เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (4)

31 ธ.ค. 2565 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2566 | 23:01 น.
875

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (4) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรฐกิจ ฉบับ 3848

 

อย่างที่เกริ่นไปเมื่อคราวก่อนว่า จีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก พื้นที่เพาะปลูกต้องถูกจัดสรรเพื่อการทำเกษตรกรรมหลากหลายประเภท การปรับเปลี่ยนนโยบายและเป้าหมายในด้านการเกษตร จึงมีความสำคัญอย่างมาก นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรจับตาดู “การพลิกตัว” ของมังกรกันอย่างใกล้ชิด แต่ในวงการสินค้าเกษตรและอาหารโลกก็มี “เงาทะมึน” ของยักษ์ใหญ่ที่แม้กระทั่ง “มังกร” เองก็ยังต้องกริ่งเกรง ...


หลายคนคงไม่อยากเชื่อว่า แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่สุดในวงการสินค้าเกษตรและอาหารโลก แต่อิทธิพลของจีนในห่วงโซ่อุปทานอาหารโลกยังอยู่ในข่าย “อ่อนแอ” และแฝงไว้ซึ่งความ “เปราะบาง” 


ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ระดับการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 101.8% ในปี 2000 ลงมาอยู่ที่ 76.8% ในปี 2020 


ขณะที่ในช่วง 2-3 ปีหลัง สถานการณ์ดังกล่าวดูจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นเมื่อจีนก็ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด พลังงาน โลจิสติกส์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอีกสารพัดความท้าทาย ในปี 2021 จีนนำเข้าธัญพืชสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 164.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 18% ของปีก่อน แถมแหล่งซัพพลายสำคัญของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซียและยูเครน ก็ทำท่าจะ “แขวนอยู่บนเส้นด้าย” ในอนาคต


ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าข้าวโพดจากยูเครนคิดเป็นเกือบ 30% ของการนำเข้าข้าวโพดโดยรวม และพึ่งพาข้าวบาร์เลย์ของยูเครน ถึงกว่า 1 ใน 4 ของการนำเข้าโดยรวมของจีน หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ยุติลงในอนาคตอันใกล้ ซัพพลายสินค้าเกษตรดังกล่าวของยูเครนสำหรับจีนในปีหน้า ก็แฝงไว้ซึ่งความเปราะบางยิ่งขึ้น 


คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) หรือ “สภาพัฒน์ของจีน” คาดการณ์ไว้ว่า หากแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ ระดับความมั่นคงทางอาหารของจีนจะลดลงมาอยู่ที่ 65% ภายในปี 2035 ซึ่งสะท้อนว่าจีนมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารที่สูงขึ้น


ในประเด็นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารโลกเตือนว่า ธุรกิจด้านการเกษตรของจีนมีอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศค่อนข้างจำกัด และขาดกลยุทธ์ที่บูรณาการเข้ากับตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบัน ตลาดโลกยังอยู่ในมือของเทรดเดอร์รายใหญ่ 4 รายที่อยู่ในตัวย่อว่า “ABCD” อันได้แก่ ADM (เอดีเอ็ม) Bunge (บันช์) Cargill (คาร์กิลล์) และ Louis Dreyfus (หลุยส์ เดรย์ฟัส)


หากเราเรียกจีนว่าเป็น “โรงงานของโลก” ABCD ก็เป็นเสมือน “ซุปเปอร์มาร์เก็ตของโลก” นั่นเอง ABCD ถือเป็นเทรดเดอร์สินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก มีสัดส่วนระหว่าง 75-80% ของปริมาณการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลก 


จนมีคำกล่าวว่าตั้งแต่ตื่นจนนอน ผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลกต่างต้องเป็นลูกค้าของยักษ์ใหญ่ทั้งสี่ดังกล่าวไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไล่ตั้งแต่ข้าวสาลีในขนมปัง ส้มในน้ำผลไม้ น้ำตาลในแยม ช็อกโกแล็ตในบิสกิต กาแฟในถ้วย น้ำมันพืชในไข่ดาว ไปจนถึงเนื้อวัว ไก่ หรือหมู รวมทั้งสินค้าที่ส่วนผสมของเกลือ แป้ง กลูเทน ไขมัน และ สารให้ความหวาน


“เจ้าพ่อ” แห่งวงการอาหารโลกดังกล่าวยังเข้าไปเกี่ยวข้องทางด้านการเงินตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภคสินค้าเกษตร และด้วย “ขนาด” ที่ใหญ่ของกิจการเหล่านี้ ก็ทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพสูง จนความพยายามทำตลาดของรายย่อยไม่อาจระคายผิวได้ 


และโดยที่การค้าธัญพืช นับว่าเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนเข้มข้น ซึ่งอาจแตกต่างจากความเข้าใจของคนจำนวนมาก กิจการเหล่านี้ได้ใช้เงินลงทุนจำนวนมากกับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บ ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอื่น


หากมองเจาะลึกลงไปถึงตลาดเฉพาะในแต่ละประเทศ กิจการเหล่านี้ “ครอบงำ” ตลาดอยู่สูงเช่นกัน เช่น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็พบว่า เอดีเอ็ม บันช์ และคาร์กิลล์มีความสามารถในการแปรรูปถั่วเหลืองถึง 80% ของกำลังการผลิตโดยรวมของจีน

