เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (8)

02 ก.พ. 2566 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2566 | 13:30 น.

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (8) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3858

หายหน้าไปช่วงหนึ่งจนผู้อ่านสอบถามมาว่า ผมติดโควิดอีกรอบหรือ ผมไม่ได้เป็นอะไร และสบายดี เพียงแต่แว่บไปไหว้เจ้าช่วงหยุดยาววันตรุษจีนที่ต่างจังหวัด มาคุยต่อกันเลยดีกว่าครับ ...  

ที่ผ่านมา เราได้เห็นการนำเอาหุ่นยนต์ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในจีนอย่างดาษดื่น เพื่อลดภาระค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น จนทำให้จีนกลายเป็นตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมากในอนาคต  
 

ขณะเดียวกัน เราได้เห็นจีนนำเอาหุ่นยนต์ที่มาพร้อมกับระบบการสื่อสาร 5G และปัญญาประดิษฐ์ ไปใช้ในการทำเกษตรยุคใหม่ เพื่อต่อสู้กับปัญหาต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง การหดหายไปของจำนวนเกษตรกร ความสลับซับซ้อนของปัจจัยแวดล้อมทางธรรมชาติ และอื่นๆ 

ตามแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) จีนพยายามสานต่อการปูพื้นฐานไปสู่ความทันสมัยด้านการเกษตร และหวังให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี 2035 โดยมุ่งหวังพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ ส่งเสริมการเพาะปลูกที่หลากหลาย ปรับปรุงคุณภาพ เสริมสร้างแบรนด์ และให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน 

รัฐบาลจีนพยายามดำเนินการในหลายรูปแบบเพื่อหวังเรียนลัด เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตร และพัฒนาการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับต่างชาติ การส่งทีมงานไปศึกษารูปแบบและแนวทางจากต่างประเทศ และการดึงดูดธุรกิจการเกษตรชั้นนำจากต่างประเทศให้เข้าไปลงทุนในจีน  

โดยหนึ่งในแนวทางก็ได้แก่ การนำเอาเครื่องทุ่นแรงหลากรูปแบบมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาหุ่นยนต์และเทคโนโลยีดิจิตัลมาช่วยในการทำการเพาะปลูก และการเลี้ยงไก่ หมู และ สัตว์น้ำ มากขึ้นในช่วง 10 ปีหลังนี้ จนนักวิเคราะห์หลายคนเปรยว่า หุ่นยนต์กำลังเป็น “ทางออก” ของเกษตรกรรมสมัยใหม่ของจีน 

ตัวอย่างแรกของผมย้อนกลับไปในปี 2019 เมื่อสถาบันวิจัยภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์ทางการเกษตรแห่งฝูเจี้ยน (Fujian Academy of Agricultural Sciences) และบริษัท ฝูเจี้ยนนิวแลนด์อีร่าไฮเทค จำกัด (Fujian Newland Era Hi-Tech Co Ltd) สตาร์ตอัพท้องถิ่น ได้เปิดตัวการใช้หุ่นยนต์สะอาดตาในเรือนกระจก ณ นครฝูโจว เมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยน ด้วยการสนับสนุนและความร่วมมืออันดีจากต่างชาติ จีนสามารถพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์มาติดตั้งกับหุ่นยนต์เกษตร ที่พร้อมพรั่งด้วยอุปกรณ์สื่อสาร 5G และเซนเซอร์ชั้นดี  

หุ่นยนต์เกษตรสีขาวที่ผมแอบตั้งชื่อว่า “นิวแลนด์” นี้ สามารถปฏิบัติงานในรูปแบบ และพืชพันธุ์และสัตว์น้ำที่หลากหลายได้ โดยในการสาธิตครั้งนั้น หุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ระหว่างสองฟากฝั่งของไม้ใบ เก็บข้อมูล และส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุม มิใช่เพียงงานรูปแบบเฉพาะที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเหมือนดั่งเช่นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเท่านั้น  

