คิดพหูสูตพูดอัจฉริยะ ฉากที่ 9 ต้นทุนทางสังคม

07 พ.ค. 2565 | 07:10 น.

คิดพหูสูตพูดอัจฉริยะ ฉากที่ 9 ต้นทุนทางสังคม : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3781

รัฐบุรุษระดับโลกท่านหนึ่ง เป็น นักการเมือง นักการทูต นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผลงานที่น่ายกย่อง คือ ประดิษฐ์สายล่อฟ้า สำเร็จเป็นคนแรก ท่านเป็น นักวิทยาศาสตร์ ผู้กล้าลองของเล่นว่าวกลางสายฝน (อิๆ) ว่าวทำด้วยผ้าแพรและมีเหล็กแหลมติดอยู่ ที่ปลายสายป่านเอาลูกกุญแจผูกไว้โดยใช้ริบบิ้นเป็นฉนวนมาผูกต่อไว้กับสายป่านอีกทีหนึ่ง เมื่อฝนตกประจุไฟฟ้าก็ไหลผ่านเชือกเข้าสู่ลูกกุญแจแต่ไม่ผ่านริบบิ้น ท่านจึงรู้ว่าประจุไฟฟ้าที่เสียดสีระหว่างเมฆกับอากาศทำให้เกิดไฟฟ้าสถิต ใช่เลย เบนจามิน แฟรงคลิน ผู้มี สุดยอดคติพจน์ ว่า 


“ถ้าชายคนหนึ่งเทกระเป๋าเงินของเขาลงในหัวของเขา ไม่มีใครสามารถเอาไปจากเขาได้ การลงทุนในความรู้ให้ผลประโยชน์สูงสุดเสมอ”

ผมอาศัยความรู้จากการเรียน ป.ตรี กฎหมาย และ ป.โท นิเทศศาสตร์ เริ่มโต้วาทีในวัยมัธยม ผมควักเงินส่วนตัวเดินทางไปบรรยายถวายความรู้ฟรีกับพระสงฆ์มานานปี ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ คือ การลงทุนอันจะนำมาซึ่งปัญญาและเครดิตตามที่เขาเรียกกันว่า ต้นทุนทางสังคม ได้ความรู้นอกตำราจากกลุ่มผู้คนที่ได้พบปะ ก็นำมาประยุกต์ใช้ในการทำมาหากิน เป็นนักทอล์คโชว์ เป็นนักบรรยาย จนกลายเป็นวิทยากรชำนาญการ

 

ผมเคยถาม ปลัดอำเภอป้ายแดง ในห้องสัมมนาว่า “มหาดไทย แปลว่า อะไร” ทุกคนเป็นผู้เข้าอบรมที่น่ารักเพราะเขายิ้มสยามส่งสายตารอคำตอบกันทั้งห้อง (ฮา) ผมเล่าให้เขาฟังว่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านเป็นผู้ตั้งชื่อกระทรวงมหาดไทยคำศัพท์ที่มาของชื่อกระทรวง คือ “มหทฺย” แปลว่า เมตตายิ่ง! กรุณายิ่ง!

ดร.เสรี วงษ์มณฑา เคยแซวไว้ว่า “หน่วยงานราชการมีตราครุฑเป็นหลัก คนในหน่วยงานจึงคุ้นเคยกับการทำหน้างอตามพญาครุฑ” (แฮ่ะๆ ไม่กล้าฮา เดี๋ยวท่านพญาครุฑจะทรงแวะมาเยี่ยม) ใครทำงานกระทรวงนี้แล้วทำหน้าทำตาอย่างนั้น  ถือว่าเกิดเป็นเสือไม่ไว้ลาย เกิดเป็นผู้ชายไม่ไว้ชื่อ เวลาครูเช็คชื่อในห้องเรียน เจ้าของชื่อมักจะขานชื่อกันผีหลอกโดยที่ไม่รู้ว่าชื่อตัวเองแปลว่าอะไร เราเองได้ชื่อว่าเป็นคนสำนัก “มหาดไทย” เมื่อมีผู้มาติดต่อเราต้องสวมวิญญาณ เมตตายิ่ง กรุณายิ่ง ให้สมกับฃื่อ “มหทฺย” มหา + ทัย คือ ใจใหญ่ ใจกว้าง

 