                            เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (4)
กิจการเหล่านี้ยังพยายาม “สร้างอิทธิพลเหนือตลาด” ด้วยการจับมือกับบริษัทข้ามชาติในวงการอาหารเพิ่มขึ้นอีก ยกตัวอย่างเช่น เอดีเอ็ม บันช์ และ คาร์กิลล์ ได้ทำพันธมิตรเชิงยุทธ์และร่วมลงทุนกับบริษัทเมล็ดพันธุ์พืชและเคมีเกษตร ซึ่งมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมการเกษตรของระบบอาหารโลก 


ในวงการเมล็ดพันธุ์พืชก็มี 4 บริษัทรายใหญ่ อันได้แก่ มอนซานโต (Monsanto) ซึ่งจัดตั้งในมลรัฐเดลาแวร์ และมีสำนักงานใหญ่ในมลรัฐมิสซูรี ดูปองท์ (Dupont) ซึ่งจัดตั้งและมีสำนักงานใหญ่ในเดลาแวร์ ซินเจนตา (Syngenta) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ และ ลิมาเกรน (Limagrain) สหกรณ์การเกษตรระหว่างประเทศที่มีฐานใหญ่อยู่ที่ฝรั่งเศส ที่ครองสัดส่วนตลาดมากกว่า 50% ของการค้าเมล็ดพันธุ์พืชโลก


ขณะที่ในตลาดเคมีเกษตร ก็มีผู้เล่น 6 รายใหญ่ อันได้แก่ ดูปองท์ มอนซานโต ซินเจนตา ดาว (Dow) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่มลรัฐมิชิแกน และไบเออร์ (Bayer) และ บาสฟ์ (BASF) สองยักษใหญ่จากเยอรมนี ครองสัดส่วนรวมกันราว 3 ใน 4 ของตลาดโลก 


เราไปทำความรู้จักกับ ABCD เทรดเดอร์ระดับโลกในแต่ละรายกันอีกสักหน่อยดีกว่า ... 


เอดีเอ็ม (ADM) เป็นชื่อย่อจาก “Archer Daniels Midland” (อาร์เชอร์ แดเนียลส์ มิดแลนด์) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี1902 ในรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยกเว้นการเรียกเก็บภาษี มีสำนักงานใหญ่ในชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ และลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก 


หลังจากเริ่มต้นธุรกิจเม็ดพันธุ์พืชอยู่นานหลายปี บริษัทก็ได้ขยายการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เอดีเอ็ม มีขอบข่ายธุรกิจค่อนข้างกว้างขวางตั้งแต่การซื้อขาย การแปรรูป และการจัดเก็บ รวมทั้งการขนส่งหลายสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลืองและเมล็ดพืชน้ำมันอื่น ข้าวโพด ข้าวสาลี โกโก้ และสินค้าเกษตรอื่น อาทิ สารให้ความหวานจากข้าวโพด เชื้อเพลิงชีวภาพ และ สารแต่งเติมอาหาร 


นอกจากนี้ เอดีเอ็มยังมีบริษัทขนส่งทางน้ำอเมริกัน (American River Transportation Company) และเอดีเอ็มทรักกิ้ง อิ้งค์ (ADM Trucking, Inc.) เพื่อขนส่งสินค้าทางน้ำและทางถนนของตนเอง ตามลำดับ


ณ ต้นปี 2022 บริษัททำรายได้ราว 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรสุทธิ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดอยู่ในอันดับที่ 54 ในฟอร์จูน 500 ของบรรดากิจการที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ 


บันช์ (Bunge) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายศตวรรษ 19 ในฐานะกิจการครอบครัวที่ทำธุรกิจเทรดเดอร์ในอเมริกาใต้ แต่ต่อมาก็ย้ายมาจดทะเบียนจัดตั้งที่หมู่เกาะเมอร์บิวดา เพื่อประโยชน์ในแง่ของการลดภาระภาษี โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ และถือเป็นกิจการที่ลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กที่เก่าแก่ที่สุดรายหนึ่ง


บันช์มุ่งหวังที่จะเชื่อมห่วงโซ่แห่งคุณค่าจากผู้ผลิตไปถึงผู้บริโภคอย่างโปร่งใส โดยบริษัทมีชื่อเสียงในแง่ของการเป็นผู้ผลิตและเทรดเดอร์ใน 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร สินค้าน้ำมันพืช ข้าวและธัญพืชจากการขัดสี น้ำตาลและพลังงานชีวภาพ และ ปุ๋ย รวมทั้งเดินหน้าขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ในไขมันและน้ำมันเฉพาะทาง วัตถุดิบที่นำกลับมาใช้ใหม่ และโปรตีนที่ทำจากพืช 


บันช์มีขนาดธุรกิจเล็กกว่าเอดีเอ็มเล็กน้อย ทั้งนี้ ในปี 2021 บริษัทมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรสุทธิราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 
คราวหน้า ผมจะพาไปรู้จัก C และ D และไปดูกันว่า จีนพยายามทำอะไรบ้างเพื่อสลายขั้วอำนาจของ “ซุปเปอร์มาร์เก็ตของโลก” ...


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน