เล่าเรื่องความมั่งคั่ง ของธุรกิจครอบครัวให้ถูกต้อง

27 มี.ค. 2565 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2565 | 05:22 น.

Designing Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

คนส่วนใหญ่เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการใช้จ่าย การออม ลงทุน และการให้ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กและวัยรุ่น ในบางครอบครัวพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และผู้หลักผู้ใหญ่อาจจะให้คำแนะนำ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และคำตักเตือนเกี่ยวกับสิ่งที่ควรและที่ไม่ควรทำเกี่ยวกับการใช้เงินอยู่เสมอ

 

ขณะที่บางครอบครัวอาจไม่มีใครพูดถึงเรื่องเงินเลย แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดเด็กๆจะซึมซับข้อมูลเหล่านี้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับความมั่งคั่งในชีวิตต่อไป ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงมีคำแนะนำเกี่ยวกับข้อพิจารณาในการสอนลูกเกี่ยวกับความมั่งคั่งของครอบครัวดังต่อไปนี้

ธุรกิจครอบครัว

ควรพูดเรื่องความมั่งคั่งเมื่อใด คำถามเกี่ยวกับเงินครั้งแรกของเด็กหลายคนค่อนข้างจะตอบง่าย และในการตอบคำถามมักมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือสอนเรื่องการอดทนรอคอย ความรับผิดชอบ และความเป็นอิสระ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจทางการเงินอย่างชาญฉลาดต่อไป ซึ่งบทเรียนเล็กๆ เหล่านี้สามารถนำมาสนทนาในชีวิตประจำวันโดยเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย และค่อยๆเพิ่มเรื่องสำคัญมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป

 

ขณะที่เด็กโตก็มักจะสงสัยในการตัดสินใจและความผิดพลาดของพ่อแม่ เมื่อพวกเขามีคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของพ่อแม่ จงใช้โอกาสนี้บอกถึงเหตุผลในการใช้จ่าย การออม และการให้ ในแบบที่คุณทำ รวมถึงการตัดสินใจบางอย่างที่คุณอยากจะทำในแบบที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจแต่ละครั้งจะแสดงให้เห็นว่าค่านิยมของคุณขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆอย่างไร

 

แม้ว่าการเริ่มพูดคุยเรื่องเงินตั้งแต่อายุยังน้อยและการพูดคุยที่เหมาะสมกับวัยอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถามของลูก เมื่อเด็กๆ รู้จักความมั่งคั่งและหมายความของมันแล้ว พวกเขาอาจถามคำถามเช่น เรามีเงินเท่าไหร่ หาเงินได้เท่าไหร่ พ่อแม่จะให้เงินลูกเท่าไหร่ เป็นต้น คำถามเหล่านี้ไม่ใช่คำถามที่พ่อแม่ส่วนใหญ่อยากจะตอบจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในภายหลัง ควรพิจารณาว่าสิ่งไหนที่ต้องการบอกในตอนนี้และในภายหลัง

 

หากต้องตอบคำถามที่เกินขอบเขตมากไป ให้ถามว่าทำไมลูกๆ ถึงอยากรู้ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่อย่างที่คุณคิด บางทีพ่อแม่ของเพื่อนอาจเพิ่งตกงานหรือต้องลดขนาดบ้านของพวกเขา คำตอบที่สามารถนำไปใช้ได้คือ “เป็นคำถามที่น่าสนใจ ทำไมลูกถึงถามแบบนั้น” หรือ “ทำไมลูกถึงคิดว่าจำเป็นต้องรู้ข้อมูลนี้”

 

การใช้คำถามที่ยากเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุย และอาจนำไปสู่การเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการคิดสำหรับวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว สิ่งสำคัญคือต้องอธิบายว่าเหตุใดพ่อแม่จึงยังไม่พร้อมที่จะบอกเรื่องเหล่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการไม่บอกอะไรไม่ใช่เพราะขาดความไว้วางใจหรือความรัก

 

แต่เป็นเพราะการทำความเข้าใจเรื่องเงินจำนวนมากในมุมมองที่ถูกต้องนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจในคุณค่าความมั่งคั่งของครอบครัว ความรู้ด้านการเงินที่ดี และวุฒิภาวะที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการสั่งสม ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่จะบอกลูกที่โตแล้วว่าคุณตั้งใจจะบอกข้อมูลเพิ่มเติมกับพวกเขาในอนาคตเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

 

พ่อแม่บอกเล่าด้วยตัวเอง การให้ข้อมูลเท็จถือเป็นความคิดที่ไม่ดีเลย เพราะไม่เพียงอาจบั่นทอนความไว้วางใจลง แต่ยังเป็นเพราะลูกๆสามารถสืบหาความจริงเองได้จากอินเทอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลสำหรับคนที่อยากรู้อยากเห็นให้เข้าถึงได้ไม่ยาก

 

หากลูกถามคำถามที่สามารถหาคำตอบได้เองทางออนไลน์ ทางที่ดีที่สุดคือให้ลูกฟังคำตอบจากพ่อแม่ ทั้งนี้เจ้าของธุรกิจครอบครัวมักประสบปัญหาในเรื่องการขายบริษัทส่งผลกระทบต่ออัตลักษณ์ของครอบครัวในชุมชนตลอดจนการเงินของบริษัท

 

ทั้งนี้การให้ข้อมูลที่เหมาะสมกับวัยของลูกเกี่ยวกับการตัดสินใจและขั้นตอนการขายกิจการจะช่วยให้ลูกๆเข้าใจการทำธุรกรรมนี้ได้ โดยการตัดสินใจเหล่านี้เชื่อมโยงกับค่านิยมและมรดกของครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ต้องให้ความรู้แก่คนรุ่นต่อไปเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา

 

นอกจากนี้หากไม่มีข้อมูลเพียงพอ ลูกอาจคิดว่าเงินที่ได้ทั้งหมดจะเข้าบัญชีของครอบครัวโดยตรง ซึ่งไม่ค่อยเป็นความจริงนัก ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ที่นำกลับมาลงทุนในธุรกิจที่มีกำไร การนำไปลงทุนในธุรกิจใหม่หรือใช้เพื่อเป็นเงินทุนในการกุศล พร้อมด้วยเหตุผลที่เหมาะสม ขอจงตระหนักว่าข้อมูลน้อยเกินไปในบางครั้งอาจสร้างความเสียหายได้พอๆ กับข้อมูลที่มากเกินไปเช่นกัน

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,768 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2565