัญหาเยอะมาก ทั้งความไม่มีเสถียรภาพระบบและปัญหาราคาอ้อย ดังนั้น รัฐบาลขณะนั้น จึงได้นำเอาระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานมาใช้ คำว่า แบ่งปันผลประโยชน์ก็เกิดจากการเจรจากันตกลงกัน ซึ่งคิดกันตั้งแต่การแบ่งผลผลิตจากโรงงาน แบ่งรายได้จากมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการนำอ้อยเข้าหีบในโรงงาน ซึ่งในที่สุดก็เลือกเอาการแบ่งรายได้จากมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการนำอ้อยเข้าโรงงาน

โดยขณะนั้นโรงงานน้ำตาลทุกโรงก็ทำน้ำตาลทรายเป็นหลัก น้ำตาลทรายจึงเป็นผลิตภัณฑ์หลัก เป็นตัวกำหนดแหล่งที่มาของรายได้นำไปแบ่งผลประโยชน์ โดย 70 ส่วนของรายได้ เป็นของชาวไร่อ้อยนำไปกำหนดราคาอ้อย ใช้บังคับ 5 ปี จนปี พ.ศ.2527 ได้มีการออกพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย และได้เพิ่มผลพลอยได้ทั้งหมดเข้ามา ซึ่งได้กำหนดกากน้ำตาลไว้ในบทบัญญัติเป็นผลพลอยได้ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในขณะนั้น ดังนั้นในฤดูการผลิต 2530/31 จึงได้นำรายได้จากกากน้ำตาลที่ได้เจรจาตกลงกันมาเพิ่มเป็นรายได้ของราคาอ้อย โดยยังคงแบ่งปันตามสัดส่วน 70:30 ตามเดิม

ดังนั้นการเพิ่มเติมในบทบัญญัติการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้าตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ในนิยามผลพลอยได้ ซึ่งได้เพิ่ม กากอ้อยเข้ามา และยังคงรวมถึงผลพลอยได้อื่นใดที่ได้จากการผลิตน้ำตาลทรายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งมองไปแล้วก็ไม่ได้ต่างจากพระราชบัญญัติฉบับเดิมแต่ได้ขยายความชัดเจนเกี่ยวกับชนิดของผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกรอบระยะเวลาการเจรจาก็อยู่ในบทบัญญัติที่กฎหมายวางไว้

แน่นอนที่สุดเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เราได้พูดคุยกันแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2530/31 ซึ่งได้เจรจากันอยู่เกือบ 2 ปี ตามกรอบหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2530 ตามข้อหารือของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2530 จึงได้ตกลงกันและประกาศใช้เป็นประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้าตาลทราย เพื่อใช้บังคับตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายเกี่ยวกับระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 5 ปีแรกได้สิ้นสุดลง ซึ่งทุกฝ่ายก็ได้ให้ความร่วมมือกันด้วยดี

สำหรับปัญหาเฉพาะหน้า ก็ยังคงเป็นปัญหาที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแล และสร้างแรงจูงใจ การส่งเสริมการลดการเผาอ้อย การสร้างอ้อยสด 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้ซึ่งหากภัยแล้งกินระยะเวลาต่อเนื่อง ย่อมกระทบต่อรายได้และเกิดภาระหนี้ภาคครัวเรือนขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว จึงอยากให้รัฐเข้ามาดูแลรวมถึงเตือนภัยเบื้องต้น

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3909 วันที่ 30 กรกฎาคม -2 สิงหาคม พ.ศ. 2566