คิดพหูสูตพูดอัจฉริยะ ฉากที่ 8 อ่านทุกอย่างให้ขาด

30 เม.ย. 2565 | 06:30 น.
573

คิดพหูสูตพูดอัจฉริยะ ฉากที่ 8 อ่านทุกอย่างให้ขาด : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3779

หนังจีนดูคุ้มสนุกตรงที่มีมุกประหลาดกวาดเสียงฮาได้สุดกริ๊บ จอมยุทธ์แต่ละแคว้นมารวมตัวกันตรึมเพื่อจะวัดฝีมือว่าใครแน่กว่าใคร รายหนึ่งมีฉายาว่า สามกระบวนท่าคร่าวิญญาณ สู้กับ จอมยุทธ์กระบี่ควักใจ หลังจากสู้กันไปสามกระบวนท่า จอมยุทธ์สามกระบวนท่าคร่าวิญญาณ ถอยห่างไปแปดก้าวเก็บกระบี่เข้าฝักขอหยุดการต่อสู้ไว้แค่นั้น จอมยุทธ์สามกระบวนท่าคร่าวิญญาณ ชี้แจงเหตุผลแบบเปิดอกว่า


“ข้าพเจ้า ได้ชื่อว่า สามกระบวนท่าคร่าวิญญาณ ในเมื่อเรากับท่านต่อสู้กันผ่านไปสามกระบวนท่าก็ยังฆ่าไม่ได้ จึงขอหยุดไว้เพียงเท่านี้ ถ้ายังฝืนดื้อดึงสู้กันต่อไป วิญญาณข้าคงไม่ได้อยู่ในร่างเป็นแน่แท้!” (ฮา) ถ้าผมเป็นคู่ต่อสู้ผมจะคุกเข่าแล้วพูดว่า “ท่านคือจอมยุทธ์ที่รู้จักพอ ครอบครัวท่านโชคดีจริงๆ นับถือ” (ฮา) 

 

 

จอมยุทธ์สามกระบวนท่าคร่าวิญญาณ น่าจะพูดบ้างว่า “ขอบคุณที่ท่านให้เกียรติข้าพเจ้า แค่นี้ก็พึงพอใจแล้ว ถึงแม้จะสู้ท่านไม่ได้ท่านก็ยังมีใจนับถือ ถ้าข้าพเจ้าไม่เจียมตัว นับถือ คงจะเปลี่ยนกลับเป็น นับสิบ” (ฮา)


มื้อนี้ขอแค่สะกิดใจให้นักพูดทุกอาชีพควรหาตัวอย่างมาเล่าให้คนฟังเขาสนุกและเข้าใจหัวข้อที่เราสอนเขาก็พอ เรื่องใหญ่ที่ผู้พูดต้องศึกษาให้ชัดว่าตัวอย่างที่เล่าสอนให้รู้ว่าอะไร บอกไว้เลยว่าแต่ละเรื่องมีข้อสรุปตรึม ไม้เด็ดมันอยู่ตรงที่ว่า เรารู้ไหมล่ะว่า อะไรคือข้อสรุปที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหัวข้อของเรื่อง?
 

รถสุดยอดขนาดไหน จอดไว้เฉยๆ ก็โทรม คนฉลาดแค่ไหนไม่ซ้อมคิดปัญญาก็จะแป๊ก ผมขอกราบเท้า ชวนทุกท่านมาเดากันบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ว่า เรื่องนี้ที่ท่านจะอ่านย่อหน้าถัดไป สอนให้รู้ว่าอะไร    


ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ อาศัยอยู่บนภูเขาหิมาลัยเขาเดินเข้าไปในหมู่บ้านเป็นระยะเพื่อสร้างความบันเทิงให้ชาวบ้าน ด้วยความรู้และความสามารถพิเศษที่เขามีทักษะในการล่วงรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังจะเกิดขึ้น สามารถบอกชาวบ้านได้ว่ามีอะไรอยู่ใน กระเป๋า หรือ กล่อง รู้ด้วยว่าความคิดของคนนั้นคนนี้แอบคิดว่าอย่างไร


เด็กหนุ่มสองสามคนในหมู่บ้านตัดสินใจเล่นตลกกับ ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ เพื่อด้อยค่าความสามารถพิเศษจะได้หมดราคาหน้าแตก เด็กชายคนหนึ่ง ในก๊วนสามกวน จับนกเอามาซ่อนไว้ในมือ เขารู้ว่า ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ ก็รู้ว่าสิ่งที่อยู่ในมือเขาคือนก ในหัวเขามีแผนไม่สะอาดขุดหลุมรออยู่ เขาจะไม่ถามตื้นๆว่า “รู้ไหมว่ามีอะไรอยู่ในกำมือ!”