ขอแวะเล่านิทานนอกตำราสักเรื่อง ไก่ปรึกษาเป็ดว่า “ช่วงไหนมีเทศกาล เราโดนเชือดกันนับไม่ทัน ไปขอให้เทวดาท่านช่วยดีกว่า เอาไหม” เป็ดพยักหน้าเอาด้วย ครั้นเมื่อได้เข้าพบเทวดา ไก่เล่าให้ฟังเหมือนกับที่ปรึกษากับเป็ด เทวดาท่านถามว่า “คนเขาฆ่าไก่แล้วเอาไปทำอะไรกันเหรอ”

 

ไก่อธิบายคร่าวๆว่า “มันก็แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนนะท่าน บางคนก็เอาไปย่างจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟูด บางบ้านเอาไปทอดจิ้มกับซอสพริก” เทวดารำพึงว่า “ฟังดูก็น่าจะอร่อยดีนะ” ไก่อึ้ง เป็ดพูดคำกล้ำไม่ชัดแต่ก็ตั้งใจพูดว่า “กับเหอะ ดูแววแล้วพึ่งยาก” ไก่ไม่ยอมกลับ เป็ดจึงตะโกน  “กับๆๆ ก๊าบ…ก้าบๆ กับๆๆ” นับแต่นั้นมา เป็ดจึงร้อง ก้าบๆ… (ฮา)  


บรูซ บาร์ตัน เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน ผู้บริหารงานโฆษณา นักการเมืองพรรครีพับลิกัน ท่านพูดว่า “ไม่ว่าจะดีหรือร้าย บทสนทนาของคุณคือการโฆษณา ทุกครั้งที่อ้าปาก คุณปล่อยให้มองเข้าไปในใจของคุณ”เป็ดถอดใจไม่หวังพึ่งเพราะประโยคที่ว่า “ฟังดูก็น่าจะอร่อยดีนะ” มันสะท้อนว่าเทวดาองค์นั้น ท่านออกอาการสนใจปีกสัตว์ มากกว่า ห่วงใย สัตว์ปีก อาการเช่นนี้เป็นเค้าลางว่า มีแววจะตกสวรรค์ถ้าเทวดาท่านไม่รีบตั้งสติ

                             คิดพหูสูตพูดอัจฉริยะ ฉากที่ 9 ต้นทุนทางสังคม
เวลาใดที่นักพูดอารมณ์ดีมีเมตตาเขาจะเป็นมนุษย์ ยามใดที่นักพูดอารมณ์ไม่ดีจึงทำเฉยเขาจะเป็นคน อาการแบบนี้ยุคใหม่เรียกว่า ไบโพลาร์ คือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว คนโบราณ เรียกว่า ผีเข้าผีออก (ฮา) นักพูดสายมนุษย์อย่ามัวศึกษา Know How  คือ “รู้วิธี” ควรจะมุ่งเสริมสร้าง Reasonable “รู้ผิดรู้ชอบโดยปกติวิสัย”


ในหลวง ร.9 ทรงเสด็จไปทรงงานในถิ่นกะเหรี่ยงมูเซอ ผู้ใหญ่บ้านประกาศให้ชาวกะเหรี่ยงมูเซอที่เพาะปลูกพืชไร่ ให้นำผลผลิตมาถวายในหลวง จากนั้นก็ทำการซักซ้อมคำราชาศัพท์กันยกใหญ่ ก็ดูเหมือนว่ากะเหรี่ยงจะจำคำราชาศัพท์ได้แล้ว เมื่อถึงวันที่ในหลวงทรงเสด็จมาตรวจงาน กะเหรี่ยงก็ได้ถวายของให้กับในหลวง แต่ด้วยความตื่นเต้นทำให้นึกคำพูดไม่ออก ไม่รู้ว่าต้องพูดอะไรดี จึงพูดออกไปว่า“อันนี้ให้มึง อันนี้ให้เมียมึง ส่วนอันนี้ให้ลูกๆ มึง” (ฮา)

 

ในหลวง ทรงพระสรวลแล้วตรัสตอบว่า 

 

“ขอบใจนะ”


ไลฟ์สไตล์ในหลวงท่านเสมอต้นเสมอปลายแบบนี้ ผมจึงไม่แปลกใจว่าทำไมคนถึงได้สรรเสริญกันว่า


ในหลวงคือเทวดาผู้ทรงคุณอันประเสริฐ