                           เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (8)

คอมพิวเตอร์ของหุ่นยนต์นี้มีอัลกอริธึม และกล้องระดับความละเอียด 5-7 เม็กกะพิกเซลที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนตา และหู ที่ประมวลผลตำแหน่ง ผังของเรือนเพาะปลูก พื้นถนน และสิ่งกีดขวาง รวมทั้งตรวจจับระดับความชื้น อุณหภูมิ การไหลเวียนของอากาศ คาร์บอนไดออกไซด์ และ ปัจจัยทางธรรมชาติอื่น เพื่อคำนวณระดับการให้ปุ๋ยและน้ำ ขณะที่ข้อมูลสภาพการเติบโตของพืชพันธุ์ที่ได้รับ ก็อาจถูกใช้เพื่อการพิจารณาการควบคุมศัตรูพืช 

หุ่นยนต์เกษตรที่เชื่อมโยงด้วยระบบการสื่อสาร 5G ทำให้ข้อมูลดังกล่าวถูกส่งไปคำนวณที่ห้องควบคุม ซึ่งพร้อมสรรพด้วยปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างโมเดลการเติบโตสูงสุดของพืชผัก ที่เกี่ยวข้องภายใต้การควบคุมอัตโนมัติ และการเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับศัตรูพืชและโรคพืช 

อีกโครงการหนึ่งที่คล้ายคลึงกันมีชื่อว่า “คลาวด์มายด์” (CloudMinds) เพียงแต่หน้าตาของหุ่นยนต์เกษตร ภายนอกก็คล้ายกับรถไร้คนขับขนาดเล็กที่ติดตั้งกล้องแฝดและเซ็นเซอร์รอบทิศมากกว่า  อย่างไรก็ดี การเคลื่อนตัวของหุ่นยนต์ จะไปตามรางที่ติดตั้งไว้ระหว่างแปลงเกษตรมาตรฐาน 

ขณะที่จุดเด่นของคลาวมายด์ที่ต่อยอดจากโครงการก่อนหน้านี้ ก็คือ การออกแบบให้มีกระบะใส่ของที่ด้านบน และแขนกลอัจฉริยะคู่ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและฟังก์ชั่นในการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เช่น มะเขือเทศ 

กล้องแฝดนี้ช่วยให้หุ่นยนต์แยกความแตกต่างในมิติเชิงลึก ทำให้สามารถแยกประเภท สภาพ และตำแหน่งของผลผลิตได้แม่นยำยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน หุ่นยนต์ยังติดตั้งกล้องที่ปลายแขนกลเพื่อความแม่นยำในระยะใกล้  

แขนกลคู่ดังกล่าวมีความเร็ว ความแม่นยำ และเสถียรภาพสูงในการปฏิบัติงาน รวมทั้งแฝงไว้ด้วยความยืดหยุ่น โดยสามารถปรับเปลี่ยนส่วนปลายแขนตามที่ต้องการ อาทิ มือจับ กรรไกรไฟฟ้า ตะกร้าผลไม้ และอื่นๆ ทำสามารถทำงานกับผลผลิตทางการเกษตรหลายประเภท 

ขณะเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้การเกษตรแม่นยำเกิดขึ้นในจีนอย่างเป็นรูปธรรม โดยช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ย รวมทั้งการสูญเปล่าของทรัพยากรที่ขาดแคลนไปด้วย เช่น น้ำ และดินคุณภาพ 

โดยอาศัยพื้นฐานของระบบอัจฉริยะดังกล่าว นักประดิษฐ์ยังดัดแปลงหุ่นยนต์ “คลาวมายด์” ให้สามารถปฏิบัติงานเฉพาะในด้านอื่นได้อีกด้วย เช่น การฉีดพ่น และการตัดหญ้า ซึ่งช่วยลดภาระแรงงาน ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกไปพร้อมกัน 


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน