ค้าไทย-เมียนมาไม่สดใส 6 ปัจจัยทุบซํ้า เศรษฐกิจซบเซา

04 พ.ค. 2566 | 07:48 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2566 | 08:05 น.
806

บรรดาเจ้าของธุรกิจ ประชาชนในย่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา หรือตลอดเส้นทางการค้าแม่สอด-เมียวดี ต่างพบกับความผิดหวังต่อเนื่อง นับตั้งแต่โลกต่างเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลากยาวมาถึงการเกิดรัฐประหารขึ้นในเมียนมา

ค้าไทย-เมียนมาไม่สดใส 6 ปัจจัยทุบซํ้า เศรษฐกิจซบเซา

จนถึงวันนี้ภาพรวมทางเศรษฐกิจยังเงียบเหงาบรรยากาศการค้า การลงทุนหยุดชะงัก ภาคการท่องเที่ยวยังรอความสงบ “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ถึงภาพรวมบรรยากาศการค้า การลงทุนในครึ่งแรกปี 2566 รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตาม

นายกริช กล่าวว่า หลังคนมองข้ามวิกฤติโควิดไปแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางการค้า-การลงทุนของเมียนมา โดยเฉพาะ6 ปัจจัยเสี่ยงทางการค้าที่สำคัญ ได้แก่ 1.ความไม่สงบภายในประเทศ ที่หากยังคงมีการสู้รบกันอยู่จากทุกภาคส่วน ก็จะส่งผลกระทบสู่การค้าระหว่างประเทศอย่างแน่นอน

 2.อัตราแลกเปลี่ยน แม้ปัจจุบันนี้จะคงนิ่ง ๆ อยู่ที่ 2800-2900 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ยังคงตกตํ่ากว่าก่อนโรคระบาดโควิดอยู่มาก ส่งผลให้การค้าขายสินค้า ที่เป็นสินค้าอุปโภค-บริโภคยากมากยิ่งกว่าเดิม เพราะราคาสินค้านำเข้าทุกชนิด ต้องปรับให้สูงขึ้น ขณะที่ค่าแรงไม่ได้ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้คนมีกำลังซื้อน้อยลง 3.กระแสเงินสดในตลาดที่ลดลง การหาซื้อเงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่เงินจ๊าด เป็นไปอย่างยากลำบาก เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศมาก

กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา

4.ข้อกำหนดที่ทางการเมียนมา กำหนดให้การนำเข้าสินค้า จะต้องมีเอิร์นนิ่งมันนี่ หรือเงินที่ได้จากการส่งออก จึงจะนำเข้าได้ ทำให้ผู้นำเข้าจำเป็นต้องเลือกสินค้านำเข้าที่เป็นสินค้าที่ปล่อยมือง่ายเท่านั้น เพราะหากนำเข้าสินค้าที่ปล่อยมือช้า จะทำให้สต๊อกคงค้างมาก จะทำให้เกิดการขาดเงินทุนหมุนเวียนได้ จึงเป็นอุปสรรคอย่างมาก

 5.การลงทุนแม้จะมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เข้มข้นกว่าเดิม แต่นักลงทุนทั่วไปที่ไม่มีความเชื่อมั่นต่อนโยบายรัฐบาลหลาย ๆ นโยบาย อีกทั้งสถานการณ์ความไม่สงบที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะไปลงทุน

 และ 6.การขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในเมียนมา จะส่งผลให้การผลิตหยุดชะงักลง ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลมาก แต่ทุก ๆ ปีในฤดูฝนจะมีกระแสไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการเสมอ ในปีนี้คงต้องรอดูอีก 3 เดือนข้างหน้าจากนี้ไป

ค้าไทย-เมียนมาไม่สดใส 6 ปัจจัยทุบซํ้า เศรษฐกิจซบเซา

 

  • ไทยยังต้องการแรงงานต่างด้าว

ส่วนมุมมอง ความมั่นคงด้านแรงงานของไทยในสถานการณ์ที่เมียนมาไม่ปกตินี้ มองว่าแรงงานเมียนมาในไทยยังคงเป็นแรงงานที่มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งของแรงงานต่างชาติ ปัจจุบันไทยยังมีจำนวนแรงงานที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ ปัญหานี้เป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากช่วงโรคระบาดโควิด-19 ทางการไทยได้เร่งเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานอย่างเร่งด่วน แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะต้องดูทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงจะสามารถแก้ไขได้