เขาจะถาม ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ ว่า “นกในมือตายหรือยังมีชีวิตอยู่?” ถ้า ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ บอกว่า นกยังมีชีวิตอยู่ เขาจะทุบนกในมือของเขาให้ตาย ถ้าปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ บอกว่า นกตายแล้ว เขาก็จะปล่อยนกในมือให้บินไปเป็นอิสระ ไม่ว่า ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ จะพูดอะไร จะต้องตกที่นั่งลำบากว่า ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ ที่แท้เป็นคนหลอกลวง 

                                 คิดพหูสูตพูดอัจฉริยะ ฉากที่ 8 อ่านทุกอย่างให้ขาด
วันต่อมา ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ ลงมาจากภูเขาเข้าไปในหมู่บ้าน เด็กชายสายถ่อย จับนกซ่อนไว้ในกำมือ แล้วเดินเข้าไปหาปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ พร้อบกับถามว่า


“ท่านผู้เฒ่า ท่านก็คงรู้ว่า ข้าพเจ้าถืออะไรอยู่ บอกหน่อยสิว่า นกยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว?”


ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ มองดูเด็กชายด้วยความห่วงใยพร้อมกับพูดว่า


 “นกเขาจะเป็นอย่างที่เธอเลือก!”


เราจะสรุปจากแก่นสารว่า อะไร คือ จุดเด่น ต้องคัดออกมาเผื่อเลือก เช่น กูรูผู้วิเศษ มือวางคนละชั้น ไก่เห็นรองเท้างู งูเห็นยกทรงไก่ อ้าปากก็เห็นไส้ติ่ง อย่าประเมินผู้อื่นว่าเอาอยู่ จิตเหนือใจ ชัยชนะที่แท้จริงมิใช่เอาตัวรอดเพียงคนเดียว เราทั้งหลาย (ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ นก ผู้เยาว์ และ ชาวบ้าน) ต้องอยู่รอดไปด้วยกัน ศักดิ์ศรีที่ได้มักจะกลายเป็นสายล่อฟ้า เอาดีมาอวดยังดูดีกว่าอวดดี ให้มันรู้กันซะบ้างว่าใผเป็นใผ 

 

มารยาทเป็นเสน่ห์ของความเป็นมนุษย์ ที่ผมเรียงไว้ใช้ได้ทุกสำนวน อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเอาพฤติกรรมที่สรุปไว้ต่างๆ นาๆ มาจัดวางไว้ในลักษณะเดียวกันเราจะเห็นได้ว่า ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์ ตัวเอกของเรื่อง ท่านรู้นัยโดยรวมเหมือนอย่างที่ผมกับพวกเรารู้ ดังนั้น ในมิติของผมจะขอสรุปว่า ปราชญ์เฒ่าใจทิพย์  “อ่านขาด!” ทุกดอก


เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า “คิดจะอยู่นานๆ ต้องอ่านทุกอย่างให้ขาด!”


ผมใช้บริการ ร้านซาลอนใกล้บ้าน พนักงานสาวในร้านสองคนเธอรำพึงกับผมว่า “เจ๊เจ้าของร้านสั่งให้เปิดร้านแต่ไก่โห่ หนูสองคนตื่นตั้งแต่ตีห้า เจ๊ตื่นหลังเชิญธงชาติ” ผมยิ้มแล้วถามน้องหญิงทั้งสองว่า “น้องรู้ไหมว่าทำไมเจ๊ถึงได้ตื่นหลังเชิญธงชาติ?” พนักงานสาวทั้งสองส่ายหน้า ผมจึงเฉลยให้เธอฟังว่า “เจ๊ตื่นสายเพราะว่ามีเธอรับหน้าลูกค้าอยู่ไง ถ้าจะให้เจ๊ตื่นตีห้า ผมก็ไม่รู้ใจว่าเจ๊จะเอาใครไว้” (ฮา)


พนัก คือ ที่พิง งาน คือ ภาระ เธอยังอ่านไม่ขาดว่า พนักงาน คือ ที่พักพิงของ เจ๊ กับ ลูกค้า (ฮิ้ว)