การขายธุรกิจครอบครัว ส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างไร

19 มี.ค. 2565 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2565 | 19:53 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

แน่นอนว่าธุรกิจครอบครัวต้องมีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกในครอบครัวในแง่ต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าความเสี่ยงมากที่สุดต่อความมั่งคั่งของครอบครัวมีสาเหตุเกิดจากผลการกระทำและความผิดพลาดของสมาชิกในครอบครัวมากกว่าปัญหาภายนอก โดยการสำรวจล่าสุดของ Cazenove Capital เปิดเผยว่าครอบครัวที่มั่งคั่ง 49% ยืนยันในเรื่องนี้

 

โดยปัญหาที่พบมากที่สุดได้แก่ การไม่มีภาวะผู้นำหรือมีภาวะผู้นำครอบครัวที่ไม่ดี รองลงมาได้แก่ ความขัดแย้งในครอบครัวที่นำไปสู่การล่มสลายของทรัพย์สินครอบครัว และคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมน้อยเกินไป ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีการขายธุรกิจครอบครัว

 

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าก่อนวางแผนออกจากธุรกิจ ผู้ประกอบการควรปรึกษาพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวของตนก่อน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อพวกเขาเช่นกัน อาทิ สมาชิกในครอบครัวบางคนอาจทำงานให้กับบริษัทโดยมีความตั้งใจอยากจะรับช่วงต่อ ขณะที่บางคนอาจวางแผนจะเข้ามาร่วมทำงานในอนาคต เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันของสถานการณ์ทางการเงินอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใกล้ชิดเหล่านี้ได้ 

 

ทั้งนี้เมื่อจะขายกิจการผู้เป็นเจ้าของจะมีความกังวลหลายประการซึ่งพบว่าประเด็นแรกและสำคัญที่สุดคือ เจ้าของธุรกิจจะกังวลว่าตนจะขายบริษัทให้กับผู้ที่เหมาะสมหรือไม่ ประการที่สอง ต้องการทราบว่าจะสามารถรักษาไลฟ์สไตล์แบบเดิมของตนเองและครอบครัวต่อไปด้วยรายได้จากการขายกิจการหรือไม่ และประการที่สามจำเป็นต้องรู้ด้วยว่าการขายกิจการจะไม่เป็นผลร้ายต่อชีวิตครอบครัวของตน ดังนั้นเมื่อจะขายกิจการจึงควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้

ธุรกิจครอบครัว

ความมั่งคั่งมีไว้เพื่อใคร เมื่อสอบถามครอบครัวที่มั่งคั่งว่ามีมุมมองเกี่ยวกับเป้าหมายของความมั่งคั่งอย่างไร 63% กล่าวว่าพวกเขามองว่าตนเองเป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์สมบัติให้คนรุ่นต่อไป ซึ่งแม้จะพบว่าเจ้าของธุรกิจจำนวนมากตัดสินใจขายกิจการเพื่อประโยชน์ของครอบครัว แต่การโต้เถียงกันในครอบครัวมักเกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องมรดกและการสืบทอดกิจการโดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่แบ่งไม่ได้ เป็นต้น

 

ดังนั้นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวควรรีบทำความเข้าใจกับเจ้าของธุรกิจว่าต้องการจัดการเงินของพวกเขาอย่างไร ควบคู่ไปกับการรักษาไลฟ์สไตล์ของพวกเขาด้วย และอาจรวมถึงการแบ่งมรดกให้แก่สมาชิกในครอบครัวที่อาจอยู่เบื้องหลังอีก ซึ่งการตระหนักในสิ่งเหล่านี้โดยเร็วที่สุดจะช่วยให้การวางแผนด้านภาษีและการสืบทอดกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

วิธีการแบ่งทรัพย์สินของครอบครัว จากการสำรวจเจ้าของธุรกิจที่มั่งคั่งพบว่าเมื่อทำการแบ่งทรัพย์สินของครอบครัว การแบ่งมรดกโดยยึดตามความเป็นเจ้าของที่เท่าเทียมกันเป็นวิธีแก้ปัญหาที่พบมากที่สุด (48%) อย่างไรก็ตามแนวทางนี้อาจเป็นปัญหากับธุรกิจครอบครัว เนื่องจากสมาชิกครอบครัวบางคนเป็นผู้ถือหุ้นและผู้บริหารบริษัทด้วย ขณะที่บางคนเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้มีส่วนในการบริหาร จึงอาจมีมุมมองแตกต่างกันซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นได้

 

ขณะที่วิธีแก้ปัญหาที่ได้รับความนิยมรองลงมา (35%) คือการจัดสรรสินทรัพย์ขนาดใหญ่ เช่น บริษัทหรืออสังหาริมทรัพย์ให้กับสมาชิกในครอบครัวที่สนใจ และชดเชยให้กับสมาชิกคนอื่นๆด้วยทรัพย์สินที่มีมูลค่าใกล้เคียงกัน โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าวิธีนี้มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง เนื่องจากลูกหรือคู่สมรสซึ่งมีความสนใจสามารถเข้ามารับช่วงต่อบริษัทได้ ในขณะที่คนอื่น ซึ่งไม่ได้สนใจบริษัทมากนักก็จะไม่รู้สึกว่าเสียเปรียบแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้มีครอบครัวที่มั่งคั่งเพียง 7% เท่านั้นที่เลือกขายธุรกิจและแบ่งทรัพย์สินอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งมักพบในธุรกิจครอบครัวที่อยู่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว อย่างไรก็ตามการขายธุรกิจอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่รู้สึกว่าอาจกำลังตัดเส้นทางอนาคตของลูกไป ดังนั้นจึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการทำความเข้าใจพลวัตของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนให้มากด้วย

 

อย่างไรก็ตามการขายธุรกิจของเจ้าของธุรกิจครอบครัวจำนวนมากเป็นแรงผลักดันให้เกิดผลดีมหาศาล เนื่องจากบางครอบครัวได้บริจาคเงินจำนวนมากเพื่อการกุศลหรือจัดตั้งกองทุนเพื่อการกุศล ขณะที่หลายครอบครัวได้ใช้ผลกำไรที่ได้เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินอีกด้วย

 

ที่มา: Sanderson, N. 2021. Selling your business: the impact on your family. Available:

 

https://www.cazenovecapital.com/uk/wealth-management/insights/talking-points/selling-your-business-the-impact-on-your-family/

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,766 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2565