 อีกทั้งประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยตั้งแต่ปี 2565 ที่ประชากรที่มีอายุเกินวัยเกษียณมีมากถึง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่อยู่ในวัยทำงานส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยอยากทำงานที่ใช้แรงงาน หรืองานที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าที่จะเป็นแรงงานไร้ฝีมือแล้ว จึงเป็นเรื่องปกติที่แรงงานทุกคน จะเลือกหางานที่ตนเองคิดว่าเหมาะสมกับสถานะ ดังนั้นการปั้นแรงงานไร้ฝีมือ เพื่อเข้ามาทำงานในกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะฝีมือ จึงค่อนข้างยากมากขึ้นเรื่อยๆ อนาคตอุตสาหกรรมไทย หากต้องการแรงงานไร้ทักษะฝีมือ ที่มีค่าแรงตํ่า จำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ตํ่ากว่า

  • หวัง 3 ส่วนปลุก ศก.ไทย

 สำหรับตัวช่วยสำคัญในการปลุกเศรษฐกิจไทย มอง 3 อันดับแรกคือ 1.การท่องเที่ยว ในสภาวะของตลาดโลกวันนี้ ทุกประเทศย่อมทำการรัดเข็มขัดตัวเองในการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยงเชิงสันทนาการ เชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือเชิงสุขภาพ ล้วนแล้วแต่เป็นที่ต้องการของชาวต่างประเทศทั้งสิ้น

 2.การส่งออกในตลาดใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีการทำการตลาดไว้ โดยเฉพาะตลาดโลกที่สาม ที่แม้ทุกประเทศจะพยายามรัดเข็มขัดตนเองอยู่ แต่ตลาดโลกที่สามที่ไทยยังไม่ได้ทำการตลาด ก็ยังมีอีกหลายประเทศ อีกทั้งหากมุ่งเน้นให้เกิดเป้าหมายใหม่ ๆ ที่ชัดเจน น่าจะสามารถสร้างตัวเลขเพิ่มขึ้นได้

 3.รัฐบาล (ใหม่) ควรจะต้องเร่งนโยบายการคลังให้มาก โดยควรต้องหันส่งงบประมาณลงไปที่โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้มากๆ เพราะจะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้ามากขึ้น เพราะการใช้เม็ดเงินไปลงที่ตัว C (Consumption) หรือการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ด้วยการสร้างวินัยการเงินที่ผิดพลาด อาจจะส่งผลระยะยาวต่อประเทศชาติได้ แต่การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระยะยาวจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติได้เป็นอย่างดี

 “ในฐานะนักธุรกิจอยากได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำที่มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ และฉลาดหลักแหลม แน่นอนต้องเป็นผู้ที่มือสะอาด ไม่สร้างภาระไว้ให้ลูกหลานในระยะยาว” 

  • ขอรัฐบาลใหม่ไม่ทำประเทศพัง

นายกริช กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย ปัญหาระยะใกล้ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง น่าจะเป็นปัญหาของนโยบายการเมือง ที่กำลังจะเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ถ้าหากเลือกได้พรรคการเมืองที่ไม่ดีหรือทำให้บ้านเมืองเกิดความเสี่ยงสูง ก็จะทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้ายากลำบากมากขึ้น แต่ถ้าได้พรรคการเมืองที่มีนโนบายที่ดี ไม่เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้บ้านเมืองล่มสลาย ก็จะเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ในยุคหลังโรคระบาดโควิด-19 นี้ ทุก ๆ ประเทศจะต้องมีการปรับตัวทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นหากประเทศไทยเราไม่ปรับตัว หรือปรับตัวช้ากว่าประเทศอื่น เราก็จะเดินหน้ายากเช่นกัน

นายกริช ยังประเมินต่ออีกถึง สถานะการเมืองไทย  เศรษฐกิจไทย   และภาพลักษณ์ไทย ในขณะนี้ว่าสถานะการการเมืองไทย ในสายตาต่างประเทศ ตามที่ตนได้เดินทางไปหลายประเทศหลังจากโรคระบาดจบลง ทุกคนต่างจับจ้องมาที่เรื่องของการเมืองไทย ทำให้เขาสามารถวิเคราะห์และมีข้อคิดเห็นต่อประเทศไทยเราได้อย่างดี แม้แต่คนขับรถแท็กซี่ในสิงค์โปร์ ที่ได้เข้าไปใช้บริการ  เขายังพูดถึงการเมืองไทยได้อย่างชัดเจนกว่าคนไทยบางคนเสียอีก

สิ่งที่เขาพูดเขาวิจารณ์ คงไม่สามารถนำออกมาพูดในช่วงนี้ได้ เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง แต่ต้องบอกได้แต่เพียงว่า ทุกชนชั้นในหลายๆประเทศ ต่างจับตาดูว่า ผลของการเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน คงต้องฝากให้พี่น้องชาวไทยเรา ช่วยกันออกไปเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุด ตามที่เราคิดว่าดี เพราะทุกคนย่อมมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ควรจะละเลยสิทธิเหล่านั้น

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3884 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566